บุคคลผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ โดนโจรใจบาปทำร้ายด้วยการเผานา 7 ครั้ง ตัดเท้าวัว 7 หน เผาบ้านถึง 7 ครั้งแต่ไม่โกรธตอบ และได้ให้อภัยอย่างไร้เงื่อนไข

02:34 Mali_Smile1978 2 Comments

   เส้นทางชีวิตเมื่อเราเจออุปสรรคจากคน สัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากคนในลักษณะมีอคติต่อเรา แล้วคิดผูกโกรธ อาฆาตมาดร้ายจนถึงขั้นมากลั่นแกล้ง ใส่ร้าย คิดทำลายเราให้สมใจ หรือล่มจ่ม ขอจงเชื่อมั่นในความดี ตั้งสติ ตั้งหลักใจให้ดี หาทางออกอย่างมีสติและปัญญา ต่อการรุกรานทำร้ายของคนพาลใจบาป ดั่งพุทธวจนะในธรรมบทที่ว่า
พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี
พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์

   เชื่อมั่นสุดท้าย เราจะเป็นผู้ชนะ เพราะผู้ทำกรรมดีย่อมชนะผู้ทำกรรมชั่วในที่สุด จากเรื่องราวต่อไปนี้เราจะได้เห็นตัวอย่างบุคคลที่มีหัวใจยิ่งใหญ่ ให้อภัยแม้กับโจรใจบาปที่ประทุษร้ายท่านถึงเพียงนี้ ไปติดตามกันค่ะ
   ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า สุมงคล เป็นผู้มีความเคารพเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งนัก เศรษฐีได้สร้างพระคันธกุฎี(กุฏิ)ถวายพระพุทธองค์ และคอยไปเฝ้าอุปัฏฐากดูแลอยู่ทุกเช้า 

   เช้าวันหนึ่ง เศรษฐีออกเดินทางไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเคย เมื่อมาถึงประตูเมือง เศรษฐีได้เห็นชายผู้หนึ่งนอนคลุมโปงอยู่นอกประตูเมือง เท้าเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนเศรษฐีรู้สึกสงสารจึงกล่าวกับคนรับใช้ที่ติดตามมาว่า

"ชายผู้นี้ คงเที่ยวดึก กลับเข้าเมืองไม่ทัน จึงต้องมานอนลำบากอย่างนี้"

   แต่ชายผู้นั้นเป็นโจรใจพาล เมื่อได้ยินถ้อยคำของเศรษฐี ก็รู้สึกโกรธ หาว่าเศรษฐีมายุ่งเรื่องของตน จึงคิดหาทางแก้แค้น แต่เมื่อไม่สามารถทำร้ายเศรษฐีโดยตรงได้ โจรจึงลอบทำลายทรัพย์สิน ด้วยการเผานาของเศรษฐีถึง 7 ครั้ง ตัดเท้าวัวอีก 7 หน




   แต่เศรษฐีก็ไม่โกรธ ทั้งไม่ติดใจตามหาตัวคนร้ายอีกด้วย โจรร้ายยิ่งแค้นใจ หาโอกาสเผาบ้านของเศรษฐีอีกถึง 7 ครั้ง แต่เศรษฐีก็ยังไม่โกรธอยู่ดี (โอ้!จิตใจทำด้วยอะไรเนี่ย) ผิดกับโจรผู้เต็มไปด้วยโทสะ เฝ้าคิดร้ายต่อผู้อื่น เมื่อเศรษฐีไม่โกรธไม่สนใจ ตนเองกลับยิ่งทุรณทุรายด้วยความแค้น
   เมื่อสืบทราบว่า เศรษฐีมีความเคารพรักในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงกับสร้างกุฏิถวาย โจรใจพาลจึงคิดทีเด็ด วางแผนการทำลายกุฏินั้น เพื่อให้เศรษฐีเจ็บช้ำน้ำใจ ครั้นเมื่อถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าออกไปบิณฑบาต โจรร้ายก็ลอบไปจุดไฟเผากุฏิจนวอดวาย จากนั้นจึงมายืนรวมกับฝูงชนเพื่อรอดูอาการเจ็บช้ำใจของเศรษฐี ฝ่ายเศรษฐี เมื่อทราบข่าวร้ายเรื่องไฟไหม้กุฏิ ก็รีบรุดมายังที่เกิดเหตุทันที แต่กุฏิมอดไหม้จนเหลือแต่ซากเสียแล้ว
   ท่ามกลางความสลดหดหู่ของชาวเมืองนั่นเอง เศรษฐีกลับตบมือด้วยความดีอกดีใจ ทำเอาผู้ไม่รู้เข้าใจว่า เศรษฐีเสียใจจนเสียสติไปแล้ว แต่เศรษฐีประกาศกับชาวเมืองทั้งหลายว่า

