เส้นทางชีวิตเมื่อเราเจออุปสรรคจากคน สัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากคนในลักษณะมีอคติต่อเรา แล้วคิดผูกโกรธ อาฆาตมาดร้ายจนถึงขั้นมากลั่นแกล้ง ใส่ร้าย คิดทำลายเราให้สมใจ หรือล่มจ่ม ขอจงเชื่อมั่นในความดี ตั้งสติ ตั้งหลักใจให้ดี หาทางออกอย่างมีสติและปัญญา ต่อการรุกรานทำร้ายของคนพาลใจบาป ดั่งพุทธวจนะในธรรมบทที่ว่า
พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี
พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์
เชื่อมั่นสุดท้าย เราจะเป็นผู้ชนะ เพราะผู้ทำกรรมดีย่อมชนะผู้ทำกรรมชั่วในที่สุด จากเรื่องราวต่อไปนี้เราจะได้เห็นตัวอย่างบุคคลที่มีหัวใจยิ่งใหญ่ ให้อภัยแม้กับโจรใจบาปที่ประทุษร้ายท่านถึงเพียงนี้ ไปติดตามกันค่ะ
ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า สุมงคล เป็นผู้มีความเคารพเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งนัก เศรษฐีได้สร้างพระคันธกุฎี(กุฏิ)ถวายพระพุทธองค์ และคอยไปเฝ้าอุปัฏฐากดูแลอยู่ทุกเช้า
เช้าวันหนึ่ง เศรษฐีออกเดินทางไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเคย เมื่อมาถึงประตูเมือง เศรษฐีได้เห็นชายผู้หนึ่งนอนคลุมโปงอยู่นอกประตูเมือง เท้าเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนเศรษฐีรู้สึกสงสารจึงกล่าวกับคนรับใช้ที่ติดตามมาว่า
"ชายผู้นี้ คงเที่ยวดึก กลับเข้าเมืองไม่ทัน จึงต้องมานอนลำบากอย่างนี้"
แต่ชายผู้นั้นเป็นโจรใจพาล เมื่อได้ยินถ้อยคำของเศรษฐี ก็รู้สึกโกรธ หาว่าเศรษฐีมายุ่งเรื่องของตน จึงคิดหาทางแก้แค้น แต่เมื่อไม่สามารถทำร้ายเศรษฐีโดยตรงได้ โจรจึงลอบทำลายทรัพย์สิน ด้วยการเผานาของเศรษฐีถึง 7 ครั้ง ตัดเท้าวัวอีก 7 หน
แต่เศรษฐีก็ไม่โกรธ ทั้งไม่ติดใจตามหาตัวคนร้ายอีกด้วย โจรร้ายยิ่งแค้นใจ หาโอกาสเผาบ้านของเศรษฐีอีกถึง 7 ครั้ง แต่เศรษฐีก็ยังไม่โกรธอยู่ดี (โอ้!จิตใจทำด้วยอะไรเนี่ย) ผิดกับโจรผู้เต็มไปด้วยโทสะ เฝ้าคิดร้ายต่อผู้อื่น เมื่อเศรษฐีไม่โกรธไม่สนใจ ตนเองกลับยิ่งทุรณทุรายด้วยความแค้น
เมื่อสืบทราบว่า เศรษฐีมีความเคารพรักในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงกับสร้างกุฏิถวาย โจรใจพาลจึงคิดทีเด็ด วางแผนการทำลายกุฏินั้น เพื่อให้เศรษฐีเจ็บช้ำน้ำใจ ครั้นเมื่อถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าออกไปบิณฑบาต โจรร้ายก็ลอบไปจุดไฟเผากุฏิจนวอดวาย จากนั้นจึงมายืนรวมกับฝูงชนเพื่อรอดูอาการเจ็บช้ำใจของเศรษฐี ฝ่ายเศรษฐี เมื่อทราบข่าวร้ายเรื่องไฟไหม้กุฏิ ก็รีบรุดมายังที่เกิดเหตุทันที แต่กุฏิมอดไหม้จนเหลือแต่ซากเสียแล้ว
ท่ามกลางความสลดหดหู่ของชาวเมืองนั่นเอง เศรษฐีกลับตบมือด้วยความดีอกดีใจ ทำเอาผู้ไม่รู้เข้าใจว่า เศรษฐีเสียใจจนเสียสติไปแล้ว แต่เศรษฐีประกาศกับชาวเมืองทั้งหลายว่า
"โชคดีจริงๆ เราจะได้บุญใหญ่อีกแล้ว คราวนี้เราจะสร้างพระคันธกุฎีใหม่ให้ดียิ่งกว่าเดิมอีก"
โจรได้ยินเช่นนั้น เมื่อทีเด็ด ถูกเศรษฐีเด็ดทิ้งอย่างง่ายดาย ก็แค้นใจอย่างหนัก เฝ้าคิดหาทางที่จะกำจัดเศรษฐีให้ได้ เมื่อเศรษฐีสร้างกุฏิหลังใหม่เสร็จ ก็จัดงานฉลอง โจรได้ช่องทางจึงเหน็บมีดปลายแหลมไว้ หวังจะลอบสังหารเศรษฐี แล้วแทรกตัวปะปนมากับฝูงชน
ฝ่ายเศรษฐี ปลื้มปีติใจในผลแห่งทานนี้มาก ประกาศกับฝูงชนว่า
"ท่านทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าได้บุญใหญ่ในวันนี้ ก็เพราะมีคนได้เผาพระคันธกุฎีหลังเก่าไป ถ้าหากไม่มีเขา ข้าพเจ้าก็คงไม่ได้บุญใหญ่เช่นนี้อีก ข้าพเจ้าจึงขอแบ่งส่วนบุญนี้ให้เขาเป็นคนแรก"
โจรร้ายได้เห็นน้ำใจของเศรษฐี ก็ละอาย เสียใจในความผิดของตน จึงเข้ามาคุกเข่ากราบขอขมาท่านเศรษฐี เศรษฐีก็ให้อภัย การฉลองก็ดำเนินต่อไป ต่อมาโจรขอฝากตัวเป็นลูกน้องเศรษฐี แต่เศรษฐีปฏิเสธ บอกว่า แค่พูดนิดเดียวโจรโกรธขนาดนี้แล้ว ต่อไปถ้าเป็นลูกน้อง ตนจะไปตำหนิอะไรโจรได้ เจ้าจงไปตามทางของเจ้าเถิด
