อคติ ๔ นับได้ว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับทุกคน

04:13 Mali_Smile1978 3 Comments

     บางเหตุการณ์เราคิดว่าทำไปด้วยปรารถนาดี จริงใจ แต่ลึกๆ มีอคติเพราะความหลง ความโง่ จึงทำให้สร้างความเสียหาย เดือดร้อน แตกแยกต่อคนอื่นและหมู่คณะองค์กรและสังคมในวงกว้าง...วันนี้เรามาทำความกระจ่างกับลักษณะของอคติเพราะโง่ เพื่อจะได้นำมาสะท้อนพิจารณาตัวเองว่าเข้าข่ายนั้นหรือไม่ อย่างไร



     "...อคตินี้ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ทำให้คนเราทำความผิดหรือผิดพลาดได้ง่าย เพราะว่าอคตินี้ เป็นการไปไม่ถูก ตามศัพท์ก็เป็นที่ไปที่ไม่ถูก หมายความว่า เวลาเราเจออะไร ฟังอะไร ไปตามเหตุการณ์นั้นทันที โดยไม่พิจารณา ถ้าหากว่าพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่ามันเป็นทางที่ควรไป หรือไม่ควรไป
     คำว่า "ไป" นี้ ก็ไม่ใช่ว่าเดินไป แต่หมายถึง เดินขบวนการความคิดไปในทางที่ไม่ถูก 
     ปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดอคติ มี ๔ อย่าง คือ ๑. ความรักใคร่ชอบพอ (ฉันทาคติ) ๒. ความโกรธ เกลียดชัง (โทสาคติ) ๓. ความหลง เขลา เบาปัญญา (โมหาคติ) ๔. ความเกรงกลัว ขลาด (ภยาคติ) อคติจึงเป็นสาเหตุหลักของความผิดพลาดในกระบวนการคิด และตัดสินใจของมนุษย์ทุกคน
คนที่มีจิตใจเป็นอคติ ก็เพราะมีจิตที่เป็นบาปอกุศลครอบงำ จึงทำให้เกิดการมองคนอื่นในแง่ร้ายด้วยอิจฉาและความเห็นผิด และยังได้เผยแพร่ความเชื่อนี้ออกไปให้คนอื่นๆ เชื่อ จนคนอื่นๆ หลงเชื่อตามจึงเกิดความกลัว ความเดือดร้อนใจจึงตามมาให้ผล ตัวเองเดือดร้อนยังไม่พอ ยังไปทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนไปด้วย ทำให้คนที่หลงเชื่อมีจิตเป็นพาล ขาดการพิจารณาทำตาม ๆกันไป ดังภาษิตบทหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

พาลชน คนผู้ไร้การพิจารณา ย่อมไม่อาจหยั่งเห็นโดยถ่องแท้ 
ย่อมระเริงหลงในสิ่งอันอาจให้โทษ” 

อคติ ๔ นับได้ว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ปกครองคนอื่น คนที่เป็นหัวหน้างาน หัวหน้าครอบครัว ไม่ควรมีอคติทั้ง ๔ ประการนี้อยู่ในจิตใจ มิฉะนั้นผู้ใต้ปกครองจะขาดความเชื่อมั่น ไม่มีความสุข ไม่มีความรู้สึกมั่นคงและอบอุ่น รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความแตกแยกและความไม่สำเร็จ ไม่เจริญก้าวหน้าของการงานทั้งปวง

     โดยเฉพาะอคติเพราะความหลง ความโง่ นับว่าอันตรายที่สุด  
ความลำเอียงเพราะความหลงผิดหรือความโง่ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ …เพราะความสะเพร่า  ความไม่ละเอียดถี่ถ้วน มองโลกมองคนในแง่ร้าย …ก็ตัดสินใจโดยไม่พิจารณาให้ดี ปิดใจ ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งความหลง ความโง่ ก็รวมอยู่ใน “อวิชชา” ซึ่งตรงข้ามกับวิชชา (คือ การรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง รู้ว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ เหตุและหนทางแห่งความดับทุกข์ เป็นต้นอย่างเช่น วิชชา ๓ วิชชา ๘ ในพระพุทธศาสนา) ดังนั้น ความไม่รู้กับความรู้ ช่างตรงข้ามกันทุกเรื่อง จึงนึกถึงนิทานชาดกสอนใจ 