"โชคดีจริงๆ เราจะได้บุญใหญ่อีกแล้ว คราวนี้เราจะสร้างพระคันธกุฎีใหม่ให้ดียิ่งกว่าเดิมอีก" 



   โจรได้ยินเช่นนั้น เมื่อทีเด็ด ถูกเศรษฐีเด็ดทิ้งอย่างง่ายดาย ก็แค้นใจอย่างหนัก เฝ้าคิดหาทางที่จะกำจัดเศรษฐีให้ได้ เมื่อเศรษฐีสร้างกุฏิหลังใหม่เสร็จ ก็จัดงานฉลอง โจรได้ช่องทางจึงเหน็บมีดปลายแหลมไว้ หวังจะลอบสังหารเศรษฐี แล้วแทรกตัวปะปนมากับฝูงชน
   ฝ่ายเศรษฐี ปลื้มปีติใจในผลแห่งทานนี้มาก ประกาศกับฝูงชนว่า
"ท่านทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าได้บุญใหญ่ในวันนี้ ก็เพราะมีคนได้เผาพระคันธกุฎีหลังเก่าไป ถ้าหากไม่มีเขา ข้าพเจ้าก็คงไม่ได้บุญใหญ่เช่นนี้อีก ข้าพเจ้าจึงขอแบ่งส่วนบุญนี้ให้เขาเป็นคนแรก"

   โจรร้ายได้เห็นน้ำใจของเศรษฐี ก็ละอาย เสียใจในความผิดของตน จึงเข้ามาคุกเข่ากราบขอขมาท่านเศรษฐี เศรษฐีก็ให้อภัย การฉลองก็ดำเนินต่อไป ต่อมาโจรขอฝากตัวเป็นลูกน้องเศรษฐี แต่เศรษฐีปฏิเสธ บอกว่า แค่พูดนิดเดียวโจรโกรธขนาดนี้แล้ว ต่อไปถ้าเป็นลูกน้อง ตนจะไปตำหนิอะไรโจรได้ เจ้าจงไปตามทางของเจ้าเถิด

   ผลแห่งกรรมชั่วนั้น ทำให้โจรได้รับความทุกข์ในอเวจีนรกอยู่เป็นเวลานาน ในกาลบัดนี้ ได้มาเกิดเป็นอชครเปรต (เปรตงูเหลือม) ร่างกายใหญ่ยาวประมาณ 25 โยชน์ มีเปลวไฟลุกไหม้ทั้งสามด้าน คือตั้งแต่ศีรษะลามจนถึงหาง ตั้งแต่หางลามไปถึงศีรษะ และตั้งแต่ข้างลำตัวลามไปที่กลางตัว


ขอบคุณข้อมูลเนื้อหาและภาพจาก
- http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=46988

- https://goo.gl/JnTdVP
https://goo.gl/nLrqQF


2 ความคิดเห็น:

ตัวกรองคำพูด ๕ ชั้นตามหลักวาจาสุภาษิต “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวมีภัย”

01:10 Mali_Smile1978 5 Comments



   ตั้งใจมาหลายวันอยากจะเขียนเรื่องเตือนใจตนเองและคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับใครหลายๆ คนที่ได้เข้ามาอ่าน เราเคยลองสังเกตแล้วตั้งคำถามไหมว่า ในชีวิตประจำวัน เราใช้อวัยวะหรือทักษะไหนมากที่สุด ระหว่างการคิด การฟัง การอ่าน การพูดหรือการเขียน?