ผลแห่งกรรมชั่วนั้น ทำให้โจรได้รับความทุกข์ในอเวจีนรกอยู่เป็นเวลานาน ในกาลบัดนี้ ได้มาเกิดเป็นอชครเปรต (เปรตงูเหลือม) ร่างกายใหญ่ยาวประมาณ 25 โยชน์ มีเปลวไฟลุกไหม้ทั้งสามด้าน คือตั้งแต่ศีรษะลามจนถึงหาง ตั้งแต่หางลามไปถึงศีรษะ และตั้งแต่ข้างลำตัวลามไปที่กลางตัว
ขอบคุณข้อมูลเนื้อหาและภาพจาก
- http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=46988
- https://goo.gl/JnTdVP
- https://goo.gl/nLrqQF
|
ที่มา: https://goo.gl/Qc3GVA |
ที่มา https://www.dailynews.co.th/article/583630 |
|
> เมื่อได้อ่านมุมมองเรื่องวัตถุประสงค์การเข้ามาบวชเป็นภิกษุจากบทความนี้แล้วยังไม่เห็นด้วยเสียทุกประเด็นกับผู้เขียน (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.dailynews.co.th/article/583630)
เพราะแท้จริงแล้วควรต้องแยกพิจารณาเป็นประเด็นตามข้อเท็จจริง กล่าวคือในเรื่องวัตถุประสงค์ในการบวช ประการหนึ่ง กับเมื่อบวชแล้วภิกษุจะศึกษาพระธรรมและปฏิบัติขัดเกลาตัวเองตามธรรมวินัยได้เต็มที่มากน้อยขนาดไหน? ควรแยกแยะพิจารณา
> อย่างไรขอยืนยันว่า ประโยชน์จากการบวชมีอยู่แล้ว แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้บวช แต่ "การมองว่าวัตถุประสงค์ก่อนบวชเหล่านี้
จะก่อให้เกิดบาปต่อตัวผู้บวช
หรือก่อผลเสียให้พระศาสนานั้น
ดูจะรุนแรงไป เป็นการตัดสินคนตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำอะไรเลย?"
> ถ้าเปรียบ เด็กจากที่ไมรู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงต้องเข้าโรงเรียนเพื่อไปฝึกฝน เรียนรู้จากคุณครู มีสิ่งแวดล้อมจากเพื่อนๆ ที่เอื้อให้เราได้มีกำลังใจที่จะศึกษาเรียนรู้ เด็กนักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสติปัญญา แรงจูงใจ เรื่องพ่อแม่ครอบครัว เศรษฐกิจ แต่สุดท้ายเมื่อเข้าได้เข้าเรียน อย่างน้อยที่สุดเขาก็ย่อมได้ประโยชน์ คืออ่าน ออก เขียนได้ มีความรู้ติดแข้งติดขาไม่มากก็น้อย เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่อไป
> เมื่อมองภาพรวมของพระพุทธศาสนาตอนนี้ คือมีคนเข้ามาบวชน้อยลงมาก จำนวนพระเณรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย จำนวนพระสงฆ์ ๒๙๐,๐๑๕ รูป สามเณร ๕๘,๔๑๘ รูป รวม ๓๔๘,๔๓๓ รูป (ที่มา: สํานักงานเจ้าคณะจังหวัด , สํานักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557)
> แม้ว่าเมื่อจำแนกเฉพาะพระอย่างเดียว ตัวเลขเมื่อปี ๒๕๔๙ เมืองไทยยังมีพระถึง ๒๕๐,๔๓๗ รูปมากกว่าเมื่อปี ๒๕๐๗ ซึ่งมีภิกษุเพียง ๑๕๒,๕๑๐ รูป แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นภาพลวงตาเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในจำนวนกว่า ๒ แสน ๕ หมื่นรูปนี้รวมทั้งพระที่บวชระยะสั้นคือ ๗ วันถึง ๑ เดือนด้วย มีข้อมูลการวิจัยระบุว่า ในช่วงปี ๒๕๔๕-๒๕๔๗ พระเณรที่บวชตั้งแต่ ๗ วันถึง ๑ เดือนในกรุงเทพมหานครและราชบุรีมีเกือบร้อยละ ๗๐ ของผู้บวชทั้งหมด หากคนในจังหวัดอื่น ๆ มีระยะเวลาการบวชในทำนองเดียวกับคนในสองจังหวัดดังกล่าว ก็หมายความว่า ในเมืองไทยปัจจุบันมีพระที่บวชเกินกว่า ๑ เดือนขึ้นไปประมาณ ๘๐,๐๐๐ รูปเท่านั้น หรือเท่ากับ ๑ รูปเศษ ๆ ต่อ ๑ หมู่บ้าน และหากคัดพระที่บวชตั้งแต่ ๑- ๓ เดือนออกไป จะเหลือพระที่ยืนพื้นน้อยกว่านี้มาก อาจไม่ถึง ๑ รูป ต่อ ๑ หมู่บ้านด้วยซ้ำ (ที่มา: http://www.visalo.org/article/matichon255107.htm)
ดังนั้น การแก้ปัญหาภาพรวมของพระพุทธศาสนาตอนนี้ คือทำอย่างไรจะทำให้มีชายแมนๆ เข้ามาบวชเพิ่มมากขึ้นๆๆ จะมาบวชวัตถุประสงค์ใด ศรัทธาอาจยังไม่มาก แต่ขอให้มาบวชเสียก่อน ศรัทธาเป็นเรื่องที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ ตอนแรกที่มาบวชอาจจะไม่เต็มใจนัก อาจบวชด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น แม่อยากให้บวช ด้วยความกตัญญูจึงตัดสินใจมาบวช หรือบวชตามประเพณี บวชแก้บน บวชก่อนแต่งงาน บวชเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิต เป็นต้น
|
ที่มา https://www.dailynews.co.th/article/583630 |
