อานิสงส์การปฏิสันถาร: ชายชาวบ้านต้อนรับขับสู้บุคคลด้วยไมตรีจิตเพียงครั้งเดียว ต่อมาส่งผลให้เขากลายเป็นสหายรักของพระราชาและได้ครองราชสมบัติ
พระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ เป็นรัตนะอันประเสริฐ เลิศกว่ารัตนะใดๆ ในโลก เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคน เป็นตัวตนที่แท้จริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ได้เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัย ย่อมได้ชื่อว่า เข้าถึงความสุขที่สมบูรณ์และมีความปลอดภัยในชีวิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อปริหานิยสูตร ว่า
“บุคคลผู้เคารพในพระบรมศาสดา เคารพในพระธรรม มีความเคารพอย่างแรงกล้าในพระสงฆ์ เคารพในความไม่ประมาท เคารพในปฏิสันถาร ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ย่อมเป็นผู้อยู่ใกล้นิพพาน”
ความเคารพเป็นคุณธรรมที่สำคัญของบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย เมื่อเราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งใด เราจะต้องรู้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้นก่อนฉันใด บุคคลผู้ปรารถนาจะรับสิ่งที่ดีมีคุณค่าจากบุคคลอื่น จำเป็นต้องมีความเคารพต่อบุคคลนั้นฉันนั้น ความเคารพคือความตระหนักซาบซึ้ง รู้ถึงคุณความดีของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขา แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้น ด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนทั้งต่อหน้าและลับหลัง ความเคารพเป็นทางมาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต สิ่งที่ควรเคารพอย่างสูงสุดคือพระรัตนตรัย ซึ่งจะส่งผลให้เราได้สมบัติอันยิ่งใหญ่ คือนิพพานสมบัติได้โดยง่าย แม้ความเคารพในการปฏิสันถารก็มีอานิสงส์มาก ดังเรื่องต่อไปนี้
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระราชาในนครพาราณสี พระองค์ได้เสด็จไปปราบชายแดนที่กำเริบให้สงบ แต่ทรงพ่ายแพ้ในการรบครั้งนั้น จึงทรงม้าเสด็จหนีไปถึงปัจจันตคามหมู่บ้านหนึ่ง พวกชาวบ้านเห็นเข้าก็กลัว พากันวิ่งหนีเข้าบ้านกันหมด เหลือเพียงชายคนหนึ่งต้อนรับพระองค์ด้วยมิตรไมตรีพลางถามว่า “ข้าพเจ้าได้ยินข่าวว่า พระราชาเสด็จไปปัจจันตชนบท ท่านเป็นใคร เป็นราชบุรุษหรือจารบุรุษ” พระราชาตรัสว่า “สหาย เราเป็นราชบุรุษ”
“ถ้าอย่างนั้นท่านจงตามข้าพเจ้ามา” เขาได้พาพระราชาไปบ้านของตน ให้นั่งบนตั่งแล้วพูดกับภรรยาว่า “นางผู้เจริญ เธอจงมาล้างเท้าของสหายเรา” จากนั้นได้เตรียมอาหารตามสมควรแก่กำลังของตน แล้วปูลาดที่นอนให้ พลางพูดว่า “ท่านคงเหน็ดเหนื่อยพักผ่อนก่อนเถิด” ส่วนเจ้าของบ้านได้ไปถอดเกราะของม้าออก ให้มันดื่มนํ้ากินหญ้า แล้วเอาน้ำมันทาหลังให้ เขาปฏิบัติเช่นนี้ต่อพระราชา ๓-๔ วัน พระราชาก็ขอลากลับ ก่อนเสด็จกลับจึงตรัสว่า “สหาย เราชื่อมหาอัสสาโรหะ บ้านของเราอยู่กลางเมือง ถ้าท่านเข้าเมืองเมื่อใด จงแวะมาเยี่ยมเราด้วย โดยไปที่ประตูด้านทิศใต้ถามนายประตูว่า คนชื่อมหาอัสสาโรหะอยู่ไหน ให้เขาพาไปบ้านของเรา” แล้วเสด็จกลับพระราชวัง