   ระหว่างคิดทบทวน มีเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ฟัง...เคยสงสัยไหม?ว่า อวัยวะในร่างกายของคนเรานี้ก็แปลก 

ตา มีหน้าที่ ดู อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ ตา 
ส่วน หู มีหน้าที่ ฟัง อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ หู
แต่ ปาก นี่ซิ มีหน้าที่ถึง ๒ อย่าง คือทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้ มาเพียงปากเดียว 
   แสดงว่า ธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่พูดให้น้อยๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปาก จะกินก็กินให้พอเหมาะ จะพูดก็พูดให้พอดี ท่านผู้อ่านเห็นด้วยไหมค่ะ

   มาถึงตรงนี้หลายคนคงได้คำตอบสำหรับตัวเองแล้วว่าแต่ละวันทักษะหรืออวัยวะไหนได้ใช้มากสุด แต่ประเด็นสำคัญที่จะนำมาฝากวันนี้ คือเรื่องของ “คำพูด” เพราะถึงแม้เป็นเพียงลมที่พ่น หรือพุ่งออกมาจากปาก แต่นับว่ามาอานุภาพมากยิ่งนัก จะช่วยสร้างสรรค์หรือทำลาย คนพูดจะดูน่าคบหาหรือน่ารังเกียจ ชีวิตจะเจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จหรือถอยหลัง ตกต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับคำพูดจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง

   “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวมีภัย” การพูด แม้จะเป็นรองความคิด แต่นำคุณนำโทษมาสู่ตัวเองและผู้อื่นได้มากกว่า ดังนั้น จึงนำความรู้เรื่องตัวกรองคำพูด ตามลักษณะวาจาสุภาษิต มาให้ทบทวนกันค่ะ


ตัวกรองคำพูด ๕ ชั้นตามหลักวาจาสุภาษิต

   วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้วด้วยใจที่ผ่องใส มิใช่สักแต่พูด

องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

   ตัวกรองชั้นที่ ๑.ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง

   ตัวกรองชั้นที่ ๒.ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะ ที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ

   ตัวกรองชั้นที่ ๓.พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด


   ตัวกรองชั้นที่ ๔.พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธมีความริษยาก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้ ถ้วยคำที่กล่าวด้วยจิตขุนมัว แม้เพียงประโยคเดียวอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่างไม่อาจประมาณได้

   ตัวกรองชั้นที่ ๕.พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานหรือจับผิดกันไป

   - พูดถูกเวลา(กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

   - พูดถูกสถานที่(เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อม เช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร
   เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้


“คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย

คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด”


   ขอปิดท้ายด้วย บทสักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน สอนเกี่ยวกับคำพูดของมนุษย์ ประพันธ์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ

สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน  
ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม

กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม 
อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม

แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม 
ดังดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม

ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์  
ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงและภาพจาก 
-http://www.kalyanamitra.org/th/mngkhlchiwit38_detail.php?page=99
-สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน ประพันธ์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ
-ภาพ https://goo.gl/3NH22i

5 ความคิดเห็น:

พระจักขุบาล ผู้ตั้งใจมั่นว่าจะไม่นอนเป็นเวลา ๓ เดือนในพรรษา เมื่อพบเจออุปสรรคก็ไม่ละทิ้งสัจจะ แม้ตาทั้งสองจะแตกแต่จะไม่ยอมทำลายความตั้งใจ

02:08 Mali_Smile1978 3 Comments

   

   ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของการ "เข้าพรรษา" ในส่วนพระภิกษุท่านก็มีธรรมวินัยว่าต้องอยู่จำพรรษา เป็นโอกาสได้ศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมได้เต็มทีี่ ส่วนโยมเองบางท่านก็ตั้งใจทำความดีตามกำลังสติปัญญาและศรัทธาตนเองจะทำได้ เช่น งดเหล้า งดบุหรี่เข้าพรรษา ตั้งใจตักบาตรหรือทำทานให้ได้ทุกวัน ตั้งใจรักษาศีล ๕ ตลอดสามเดือน เป็นต้น 
   แต่การที่จะรักษาความสม่ำเสมอทำให้ได้ทุกวันมิให้ขาดแม้เพียงวันเดียวตามที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ จึงมิใช่เรื่องง่าย ย่อมเจออุปสรรคที่ต้องให้แต่ะละคนก้าวข้ามไปให้ได้ ช่วงที่ต้องก้าวข้ามอุปสรรคนี่เองจะเป็นทางมาแห่งบุญบารมีที่เพิ่มขึ้นของเรา 