> ที่ถูกต้องที่สุด ต่อสถานการณ์พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันนี้ คือ ต้องให้ชายแมนๆ มาบวชมากๆๆๆ
ยิ่งได้บวช ๑ เดือน ๑ พรรษา เหมือนชายไทยสมัยก่อนยิ่งประเสริฐ อย่างไรก็ตาม มีการบวชก็ยังดีกว่าไม่มีการบวช
เปรียบ มีเงินในกระเป๋า ๑,๐๐๐ ล้านบาท มีเพียงวันเดียว (บวชเช้าสึกเย็น) ก็ยังดีกว่าไม่เคยมีเงิน 1,000 ล้านบาท มีเงิน ๑,๐๐๐ ล้านบาท ๑ เดือน (บวช ๑ เดือน) ก็ดีเพิ่มมากขึ้น มีเงิน ๑,๐๐๐ ล้านบาท ๓ เดือน (บวช ๑ พรรษา ๓ เดือน) ก็ยิ่งสุขกาย สบายใจ
ยิ่งถ้าอยู่รับกฐิน แล้วออกเดินธุดงค์แสวงหาหนทางพ้นทุกข์ โอ้... แสนจะวิเศษ
> เป็นการเปรียบเทียบที่เล็กน้อยมาก ประดุจนำฝุ่นในเล็บมือ ไปเทียบกับฝุ่นในจักรวาล เพราะถ้ากุลบุตรได้บวช มีคุณค่าและมูลค่ามากกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท
เพราะเป็นโอกาสให้กุลบุตรเหล่านั้นได้มีโอกาสสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์ พบความสุขที่แท้จริง มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน
- ประเด็นอยู่ที่บวชแล้วต้องเรียน ท่านเรียก "บวชเรียน" จะเป็นคันถธุระ วิปัสสนาธุระ หรือทั้งสองอย่าง ตามความชอบใจ ไม่ใช่ไม่ให้มาบวช
มีศรัทธามาก่อนก็บวชได้
ไม่มีศรัทธามาก่อน ก็บวชได้เช่นกัน
ไม่ใช่เลือกบวชเฉพาะผู้มีศรัทธา
องคุลีมารมหาโจร ไม่มีศรัทธาในพระศาสนามาก่อน บวชแล้วก็ทำพระนิพพานให้แจ้งได้ เป็นต้น
> การนำ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ที่กุลบุตรผู้ออกบวชมีจะสามารถนำมาใช้ได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นกับพระอุปัชฌาย์ คณะพระอาจารย์ ที่จะคอยเป็นกัลยาณมิตรให้ หลายท่านก็ได้เบิกมาใช้ คือ ได้ประสบการณ์ภายในจากการปฏิบัติธรรม ที่ตนเองได้วางทุกอย่าง ทิ้งทุกสิ่งออกบวช (แม้ช่วงสั้น) การปฏิบัติธรรม ขึ้นกับการวางใจได้ถูกส่วน ไม่ได้ขึ้นกับระยะเวลาในการบวช
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้เวลาหนึ่งคืน นั่งสมาธิจนสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า)
> ดังตัวอย่าง ที่นาคได้บรรลุธรรมเบื้องต้น ขณะอยู่ในโบสถ์ หลายท่านบวชแล้ว แม้ช่วงสั้น ก็ได้ศึกษาพระปริยัติ มีนวโกวาท สำหรับพระบวชใหม่ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น หลายท่านตั้งใจบวชวันเดียว แต่เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา บวชต่อกระทั่งได้เป็นมหาเปรียญ ก็มีให้เห็น บางท่านตั้งใจบวชไม่ถึงเดือน ลางานมาบวช แต่บวชแล้วเกิดกุศลศรัทธาในครูบาอาจารย์ บวชอยู่ถึงปัจจุบัน เป็นมหาเถระแล้วก็มี
|
ที่มา: https://goo.gl/s6HoZn |
> แม้ในสมัยพุทธกาล กุลบุตรที่เข้ามาบวชก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ดังเช่น พระสาวกในครั้งพุทธกาลรูปหนึ่ง ชื่อว่า พระรัฏฐปาละ ท่านเป็นลูกเศรษฐี แต่ก็ได้สละทรัพยสมบัติออกบวชปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง วันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นนั้น พระนามว่าพระเจ้าโกรัพยะ ได้ถามท่านว่า ท่านบวชทำไม? เพราะคนโดยมากนั้น บวชกันเพราะเหตุว่า มีความเสื่อมเพราะชราบ้าง มีความเสื่อมเพราะความป่วยไข้บ้าง มีความเสื่อมเพราะทรัพยสมบัติบ้าง มีความเสื่อมญาติบ้าง แต่ว่าท่านรัฏฐปาละเป็นผู้ที่ยังไม่มีความเสื่อมใดๆ ดังกล่าวนั้น ไฉนท่านจึงออกบวช ท่านก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัส ธัมมุเทส ไว้ ๔ ข้อ คือ
- โลกอันชราย่อมนำเข้าไป ไม่ยั่งยืน
- โลกไม่มีอะไรต้านทานจากความเจ็บป่วย ไม่เป็นใหญ่
- โลกไม่ใช่ของ ๆ ตน เพราะทุก ๆ คนจำต้องละสิ่งทั้งปวงไป ด้วยอำนาจของความตาย และ
- โลกพร่องอยู่ ไม่มีอิ่ม เป็นทาสของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก
ท่านได้ปรารภธัมมุเทส คือการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ ประการนี้ จึงได้ออกบวช