ฝ่ายทหารที่ออกตามหาพระราชา เมื่อไม่พบพระราชาจึงตั้งค่ายรออยู่นอกเมือง ครั้นเห็นพระราชาเสด็จมา ต่างพากันต้อนรับพระองค์ด้วยความดีใจ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จเข้าเมือง มีรับสั่งให้นายประตูมาเฝ้าแล้วตรัสว่า “ถ้ามีชาวบ้านปัจจันตคามประสงค์จะมาพบเรา และถามหาคนชื่อมหาอัสสาโรหะ เธอพึงมีไมตรีจิตต่อเขา แล้วรับพามาหาเรา” ครั้นตรัสสั่งแล้วพระองค์ก็เสด็จกลับพระราชวัง
กาลเวลาผ่านไป พระราชาทรงระลึกถึงคุณของบุรุษชนบท ครั้นจะรับสั่งให้เขามาเข้าเฝ้า ก็เกรงเขาจะรู้ว่าเป็นพระราชา จึงให้เพิ่มการเก็บภาษีในหมู่บ้านที่เขาอยู่ เขาก็ยังไม่มาเข้าเฝ้า พระองค์ทรงให้เพิ่มภาษีขึ้นอีก เป็นครั้งที่สอง และครั้งที่สาม เขาก็ยังคงไม่มาเข้าเฝ้า จนกระทั่งคนในหมู่บ้านพากันเดือดร้อน ชาวบ้านจึงประชุมแล้วพูดกับบุรุษนั้นว่า “นับตั้งแต่นายอัสสาโรหะมา พวกเราต่างได้รับความเดือดร้อน ท่านจงไปบอกนายมหาอัสสาโรหะสหายของท่าน ให้ช่วยปลดเปลื้องภาษีของพวกเราด้วยเถิด” เขารับปากว่า “ดีละ ถ้าอย่างนั้นเราจะช่วย แต่ว่าเราไม่อาจไปมือเปล่าได้”
ชาวบ้านจึงจัดเตรียมบรรณาการให้เขาถือไปพร้อมขนมที่ทอดในบ้านของเขาเอง เมื่อเข้าเมืองแล้ว เขาเดินไปทางประตูด้านทิศใต้ ถามนายประตูว่า “บ้านของนายมหาอัสสาโรหะอยู่ไหน” นายประตูจึงพาเขาเข้าวังเพื่อเข้าเฝ้าพระราชาตามรับสั่งของพระองค์
พระราชาทรงสดับก็ดีพระทัย เสด็จลุกขึ้นจากพระอาสน์ตรัสว่า “ให้สหายของเราเข้ามาเถิด” แล้วมีพระราชปฏิสันถารทักทายสหายผู้เป็นที่รักว่า "ภรรยาของสหายและพวกเด็กๆ ของเราสบายดีหรือ" แล้วทรงจับมือพาเข้าไปในท้องพระโรง ให้นั่งบนอาสน์ของพระราชาภายใต้เศวตรฉัตร รับสั่งให้เรียกพระอัครมเหสีมา แล้วตรัสว่า “พระนางผู้เจริญ เธอจงล้างเท้าของสหายของเรา” พระเทวีก็ทรงล้างเท้าแล้วทาด้วยนํ้ามันหอมอย่างบรรจง
พระราชาทรงรู้ว่าสหายไม่มามือเปล่าแน่ จึงตรัสถามว่า “สหาย ของกินสำหรับพวกเรามีบ้างไหม” “มีสิ” เขารีบนำขนมออกมาจากกระเช้า พระราชาจึงตรัสกับเสนาอำมาตย์ทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลายมาร่วมรับประทานขนมที่สหายเรานำมากันเถอะ” แล้วพระราชทานขนมให้พระเทวีและอำมาตย์ทั้งหลาย แม้พระองค์เองก็ร่วมเสวยด้วย ชายหนุ่มได้ถวายเครื่องบรรณาการที่จัดเตรียมมา ซึ่งแม้จะเป็นบรรณาการของคนยาก แต่พระองค์ก็ไม่ทรงดูหมิ่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงของกษัตริย์ เพื่อทรงนุ่งห่มผ้าธรรมดาที่เขานำมาถวาย พร้อมทั้งให้ตีกลองป่าวร้องไปทั่วเมือง เพื่อให้อำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลายมาประชุมกัน แล้วมีราชโองการว่า จะพระราชทานราชสมบัติกึ่งหนึ่งแก่บุรุษผู้เป็นสหายรักของพระองค์
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชาทั้งสองทรงร่วมเสวย ร่วมดื่มด้วยกัน ความคุ้นเคยก่อตัวขึ้นอย่างแน่นแฟ้น ไม่มีผู้ใดทำให้แตกแยกได้ พระราชารับสั่งให้เรียกบุตรและภรรยาของสหายรักมา ทรงให้สร้างนิเวศน์ภายในพระนคร พระราชาทั้งสองต่างสมัครสมานครองราชสมบัติ สร้างความไม่พอใจให้เหล่าอำมาตย์มาก อำมาตย์ทั้งหลายจึงขอให้พระราชกุมารหาโอกาสทูลถาม พระเจ้าพาราณสีตรัสตอบว่า