เรื่องลิงโง่เฝ้าสวน เรื่องมีอยู่ว่า
     ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภคนประทุษร้ายอุทยาน ในหมู่บ้านโกศลตำบลหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสีมีงานเทศกาลประจำปี ชาวเมืองต่างก็สนุกสนานรื่นเริง ในพระราชอุทยานมีลิงอาศัยอยู่ฝูงหนึ่ง คนเฝ้าสวนหลวงอยากจะไปเที่ยวงานประจำปีกับเขาด้วย จึงเข้าไปหาฝูงลิงแล้วพูดกับลิงหัวหน้าฝูงว่า 
      " เจ้าลิง สวนหลวงนี้ มีอุปการะคุณแก่พวกเจ้ามาก พวกเจ้าได้ขบเคี้ยวดอก ผลและใบอ่อนของต้นไม้ในสวนหลวงนี้ บัดนี้ ในเมืองมีงานเทศกาลประจำปี เราอยากจะไปเที่ยวบ้าง เราอยากจะวานให้พวกเจ้าช่วยรดน้ำต้นไม้ ที่กำลังปลูกใหม่ในสวนนี้ แทนเราจะได้ไหม ? "

ลิงรับว่าได้ คนเฝ้าสวนหลวงก่อนจะเข้าไปเที่ยวในเมือง กำชับว่า 
      " พวกท่านอย่าประมาทนะ " แล้วมอบอุปกรณ์ตักน้ำให้แก่พวกลิง
ลิงตัวหัวหน้าฝูง ได้กล่าวกะพวกลิงผู้ถือเอาอุปกรณ์ตักน้ำเตรียมพร้อมที่จะรดน้ำต้นไม้ว่า

     " ท่านทั้งหลาย ธรรมดาน้ำเป็นของหายาก พวกท่านเมื่อจะรดน้ำต้นไม้ พึงรดตามความต้องการของต้นไม้ ด้วยการถอนต้นไม้ขึ้นมาดู ต้นไหนรากยาวก็จงรดน้ำให้มากๆ ต้นไหนรากสั้นก็จงรดน้ำให้แต่น้อย "
พวกลิงรับคำแล้วก็ทำตามนั้น สร้างความเสียหายแก้ต้นไม้เป็นจำนวนมาก
     ในขณะนั้น ได้มีชายบัณฑิตคนหนึ่งเดินผ่านมาเห็นเข้า จึงถามความนั้นแก่ฝูงลิง พวกลิงจึงบอกว่าหัวหน้าให้ทำเช่นนั้น เขาจึงคิดว่า 
      "โอ! เจ้าลิงโง่ ช่างไม่ฉลาดเสียเลย คิดจะทำประโยชน์ แต่กลับทำความฉิบหายเสียนี่ "
แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
     "ผู้ไม่ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถึงจะบำเพ็ญประโยชน์ ก็ไม่สามารถจะนำความสุขมาได้เลย คนมีปัญญาทรามทำประโยชน์ให้เสียหายเหมือนลิงเฝ้าสวน " 
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนโง่มักทำความฉิบหายให้ มากกว่าประโยชน์

     ตราบใดที่สงครามระหว่างความดีกับกิเลส (พระ/มาร)ยังไม่จบ / ยังไม่ยุติ เมื่อนั้นความยุติธรรมก็คงไม่บังเกิดขึ้นในโลกใบนี้ อย่างแน่นอน แต่ความจริงของโลกและชีวิต ก็มีอยู่ เป็นอยู่ คือ 
ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
ใครทำเช่นไร ตนย่อมได้รับผลเช่นนั้น