   วันนี้จึงนำเรื่องราวของพระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาลที่ท่านตั้งสัจจะปรารภความเพียรปฏิบัติสมาธิกรรมฐานให้เข้าถึงสรณะภายในเพื่อกำจัดกิเลสและพ้นทุกข์ ท่านปฏิบัติตามสัจจะอย่างยิ่งยวด โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่เข้ามาขวางกั้น อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จนในที่สุดท่านก็สามารถ บรรลุอรหัตตผล ในที่สุด

เรื่อง "พระจักขุบาล"
   พระศาสดาตรัสพระพุทธพจน์นี้ที่วัดเชตวันวิหาร เพราะปรารภเรื่องพระจักขุบาลมีเรื่องโดยย่อว่า ในเมืองสาวัตถี มีพี่น้องสองคน เป็นบุตรคนมั่งคั่ง คนพี่ชื่อ "มหาบาล" คนน้องชื่อ "จุลบาล" วันหนึ่งมหาบาลผู้พี่ได้ติดตามคนทั้งหลายไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา วันนั้นพระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยอันงามของมหาบาลแล้วทรงหลั่งพระธรรมเทศนามุ่งมหาบาลเป็นสำคัญ ทรงเทศนาอนุปุพพิกถา ๕ คือ
๑. ทานกถา ว่าด้วยการให้ทาน
๒. สีลกถา ว่าด้วยการรักษาศีล
๓. สัคคกถา ว่าด้วยความสุขในสวรรค์
๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยโทษและความต่ำทรามของกาม
๕. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากกาม


   เมื่อจบเทศนา มหาบาลได้ความรู้ ความแจ่มแจ้งในธรรม เห็นว่าบุตรธิดา และทรัพย์สมบัติเป็นของไม่ยั่งยืน คลุกเคล้าไปด้วยทุกข์และโทษ แม้สรีระของตนเองก็ติดตามไปไม่ได้ ต้องถอดทิ้งไว้ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น ไม่มีประโยชน์ในการอยู่ครองเรือน ควรบวชอย่างพระศาสดา 

   เขาเข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช พระศาสดาตรัสถามว่ามีใครที่เขาจะต้องบอกลาบ้าง เขาทูลว่ามีน้องชายอยู่คนหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัส ให้ไปบอกลาน้องชายเสียก่อน จุลบาลน้องชายไม่เห็นด้วยในการบวชของพี่ชาย มีความเห็นว่า ยังอยู่ในวัยอันควรบริโภคกาม อันเป็นรสอร่อยอย่างหนึ่งของโลก ถ้าจะบวช ก็ค่อยบวชเมื่อแก่

   แต่มหาบาลผู้พี่ กลับมีความเห็นว่า "บวชเมื่อแก่ แล้วจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ดี ได้อย่างไร มือเท้าและอินทรีย์ต่างๆ ไม่อำนวย กำลังวังชาถดถอย สมณกิจเป็นภาระหนักเหมาะแก่คนมีกำลังวังชาดี จะทำให้บริบูรณ์ได้ ดูพระบรมศาสดานั่นเถิด ทรงสละราชสมบัติออกผนวชตั้งแต่พระชมอายุเพียง ๒๙ พรรษา ยังหนุ่มแน่นเหมือนกัน" น้องชายจะห้ามเท่าไร มหาบาลก็หาฟังไม่ เมื่อบวชแล้วได้อยู่กับอาจารย์จนครบ ๕ พรรษา ได้นิสัยมุตตกะ คือพอปกครองตนเองได้แล้ว ปรารถนาจะออกไปอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทำกิจของบรรพชิตให้สิ้น จึงเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามถึง ความหมายของ ธุระในศาสนา ๒ ประการ คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ

   คันถธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยตามสมควรแก่ปัญญาของตน แล้วบอกกล่าวกันต่อๆไป ส่วน วิปัสสนาธุระ นั้นคือ การพิจารณาสังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา จนสามารถบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด พระศาสดาตรัสบอกกรรมฐาน ให้ตั้งแต่ต้นจนเพียงพอ ที่จะบรรลุอรหัตตผลได้ เสมือนมารดาให้เสบียงแก่บุตรเพียงพอแก่การข้ามทางกันดาร

   พระมหาบาลทูลลาพระศาสดา แล้วเที่ยวหาเพื่อนภิกษุที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกันเพื่อไปสู่เสนาสนะป่า ได้เพื่อนร่วมเดินทาง ๖๐ รูป เดินทางไปห่างเชตวันวิหาร ๑๒๐ โยชน์ ถึงปลายแดนหมู่บ้านใหญ่ตำบลหนึ่ง ตอนเช้าเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านได้เห็นอาการอันน่าเลื่อมใสของพระทั้งหลาย จึงช่วยกันสร้างที่อยู่อาศัย ให้เรียบร้อย พระก็เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในหมู่บ้านทุกเช้า ในหมู่บ้านนั้นมีหมอใจบุญคนหนึ่ง ได้ปวารณาตัวว่า หากมีพระรูปใดเจ็บไข้ได้ป่วยขอให้บอก เขาจะรักษาให้โดยไม่คิดค่ายา ค่ารักษาแต่ประการใด

   เมื่อวันเข้าพรรษามาถึง พระมหาบาลระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ไม่ทรงโปรดปรานผู้ประมาท เพราะความประมาท ประตูแห่งอบาย ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จึงตั้งใจจะอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน และนั่ง เว้นอิริยาบถนอน และพระมหาบาลก็ได้ทำตามนั้น หนึ่งเดือนผ่านไป โรคตาก็เกิดขึ้น น้ำตาไหลออก จากตาทั้งสองของท่านอยู่ตลอดเวลา ภิกษุทั้งหลายทราบเข้าก็ร้อนใจ ไปตามหมอซึ่งปวารณาเอาไว้ หมอได้รีบประกอบยาถวายท่าน แต่ท่านไม่ยอมนอนหยอด คงนั่งหยอดยา อาการจึงไม่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ยาที่หมอประกอบให้นั้น เป็นยาดีมาก ที่เคยรักษาคนไข้มา หยอดเพียงครั้งเดียวก็หาย
   หมอประหลาดใจมาก จึงเข้าไปสืบให้รู้ดูที่อยู่ของท่าน เห็นมีแต่ที่จงกรมและที่นั่ง ไม่มีที่นอน เพราะพระมหาบาล ตั้งใจไว้ว่า จะไม่นอนเป็นเวลา ๓ เดือนในพรรษา จึงไม่ต้องการทำลายความตั้งใจ แม้
ตาทั้งสองจะแตก จะทำลายก็ยอม แต่จะไม่ยอมทำลายความตั้งใจ ท่านคงนั่งหยอดยาทางจมูกอยู่นั่นเอง หมอรู้ว่า ด้วยอาการอย่างนี้ โรคของพระ ไม่อาจระงับได้ เกรงเสียชื่อของตน จึงขอท่านอย่าได้พูดกับใครว่า เขาเป็นหมอรักษาท่าน แล้วไม่ยอมรักษาต่อ จนในที่สุด ดวงตาของท่านก็แตก พร้อมกับการดับ โดยสิ้นเชิงแห่งกิเลสทั้งปวง ท่านเป็น "พระอรหันต์สุกขวิปัสสก" ผู้หนึ่ง ดวงตาเนื้อของท่านดับสนิทลง