“ลูกเอ๋ย ครั้งหนึ่งพ่อได้พ่ายแพ้ในการรบในปัจจันตคาม ครั้งนั้นพ่อหายไป ๓-๔ วัน และได้หลบหนีอยู่ในบ้านของสหายผู้นี้ เขาช่วยเหลือพ่อทุกอย่างจนกระทั่งปลอดภัย เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อจึงแบ่งราชสมบัติแก่เขา เพราะเขาคือผู้มีอุปการคุณต่อพ่อ อย่าว่าแต่ราชสมบัติเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเลย แม้ชีวิตพ่อก็ให้ได้”
พระโพธิสัตว์ตรัสสอนต่อไปว่า “บุคคลใดให้แก่ผู้ไม่ควรให้ ไม่ให้แก่บุคคลผู้ควรให้ บุคคลนั้นเมื่อถึงคราวมีอันตราย ก็จะไม่ได้อุปการะจากใครเลย ส่วนผู้ใดให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรให้ ไม่เพิ่มในคนที่ควรให้ ผู้นั้นถึงจะได้รับทุกข์ในคราวมีอันตราย ก็ไม่ได้สหายช่วยเหลือ แต่ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ให้ทานเพิ่มในคนที่ควรให้ ผู้นั้นถึงจะได้รับทุกข์ในคราวมีอันตราย ย่อมได้มิตรแท้ช่วยเหลือ ความสนิทสนมกันฉันท์มิตรในชนทั้งหลายผู้ไม่มีอารยธรรม เป็นคนมักโอ้อวด ย่อมไร้ผล ส่วนความสนิทสนมกันฉันท์มิตรในอารยชนผู้ซื่อตรงคงที่ แม้เล็กน้อยก็ย่อมมีผลมาก”
ผู้ใดได้ทำความดีงามไว้ก่อน ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำกิจที่ทำได้แสนยากในโลก ภายหลังเขาจะทำหรือไม่ทำก็ตาม ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง พืชที่หว่านลงในนาดีย่อมเจริญงอกงามไพบูลย์ เหมือนความดีที่ทำไว้กับผู้มีความกตัญญู มีศีล มีความประพฤติเยี่ยงอารยชน ย่อมได้รับการตอบแทนด้วยความดีเช่นกัน
ผู้ที่มีความเคารพ คือ ตระหนักถึงคุณธรรมความดีของผู้อื่น ทั้งเคารพในการต้อนรับปฏิสันถารด้วย ย่อมเป็นทางมาแห่งโชคลาภ จะทำให้ได้สมบัติมากมาย อย่างน้อยย่อมได้เพื่อนแท้เพิ่มขึ้น ดังนั้นอย่าดูเบาในเรื่องการปฏิสันถาร เราต้องต้อนรับแขกที่มาเยือนให้ดี โดยเฉพาะเมื่อเราเปิดบ้านกัลยาณมิตรแล้ว เราต้องหมั่นดูแลต้อนรับผู้มีบุญทั้งหลายด้วยดวงหน้าที่สดใส จิตใจที่เบิกบาน ต้อนรับด้วยมิตรไมตรี ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมที่บ้านเราจะได้รู้สึกสบายใจมีความสุข และการต้อนรับที่สำคัญก็คือ ต้อนรับทุกๆ คนเพื่อให้มาเข้าถึงพระรัตนตรัย ให้พระรัตนตรัยได้เข้ามาอยู่ในจิตใจของชาวโลกทุกๆ คน
แม้ตัวเราก็ต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่ต้อนรับพระรัตนตรัยในตัวด้วย เชื้อเชิญให้ท่านอยู่ที่ศูนย์กลางกายของเรานานๆ จนกระทั่งท่านอยู่กับเราตลอดเวลา อย่างนี้จึงจะเป็นการปฏิสันถารที่วิเศษ ที่เลิศกว่าการปฏิสันถารใดๆในโลก และให้หมั่นรักษาอารมณ์ รักษาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ และในที่สุดเราจะได้สมบัติอันยิ่งใหญ่ คือนิพพานสมบัติกันทุกๆ คน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาและภาพจาก
- https://goo.gl/D3wVXE buddha.dmc.tv มก. เล่ม ๕๘ หน้า ๓๘๓.
0 ความคิดเห็น: