คำว่า ความสามัคคี หมายถึง ไฟที่สงบ...หากขาดความสามัคคี ย่อมขาดพลังในการทำสิ่งต่าง ๆ และยิ่งหากปัญหาความขัดแย้งมีมาก ย่อมสามารถลุกลามไปสู่ความรุนแรงได้ในที่สุด

02:44 Mali_Smile1978 1 Comments

        

        กระแสข่าวการเมืองของสังคมไทยช่วงนี้ ใครที่ติดตามข่าวจะมีคำติดหู คำว่า “ปรองดอง”...ปรองดองแล้วดีอย่างไร? หลายคนอาจจะเฉยๆ กับคำนี้ แต่มีประชาชนอีกหลายๆ คนก็อยากจะรู้ผลว่า เมื่อรัฐบาลจัดโครงการลงนามใน เอ็มโอยู (MOU) เพื่อความปรองดองสำเร็จแล้วจะทำให้สังคมในด้านต่างๆ เดินหน้าไปต่อและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ได้จริงหรือไม่? อย่างไร? 

        คำว่า ปรองดอง เป็นหนึ่งในความหมาย ของความสามัคคี

        คำว่า ความสามัคคี มีรากศัพท์มาจากคำบาลีและสันสกฤต คำว่า สมะ คำบาลี หมายถึง ความสงบ ความราบคาบ คำว่า อัคคิ อัคคี คำบาลีและสันสกฤตใช้ อคฺคิ อคฺนิ หมายถึง ไฟ เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันจึงหมายถึง ไฟที่สงบ

        โดยทั่วไป “ความสามัคคี” จึงให้ความหมายถึง การที่ทุกคนมีความพร้อมกาย พร้อมใจ และพร้อมความคิด เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่ทุกคนในสังคมต่างยอมรับว่า เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น หน่วยสังคมขนาดเล็ก ระดับครอบครัว ระดับองค์กร หรือขนาดใหญ่ระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก หากขาดความสามัคคี ย่อมขาดพลังในการทำสิ่งต่าง ๆ และยิ่งหากปัญหาความขัดแย้งมีมาก ย่อมสามารถลุกลามไปสู่ความรุนแรงได้ในที่สุด


ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/u1Hojy

        การที่จะสร้างความปรองดองหรือสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน องค์กร ประเทศนั้น คงต้องมีองค์ประกอบและบริบทปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง จึงทำให้นึกถึงหลักธรรมข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่พูดถึงเหตุที่จะก่อให้เกิดความสามัคคี ซึ่งความสามัคคีจะเกิดมีขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุที่เรียกกันว่า สาราณียธรรม ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน กระทำซึ่งความเคารพระหว่างกัน อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี มีความสุข ความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายทำลายกัน มี 6 ประการ คือ

👍1.ทำต่อกันด้วยเมตตา คือ แสดงไมตรีและความหวังดีต่อเพื่อนร่วมงาน ร่วมกิจการ ร่วมชุมชน ด้วยการช่วยเหลือธุระต่างๆ โดยเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

👍2.พูดต่อกันด้วยเมตตา คือ ช่วยบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอนหรือแนะนำตักเตือนกันด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

👍3.คิดต่อกันด้วยเมตตา คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน



👍4.ได้มาแบ่งกันกินใช้ คือ แบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน

👍5.ประพฤติให้ดีเหมือนเขา คือ มีความประพฤติสุจริต ดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวม ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือทำความเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ

👍6.ปรับความเห็นเข้ากันได้ คือ เคารพรับฟังความคิดเห็นกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ ยึดถืออุดมคติหลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายอันเดียวกัน

        ธรรมทั้ง 6 ประการนี้ เป็นคุณค่าก่อให้เกิดความระลึกถึง ความเคารพนับถือกันและกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพื่อป้องกันความทะเลาะ ความวิวาทแก่งแย่งกัน เพื่อความพร้อมเพรียงร่วมมือ ผนึกกำลังกัน เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

        อานิสงส์ของความสามัคคีนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ความเจริญ เป็นเหตุแห่งความสำเร็จในกิจการงานต่างๆ และความสามัคคีมีคุณค่ามากหลายเกินจะบรรยายทีเดียว


ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/QaKFfb
        ตรงข้าม โทษของการแตกสามัคคีกันนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า หาความสุข ความเจริญไม่ได้ ไม่มีความสำเร็จด้วยประการทั้งปวง เหตุให้แตกความสามัคคีกันนี้ อาจเกิดจากเหตุเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นได้ เหมือนเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว แต่เป็นเหตุให้เกิดสงครามได้เหมือนกัน ดูตัวอย่างเรื่องพวกเจ้าลิจฉวีในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี มีความสามัคคีกัน พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทำอะไรไม่ได้ แต่พอถูกวัสสการพราหมณ์ยุยงให้แตกสามัคคีกันเท่านั้น ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอชาตศัตรู เข้าโจมตีและยึดเมืองเอาไว้ได้ในที่สุด


ขอบคุณข้อมูล:
- 100ข้อคิดดีๆ https://goo.gl/HzAJIu 
- http://www.kriengsak.com/node/2364
- http://news.voicetv.co.th/thailand/453018.html

1 ความคิดเห็น:

  1. เพราะ​คนในบ้านแสวงหา​และสนับสนุน​แต่คนพาล​คนในองค์กร​ การปกครอง​ ขาดความเป็นธรรม​

    ตอบลบ