> แต่ว่าการบวชนั้น ก็มิได้มีผู้มุ่งผลอย่างสูงดังกล่าวนี้เสมอไป ดังในมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ได้ถาม พระนาคเสน ว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชคืออะไร ? พระนาคเสนท่านก็ตอบว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชนั้น คือพระนิพพาน คือความดับ เพราะไม่ยึดมั่นอะไรๆ ทั้งหมด แต่คนก็มิใช่บวชเพื่อประโยชน์นี้ทั้งหมด บางคนบวชเพราะหลีกหนีราชภัยบ้าง หนีโจรภัยบ้าง ปฏิบัติตามพระราชประสงค์หรือความประสงค์ของผู้มีอำนาจบ้าง ต้องการจะพ้นหนี้สินบ้าง ต้องการความเป็นใหญ่บ้าง ต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายบ้าง เพราะกลัวภัยต่าง ๆ บ้าง
> พระนาคเสนตอบพระเจ้ามิลินท์ ดังนี้
อย่างที่ ๑ เรียกว่า บวชได้กิ่งใบของพรหมจรรย์ คือบวชแล้วก็มุ่งแต่จะได้ลาภ ได้สักการะ ได้สรรเสริญ เมื่อได้ก็พอใจเพียงเท่านั้น
อย่างที่ ๒ เรียกว่า บวชได้กะเทาะเปลือกของพรหมจรรย์ คือก็ไม่ได้มุ่งจะได้ลาภสักการะและสรรเสริญทีเดียว แต่ก็ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงว่า จะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เท่านั้น
อย่างที่ ๓ เรียกว่า บวชได้เปลือกของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้แล้ว ก็ปฏิบัติในสมาธิให้บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงสมาธิเท่านั้น
อย่างที่ ๔ เรียกว่า บวชได้กระพี้ของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ให้บริบูรณ์แล้ว ก็ปฏิบัติต่อไปจนเกิดญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็นธรรมะขึ้นด้วย และก็พอใจเพียงที่รู้ที่เห็นเท่านั้น
อย่างที่ ๕ เรียกว่า บวชได้แก่นของพรหมจรรย์ คือว่าได้ปฏิบัติสืบขึ้นไปจนได้วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์บางส่วนหรือสิ้นเชิง ตามสามารถของการปฏิบัติ
อย่างที่ ๕ นี้ จึงจะชื่อว่าได้บรรลุแก่นของการบวช หรือว่าบวชได้แก่นของพรหมจรรย์
สรุป ต้องให้ผู้ชายแมนๆ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามากๆ ไม่ว่าเดิมจะมีศรัทธาหรือยังไม่มีศรัทธา
(ยังไม่มีศรัทธา บวชแล้ว ก็ช่วยกันให้ท่านมีศรัทธา เหมือนเดิมเราก็อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ต่อมาก็อ่านออก เขียนได้) ไม่ใช่รอให้พร้อม รอให้ศรัทธาก่อนถึงมาบวช ความพร้อมไม่มีในโลก ถ้าจะรอพร้อม ให้มีศรัทธา อาจตายก่อน!!!!!
|
ที่มา: https://goo.gl/s6HoZn |
ลักษณะและวิธีการบวช นับเป็น "กระบวนการคัดกรอง" ผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
การบวชในระยะแรกๆ นั้น พระองค์จะเป็นผู้ประทานการอุปสมบทให้สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระธรรมคำสอนเผยแผ่ออกไปไกล มีผู้จิตศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้นและมาขอบวชเป็นจำนวนมากซึ่งพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นถึงความยุ่งยากที่เกิดขึ้น จึงทรงอนุญาตให้เหล่าพระสงฆ์สาวกเป็นผู้ทำการอุปสมบทให้ได้โดยตรง ทรงมอบหน้าที่การอุปสมบทให้เหล่าพระสงฆ์เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งมีการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ เช่น อายุครบหรือไม่ มีโรคประจำตัวร้ายแรงหรือไม่ มีหนี้สินติดตัวหรือไม่ มารดาบิดาอนุญาตหรือไม่ เป็นต้น
ความจริงการบวชนั้นใน "สามัญญผลสูตร" พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตรัสสอนว่า แรงจูงใจในการบวช ของกุลบุตร เกิดจาก
๑. มีศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. มีปัญญาตรองเห็นโทษภัยในชีวิตฆราวาสว่า ทั้งคับแคบ และเป็นที่มาของกิเลส
๓. มีปัญญาตรองเห็นคุณของชีวิตนักบวชว่า มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ได้เต็มที่
ซึ่ง แรงจูงใจในการบวชดังกล่าว จะส่งผลให้มีเป้าหมายการบวช ดังนี้
|
ที่มา: https://goo.gl/s6HoZn |
> บวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
ผู้บวช ได้กล่าวปฏิญาณตน ได้ปฏิญาณกันต่อหน้าพระประธาน ต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ และต่อหน้าคณะสงฆ์ทั้ง ๒๐ รูป ว่า
“สัพพะทุกขะ นิสสะระณะ , นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ อิมัง กาสาวัง คะเหตวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต ”
แปลว่า “ ข้าแต่พระอุปัชฌาย์ผู้เจริญ ขอท่านจงรับเอาผ้ากาสวะแล้วบวชให้ข้าพเจ้าด้วยเถิดเพื่อข้าพเจ้าจะได้ประพฤติปฏิบัติกำจัดทุกข์ทั้งปวงให้สิ้นไป และกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ”
ถือว่าเป็นการคัดกรองแล้วในระดับหนึ่ง
> ในการอุปสมบท ภิกษุจะถามอันตรายิกธรรมกับผู้มุ่งจะบวช เมื่อทราบว่าไม่มีอันตรายิกธรรมดังกล่าว จึงจะอุปสมบทได้
ชายผู้จะบวชเป็นพระภิกษุต้องปราศจากอันตรายิกธรรม ๑๓ ข้อ ได้แก่
(๑)โรคเรื้อน (๒) ฝี (๓) โรคกลาก (๔)โรคมองคร่อ (๕) ลมบ้าหมู (๖)ไม่ใช่มนุษย์ (๗)ไม่ใช่ชาย
(๘) ไม่เป็นไท (๙) หนี้สิน (๑๐) เป็นราชภัฏ
(๑๑) มารดาบิดาไม่อนุญาต (๑๒) มีปีไม่ครบ ๒๐
(๑๓) บาตรจีวรไม่ครบ
เป็นการคัดกรอง อีกขั้นตอนหนึ่ง
|
ที่มา: https://goo.gl/s6HoZn |
> ช่วงที่พระคู่สวด คือ พระกรรมวาจาจารย์ และ พระอนุสาวนาจารย์ สวดญัตติ ทั้ง ๓ รอบ
วิธีการอุปสมบทที่พระสงฆ์จะต้องร่วมกันให้การอุปสมบทด้วยวิธีสวดกรรมนั้น ๔ จบ คือ
ครั้งแรกสวดญัตติ คือ ประกาศกรรมนั้นให้สงฆ์ทราบเพื่อร่วมกันทำกิจนั้น (หรือคำเผดียงสงฆ์) ๑ จบ
ส่วนครั้งที่สองก็สวดอนุสาวนา (ขอมติ) อีก ๓ จบ คือสวดประกาศขอปรึกษาหารือและข้อตกลงกับสงฆ์ในที่ ประชุมนั้น (ว่าจะรับผู้นั้นเข้าเป็นพระภิกษุหรือไม่) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คำขอมติสงฆ์
บุคคลที่จะบวชได้คณะสงฆ์ทุกรูปจะต้องยอมรับ คือนิ่งเงียบไม่ทักท้วง ตลอดการสวดญัตติ และอนุสาวนา ๓ ครั้ง จึงจะถูกต้องเป็นการบวชโดยที่ประชุมสงฆ์ยอมรับ
ก็เป็นการคัดกรองอีกขั้นตอนหนึ่ง
> พอจบพิธีการบวช
พระอุปัชฌาย์ ท่านจะให้อนุศาสน์ กล่าวคือ บอกสอนกันเลย ตั้งแต่ยังไม่ได้ออกจากโบสถ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อปฏิบัติ และ ข้อห้าม ของพระภิกษุ ซึ่งเป็นการสอนเรื่องพระธรรมวินัยและเป็นข้อปฏิบัติตนในการดำรงตนเป็นพระภิกษุ
พระอุปัชฌาย์จะต้องบอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง คือนิสสัย ๔ และอกรณียกิจ ๔
ซึ่ง นิสสัย ๔ หรือปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยที่จำเป็นสำหรับผู้บวช คือ
(๑) บิณฑบาตเป็นวัตร คือกิจที่จะต้องบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์และแสวงหาอาหาร
(๒) นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ปัจจุบันคือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลจีวรโดยปริมณฑล คือ เรียบร้อย
(๓) อยู่โคนต้นไม้ คือ เป็นผู้ออกจากเรือนไม่มีเรือนอยู่ จึงอยู่ป่าอาศัยโคนต้นไม้
(๔) ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คือเป็นผู้สละเรือนแม้เจ็บไข้อาพาธต้องใช้สมุนไพรเป็นยา หรือหมักดองสมุนไพรเพื่อรักษาตนเอง
ส่วนอกรณียกิจ ๔ หรือ กิจที่พระภิกษุสงฆ์ไม่พึงกระทำ คือ
(๑) ปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์ หรือทำชีวิตของสัตว์อื่นให้ลำบากหรือล่วงไป
(๒) ลักทรัพย์ คือ การลักขโมย หรือถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
(๓) การเสพเมถุนธรรม
(๔) การอวดอุตริมนุษย์ธรรม คือ อวดคุณวิเศษอันไม่มีในตน
✨✨แค่จบพิธีกรรม การบวช ก็ถือว่า พระอุปัชฌาย์ ได้ทำตามพระธรรมวินัย แล้วจะกล่าวหาว่า บวชระยะสั้น บวชตามประเพณี ฯลฯ เป็นการบวชแบบไม่มีการศึกษาพระธรรมวินัยไม่ได้
การบวชนั้น เมื่อจบพิธีกรรมสงฆ์แล้ว ก็ถือว่า เป็นพระภิกษุที่สมบูรณ์ เหมือนพระภิกษุรูปอื่นๆ แต่จากนี้ไปใครจะไปศึกษากับพระอาจารย์รูปใด ก็ตามศรัทธา เพื่อศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา ผลที่จะได้รับจากการบวชก็ตามแต่ว่า ใครประพฤติปฏิบัติอย่างไร?
@ เข้มงวด กวดขัน ตนเองแค่ไหน?
@ มีความเพียร อย่างถูกหลักวิชชา อย่างสม่ำเสมอ?
|
ที่มา: https://goo.gl/s6HoZn |
พระภิกษุเมื่อก้าวเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ เหมือนก้าวลงมาในสระน้ำใหญ่ ใครชำระล้างสิ่งสกปรกในกาย วาจา ใจ ของตนเองได้มากแค่ไหน ก็จะสะอาดมากเท่านั้น แต่ใครที่เข้ามาในสระ (พระธรรมวินัย) แล้วไม่หมั่นทำความสะอาดตน ก็สะอาดไปตามยถากรรม
การบวชนั้น ก่อนบวช ก็ศรัทธา ระดับหนึ่ง แต่พอเข้ามาทำกิจสงฆ์ เข้าหมู่สงฆ์ ความศรัทธาจะเพิ่มขึ้น จากการหล่อหลอม ด้วยกิจวัตร และกิจกรรมของสงฆ์ สงฆ์จะคัดกรอง โดยอัติโนมัติ คือศีล และ ทิฏฐิ
ดังนั้น ผู้ชายทุกคน ต้องบวช ถ้าไม่บวช ก็เสียชาติเกิดมาเป็นผู้ชาย ถ้าบวชแล้ว ไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ก็ไม่บรรลุเป้าหมายของการบวช แต่ก็ยังเป็นอุปนิสัยข้ามชาติในการฝึกฝนตนเอง ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
- https://th.wikipedia.org/wiki/ (https://goo.gl/Z5ZJW7)
- https://goo.gl/3DeX72
- https://www.dailynews.co.th/article/583630
- http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=608&articlegroup_id=121
- https://www.m-society.go.th/ewt_news.php?nid=13651
|
ที่มา: https://goo.gl/WtE6TD |
ถาม: ทำไมพุทธศาสนิกชนต้องถูกลัทธิอื่นมาปราบปราม และเหยียดหยามทำลายศาสนาพุทธของเรา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำไมไม่จัดการเอง (หมายถึงทำลายเอง ไม่ต้องถูกเหยียดหยาม)
ตอบ: ที่ว่าพระพุทธศาสนิกชนมักถูกคนลัทธิอื่นมาปราบปราม และเหยียดหยามทำลายอยู่เสมอนั้นคงเป็นเพราะว่า พุทธศาสนิกชนได้รับการอบรมมาอย่างเดียวแล้วว่า อย่าได้เบียดเบียนกัน แต่ต้องช่วยเหลือกันตามมีตามกำลัง สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุไม่ให้จองเวรกัน ให้อยู่กันด้วยสันติสุข มีความรักใคร่ปรองดองกัน มีเมตตาจิตหวังดีต่อกัน บางคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นคำสอนที่ทำให้คนอ่อนแอ ทำให้คนขาดสมรรถภาพ ทำให้ประเทศชาติล่มจม
ถ้ามองอย่างผิวเผินก็อาจเป็นเช่นนั้น เพราะผู้มีคุณธรรมเหมือนเป็นคนอ่อนแอ แต่ถ้ามองให้ลึกแล้ว คุณธรรมเหล่านั้นสร้างคนให้เข้มแข็ง สร้างพลังให้คนทีเดียว พลังที่ว่านี้เป็นพลังภายใน พลังภายในนั้นต้องเป็นพลังที่เกิดจากความอ่อนละมุนด้วยคุณธรรม และจะสามารถเอาชนะศัตรูด้วยพลังนั้นได้ไม่ยากนัก
ตามปัญหานั้น ถ้าเราจะมองดูตามประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าที่พระพุทธศาสนาอยู่ในประเทศนั้นๆ ไม่ได้ โดยแม้ที่สุดแม้ในประเทศอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดพระพุทธศาสนาก็ตาม เป็นเพราะคนในประเทศนั้นๆ ยังมีคุณธรรมอันเป็นเพลังเหล่านี้กันอยู่หรือ ไมมีเลย พุทธบริษัทในประเทศนั้นๆ ต่างแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ต่างทำลายกันเองจนอ่อนแอ ข้าศึกศัตรูแทบจะไม่ต้องออกกำลังเลยก็เอาชนะได้โดยง่าย
คราวนี้มาดูในเมืองเราบ้าง เรานับถือศาสนาพุทธกันมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยและนับถือเรื่อยมา จนถึงบัดนี้ก็เกือบพันปีแล้ว เราก็ยังนับถือกันดีอยู่ แม้จะมีบางครั้งเกิดศึกสงคราม หรือมีคนต่างศาสนา ต่างลัทธิมาเผยแพร่ก็ทำสำเร็จไม่กี่เปอร์เซ็นต์นัก คนไทยเรายังมั่นคงในศาสนาเดิมของตน ใครจะยุยงให้เราแตกกัน ให้ทะเลาะกัน เราก็เป็นไปตามนั้นบ้างตามคำยุหรือด้วยความหลงผิด แต่ต่อมาเราก็สำนึกได้แล้วรวมตัวกันเหมือนเดิม ชาติไทยเราและศาสนาพุทธเราจึงดำรงมาได้จนถึงทุกวันนี้
นี่เป็นเพราะเรามีคุณธรรมที่บางคนเห็นว่าคนสอนให้คนอ่อนแอมิใช่หรือ
|
ที่มา: https://goo.gl/WtE6TD |
!!! ข้อสำคัญชาวพุทธเราอย่าเหยียดหยามอย่าทำลายศาสนาพุทธเองเสียเท่านั้น ถ้าเราทำลายกันเสียเองแล้ว ศาสนาพุทธจะอยู่ไม่ได้ เหมือนสนิมเหล็กนั่นไง มันเกิดจากเหล็กแล้วก็กัดเหล็กที่ตนเกิดนั่นแหละจนกร่อนไปไม่ใช่สนิมจากเหล็กอันอื่นเลย ศาสนาก็เช่นกัน ชาวพุทธเรานี่แหละจะทำลายเสียเอง คนลัทธิอื่นศาสนาอื่นทำลายไม่ได้หรอก
ที่ทำลายมาสำเร็จก็เพราะคนพุทธส่วนใหญ่เลิกนับถือพุทธหรือกลายเป็นด้ามให้เขามาทำลายพุทธนั่นเอง
|
ที่มา: https://goo.gl/aCwbhP |
ที่คุณถามว่าทำไมองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่จัดการทำลายผู้ทำลายศาสนาเสียเองนั้น ข้อนี้ตอบได้ง่ายมาก
คือพระพุทธองค์ทรงสอนไว้เองทีเดียวว่าไม่ให้เบียดเบียนกัน มิให้ทำลายกัน ทำไมพระองค์จะทรงทำลายเสียเองเล่า เป็นไปไม่ได้
ถ้าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ อาจทรงตอบปัญหาของคุณว่า “อาตมาก็เป็นนักทำลายเหมือนกัน แต่ทำลายกิเลส นำความไม่ดีออกไปจากใจ และช่วยให้ชาวบ้านทำลายกิเลสของตนๆ ด้วยนะ” อะไรทำนองนี้แน่
ในสมัยพระพุทธเจ้าเองก็ยังมีผู้ทำลายพุทธศาสนา ยังเหยียดหยามพระองค์เหมือนกัน แต่พระองค์ก็ทรงใช้กุศโลบายทำลายความคิดเห็นผิดๆ ของบุคคลนั้นเสียได้ โดยใช้ธรรมาวุธ คือพระมหากรุณาธิคุณและพระปัญญาคุณของพระองค์ ทำให้ผู้นั้นกันเข้าหาธรรมเป็นที่พึ่งได้
|
ที่มา: https://goo.gl/aCwbhP |
ในฐานะที่เราเป็นพุทธบุตร ทำไมเราไม่ลองนำธรรมาวุธต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าประทานไว้มาใช้ทำให้คนทำลายศาสนา เหยียดหยามศาสนากันมานับถือศาสนากันบ้างเล่า
ขอบคุณข้อมูล
- หนังสือไขข้อข้องใจ ๒, (จากวารสารมงคลสาร: พฤษาคม, ๒๕๑๙). พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.หน้า ๓๐ – ๓๓.
เรียนรู้เรื่องศาสนา จากปัญหาข้องใจ(ตอนที่5):
ถาม: อายุของศาสนาพุทธมีกี่ปี เริ่มต้นเมื่อไร สิ้นสุดเมื่อไร?
ตอบ: เรื่องอายุของพระพุทธศาสนานี้เป็นเรื่องที่คนโบราณเชื่อถือกันมานานแล้วว่าศาสนาพุทธจะมีอายุได้ ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น โดยนับเริ่มแต่ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน คือเท่ากับ พ.ศ. ๑ ในปีนั้นนั่นเอง ก็แสดงว่า ศาสนาพุทธมีอายุล่วงมาได้แล้ว ๒๕๑๙ ปีแล้ว (ณ ปัจจุบันนี้อายุพระศาสนาล่วงมาแล้ว ๒๕๖๐ ปี )
คราวนี้มาว่ากันตามหลักวิชาบ้าง ผู้ตอบยังไม่พบหลักฐานจากที่ไหนที่บ่งบอกว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสอายุพระพุทธศาสนาไว้เพียง ๕,๐๐๐ ปี เห็นมีแต่ปรากฏในคัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์ ซึ่งพระพุทธโฆษาได้แต่งไว้เมื่อประมาณศตวรรษที่ ๑๐ พระเถระองค์นี้เป็นผู้ฉลาด แต่งคัมภีร์อธิบายความพระพุทธพจน์ไว้มาก จนได้รับยกย่องจากนักปราชญ์ทั่วไปทั้งในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธและนับถือศาสนาอื่น คัมภีร์ที่ท่านแต่งไว้นั้น คณะสงฆ์ไทยได้นำมาเป็นหลักสูตรให้ศึกษาเล่าเรียนกันตั้งแต่ชั้นประโยค ปธ.๓ ถึง ปธ.๙ เลยทีเดียว
ในคัมภีร์ญาโณปกรณ์นั้น มีบทเริ่มต้นว่า
“พระพุทธศาสนาจะครบกำหนด ๕,๐๐๐ ปี ในปีชวด ”
ข้อความเพียงเท่านี้กระมังที่ทำให้คนโบราณถือว่าเป็นอายุพระพุทธศาสนาและบอกเล่ากันต่อๆ มา
ตามความเห็นของผู้ตอบแล้ว เห็นว่าอายุของพระศาสนาอาจมากหรือน้อยกว่านั้นก็ได้ แต่อย่าได้เป็นห่วงอายุพระศาสนาเท่านั้นเลย ห่วงอายุของตัวเองเถิด อย่าให้อายุของตัวเองล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามหลักศาสนาไว้เสมอแล้วศาสนาก็ชื่อว่ายังอยู่ อายุศาสนาจะยังไม่สิ้นไป
|
ที่มา: https://goo.gl/wDVPvS |
ตอนนี้ขออ้างตำราหน่อย คือในตำราท่านว่าไว้ว่าความสูญสิ้นแห่งศาสนานั้นเป็นไปตามลำดับขั้นตอน คือเสื่อมไปตั้งแต่ข้อต้นจนถึงข้อสุดท้าย
ลำดับของความเสื่อมมี ๕ ขั้น คือ
(๑) ปริยัติอันตรธาน ความเสื่อมแห่งการศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย
(๒) ปฏิปัตติอันตรธาน ความเสื่อมแห่งการปฏิบัติธรรม
(๓) ปฏิเวธอันตรธาน ความเสื่อมแห่งการรู้แจ้งธรรม
(๔) ลิงคอันตรธาน ความเสื่อมแห่งเพศ
(๕) ธาตุอันตรธาน ความเสื่อมแห่งพระธาตุ
หมายความว่า อันดับแรกการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเสื่อมสูญไปก่อน หาผู้ศึกษาไม่ได้ เมื่อไม่ศึกษาก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติตามใจชอบ การปฏิบัติธรรมก็เสื่อมสูญ เมื่อไม่ปฏิบัติธรรม การรู้แจ้งแทงตลอดมรรคผลก็ไม่เกิดขึ้น พระเณรก็เป็นเพียงผู้นุ่งเหลืองห่มเหลืองเท่านั้น หนักเข้าๆ ก็ไม่มีผู้ศรัทธาที่จะบวช บวชแล้วก็ไม่มีผู้เลื่อมใสศรัทธาที่จะบำรุงเลี้ยง ความเป็นอยู่ของพระเณรก็ลำบาก
|
ที่มา: https://goo.gl/wDVPvS |
เมื่อลำบากก็อยู่ไม่ได้ พากันสึกหมด ที่บวชใหม่เพิ่มเติมก็ไม่มี ผู้ดำรงเพศเป็นพระก็หมดไป เมื่อพระเณรหมด ก็ไม่มีคนกราบไหว้บูชารักษาพระธาตุ พระธาตุก็ย่อมเสื่อมสูญไปตามธรรมสภาพ เมื่อพระธาตุอันตรธานเสื่อมสูญไป ศาสนาก็ชื่อว่าหมดอายุลงด้วยประการฉะนี้
ใน ๕ ข้อนั้น ข้อแรกเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะมีอันตรธานไปโดยเร็วเสียด้วยซี
ถาม: ใครเป็นผู้รับผิดชอบศาสนาพุทธ (หมายถึงโลกวิญญาณ)
ตอบ: ผู้รับผิดชอบต่อศาสนาพุทธนั้นหาใช่ใครที่ไหนเลย ที่แท้ก็พวกเราชาวพุทธนี่แหละ ชาวพุทธที่เรียกว่า “พุทธบริษัท” ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทุกท่านนี่เองที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนา เป็นศาสนทายาทที่รับมรดกศาสนามาจากบรรพบุรุษแล้ว ต้องช่วยกันประคับประคองไว้ให้ดี ช่วยกันรับผิดและรับชอบที่เกิดขึ้นต่อพระศาสนา คือต้องรับทั้งส่วนที่ผิดและส่วนที่ชอบ ไม่ใช่รับเฉพาะส่วนที่ชอบอย่างเดียว
|
ที่มา: https://goo.gl/wDVPvS |
ส่วนที่ผิด คือความผิดพลาดในการดำเนินการรักษาพระศาสนา ความผิดพลาดในนโยบายการเผยแผ่พระศาสนา กล่าวคือความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ที่กำลังเกิดขึ้น และที่จะพึงเกิดขึ้นในวงการพระศาสนาต้องยอมรับกันว่าเป็นความผิดแล้วช่วยกันหาทางแก้ไขปรับปรุง ไม่โยนกลองกันไปมาหรือหันหลังให้ส่วนที่ผิดนี้ เพราะตราบใดพุทธบริษัทไม่ยอมรับส่วนที่ผิดว่าเป็นผิดก็ย่อมจะแก้ความผิดไม่ได้ เหมือนหมดจะรักษาโรคต้องยอมรับว่านั่นเป็นโรคจริงๆ เสียก่อนจึงจะรักษาให้หายได้ หากไม่ยอมรับว่ามันเป็นโรคแล้ว ยากที่จะรักษาได้ หรือบางทีไม่ยอมรักษาไปเลย
ส่วนการรับชอบนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะส่วนใหญ่ก็ชอบกันอยู่แล้ว
ผู้รับผิดชอบต่อศาสนานั้นคือพุทธบริษัทดังกล่าว คราวนี้พุทธบริษัทที่ว่านั้นอยู่ในวัดก็มี อยู่บ้านก็มี โดยเฉพาะผู้อยู่ในวัดต้องเป็นแกนกลาง เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้นำเป็นผู้เสนอ ผู้อยู่บ้านเป็นผู้ตาม เป็นผู้สนอง
|
ที่มา: https://goo.gl/wDVPvS |
ผู้อยู่วัด ได้แก่ พระเณร ทั้งที่เป็นมหาเถระ พระเถระ อุปัชฌาย์อาจารย์จนถึงพระหนุ่มเณรน้อยทั้งหลาย
ผู้อยู่บ้าน ได้แก่ พ่อบ้าน แม่บ้าน สมาชิกในครอบครัวทั้งหมด รวมทั้งหน่วยงานทางราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อศาสนาโดยตรง เช่น กรมการศาสนา กรมศิลปากร และโดยอ้อม เช่น โรงเรียน เป็นต้น
|
ที่มา: https://goo.gl/wDVPvS |
เมื่อฝ่ายวัดฝ่ายบ้านมาช่วยกันจริงๆ จังๆ แล้ว ศาสนาพุทธก็จะเป็นไปได้อย่างราบรื่น หากต่างก็ช่วยกันไปตามหน้าที่เท่านั้น ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่กระตือรือร้น ไม่มีจิตสำนึกว่าต้องทำเพื่อศาสนาอันเป็นที่รักเป็นที่หวงแหนแล้ว สภาพของศาสนาพุทธก็จะยังคงเป็นอยู่อย่างที่เห็นๆ กันและอาจจะเลวร้ายลงทุกวันๆ กล่าวคือ ผู้คนห่างวัดห่างศาสนากันมากขึ้น ภัยศาสนาเกิดรุกรานกันมากขึ้น ศาสนาหรือลัทธิอื่นย่อมได้โอกาสได้ช่องที่จะเผยแผ่ศาสนาของตนได้รวดเร็วขึ้นด้วยซ้ำ
ถ้าจะว่าให้ชัดรัดกุมลงไปก็คือว่า ขอให้พุทธบริษัทพยายามประพฤติ ปฏิบัติธรรม สั่งสอบอบรมธรรม และทำตัวทำใจให้อยู่ในกรอบของธรรมเท่านั้นเท่ากับว่าได้ช่วยกันรับผิดชอบต่อศาสนาแล้ว เพราะการทำเช่นนั้นเท่ากับว่าได้สร้างพลังในวงการศาสนา หากวงการศาสนามีพลังอย่างว่า และต่างก็ดีด้วยกันทั้งหมดแล้ว ใครจะมาทำอะไรเราได้ เหมือนมือที่ปราศจากแผลจะกอบจะกำยาพิษไปไหนก็ย่อมได้ ยาพิษจะทำยาพิษให้ไม่ได้เลย เพราะเราไม่มีแผลให้ยาพิษแทรกซึมเข้าไป
รวมความแล้วต้องช่วยกัน และช่วยกันจริงๆ ว่างั้นเถอะ
ขอบคุณข้อมูล-
หนังสือไขข้อข้องใจ ๒, (จากวารสารมงคลสาร, พฤษภาคม ๒๕๑๙).
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.หน้า ๒๗ - ๓๐.