     การวิพากษ์ วิจารณ์ บุคคลอื่นซึ่งเราเองก็ไม่ได้ไปรู้เรื่องราวต่างๆ นั้นด้วยตนเอง ถามตัวเองก่อน เรารู้เรื่องนั้นจริงหรือ???...ส่วนมากล้วนฟังต่อๆ กันมา ทำให้ข้อมูลนั้นผิดเพี้ยนไป
     ถ้าเราได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความจริงแล้วนำไปวิพากย์ วิจารณ์ต่อ ส่งต่อ หรือขยายเรื่องนั้นต่อด้วยวิธีการใดก็ตาม อาจจะเป็นเพียงการกดส่งต่อเพียงครั้งเดียว แต่เรื่องราวนั้นได้แพร่ไปทั่วโลกโซเชียลแล้ว 
     ผลเสียหรือสิ่งไม่ดีนั้น ย่อมมีผลต่อ (ผู้เห็นผิด) นั้น อย่างไม่ต้องสงสัย...เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) นั่นเอง ที่ปิดบังความจริงที่ถูกต้อง (คิด/พูด/ทำ)
     ดังนั้น ก่อนจะไปวิพากษ์วิจารณ์ใคร หรือส่งต่อข้อความที่สุ่มเสี่ยงสร้างความเสียหายให้คนอื่นให้มีหลักในการตัดสิน / ตัดใจ จะได้ไม่พลาดพลั้งกระทำความผิดไป
ผิดแล้วจะแก้ไขไม่ทัน
หากความผิดนั้นไปล่วงเกินผู้บริสุทธิ์ ผู้มีศีล
เราก็ย่อมได้รับผลกรรมมาก
การทำให้คนอื่นเดือดร้อนเป็นบาปอกุศล 
มีผลเป็นทุกข์ทั้งชาตินี้และชาติหน้า
     ทางที่ดี และทางที่แนะนำก็คือ ปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนามีสติรู้ตัวปล่อยวางอารมณ์ยินดี ยินร้ายเรื่องราวต่างๆ ที่มากระทบ โปรดมีสติระลึกไว้ว่า “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...”  เมื่อสามารถทำตนให้เป็นผู้มีสติแล้ว ก็เท่ากับว่าเรากำลังเริ่มต้นการเดินขบวนการความคิดไปในทางที่ถูก หรือพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังนี้

หลักตัดสินในการการคิด / การพูด / การทำ
     ว่าเรื่องนั้นเป็น บุญ / บาปถูก / ผิด, ดี /ชั่วใส / หมอง, ปลื้ม / ไม่ปลื้ม, ควร / ไม่ควรบัณฑิตสรรเสริญ / บัณฑิตติเตียน, พื่อความปรารถนาดี/ เพื่อความประสงค์ร้ายนรก / สวรรค์  เป็นต้น
      เมื่อมีหลัก ตัดสิน ได้ดี ได้ครบ ได้สมบูรณ์ ก็สามารถ "ตัดใจ" ที่จะคิด / พูด / ทำในสิ่งนั้นๆ ได้ 
ให้ใช้จิตวิญญาณของ "ความเป็นพุทธะ" ภายในกลางตัวเรา 
ชี้นำทางสว่างในการคิด พูดและทำเถิด ประเสริฐนัก 

     ขอจบด้วยคติธรรมคำกลอนของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้กล่าวไว้ว่า
ใครจะดี...ใครจะชั่ว...ก็ตัวเขา...ใจของเรา...เพียรระวัง...ตั้งถนอม...อย่าให้บาป...อกุศล...วนมาตอม...ควรถึงพร้อม...บุญกุศล...ผลสบาย.


ขอบคุณข้อมูลเนื้อหาและภาพ
- https://www.facebook.com/Luangphoudom/posts/518162108231030
- https://www.facebook.com/RakangdhamDhammakaya/posts/190629124471601
- http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt117.php
- http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9570000113423
- https://goo.gl/K88i52


3 ความคิดเห็น:

  1. พุทธศาสนิกชนควรอ่านและฝึกตนตามที่ท่านบรรยายไว้ เพื่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาตลอดไป อย่าตกเป็นเหยื่อคนพาลและอย่าเป็นคนพาลซะเอง

    ตอบลบ
  2. คนเราถ้ามีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง ไม่อคติ จะเป็นคนที่น่ารัก น่าเคารพ น่าเข้าใกล้ น่าชื่นชมครับ

    ตอบลบ