   ทันใดนั้นดวงตา คือปัญญาก็พลุ่งโพลง แจ่มจรัสขึ้น บริสุทธิ์ ไร้มลทิน
   เมื่อถึงเวลาออกบิณฑบาต เห็นจะเป็นเพราะตาท่านบอดลงทั้งสองข้าง คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า "จักขุบาล" แทน "มหาบาล" อันเป็นชื่อเดิมของท่าน เมื่อท่านได้ทำกิจของท่านเสร็จแล้ว หน้าที่ที่เหลืออยู่ก็คือ โอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายให้สำเร็จมรรคผล ท่านได้ทำหน้าที่นั้น จนภิกษุทั้งหลายได้ สำเร็จอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ในพรรษานั้นเอง 


ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหา
- https://goo.gl/u4jmG9 ข้อมูลจาก หนังสือ "ทางแห่งความดี"
เรียบเรียงโดย อ.วศิน อินทสระ 
https://goo.gl/wgdma2

3 ความคิดเห็น:

เวลาขับรถตอนกลางคืนไปชนแมลงต่างๆ ตายไป จะบาปไหม?

21:27 Mali_Smile1978 0 Comments


ถาม: ในขณะที่ขับรถไปตามท้องถนนในเวลากลางคืน ตัวแมลงบินเล่นไฟหน้ารถแล้วมากระทบกับกระจกบ้าง หน้าหม้อน้ำรถบ้าง ตายไปบางครั้งเหยียบคางคกตาย อย่างนี้จะเป็นบาปหรือไม่ ซึ่งในขณะนั้นไม่มีเจตนา และสัตว์นั้นจะจองเวรเราหรือเปล่า
ตอบ: ไม่ผิดศีล แต่เป็นบาป บาปเพราะทำให้สัตว์ตาย ผลที่ได้คือความไม่สบายใจ

   ข้อที่ว่าสัตว์นั้นจะจองเวรหรือไม่ ก็อาจบอกได้ว่า “คงไม่จองเวร” เพราะสัตว์นั้นตายในพริบตา ไม่มีโอกาสจองเวรได้ มองอีกแง่หนึ่งก็คือสัตว์เหล่านั้นคงมีเวรมากจึงต้องมาตายนาทำนองนี้ เป็นการใช้เวรตามปกติ เท่าที่ทราบผู้จองเวรกันนั้นมักจะถูกทรมานให้ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส และไม่อาจโต้ตอบในขณะนั้นได้จึงจองเวรกันไว้แล้วก็ตายไป เกิดมาใหม่ก็มาใช้เวรกันอย่างนี้
   ในกรณีของคุณ สบายใจได้แล้ว อย่าวิตกทุกข์ร้อนไปเลย หากยังไม่วางใจเชื่อ ทำบุญทำทานเมื่อไรก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเปลื้องปลดภัยเวรให้แก่สัตว์เหล่านั้นเสีย ความวิตกกังวลใจจะได้หายไป

   เรื่องทำให้สัตว์ตายโดยไม่มีเจตนาเช่นนี้ มิใช่จะมีเฉพาะคุณหรือคนอื่นในปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้พระอรหันต์ในสมัยพระพุทธเจ้าก็เคยทำมาแล้ว คือ พระจักขุบาลเถระ ท่านองค์นี้เป็นพระอรหันต์ตายบอดทั้งสองข้างเพราะบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก คืนหนึ่งท่านเดินจงกรมตามปกติ แต่เผอิญคืนนั้นฝนตกแล้วหยุดไปใหม่ๆ พวกแมลงเม่าบินว่อนออกมา แล้วปีกหลุดหล่นตามทางเดินจงกรมของท่าน ท่านมองไม่เห็นจึงเดินเหยียบเรื่อยไป พอได้เวลาก็เข้าที่พัก วันรุ่งพวกพระต่างวัดเข้ามาเห็นเข้า ไม่รู้ว่าท่านตาบอด จึงได้พูดคุยกัน หาว่าท่านฆ่าสัตว์ ความทราบไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสถามพระเหลานั้นว่าพวกเธอเห็นพระจักขุบาลเหยียบแมลงเม่าหรือ เมื่อพระเหล่านั้นกราบทูลว่าไม่เห็น จึงตรัสว่า พระจักขุบาลก็ไม่เห็นแมลงเหมือนกันเจตนาจะฆ่าของพระจักขุบาลไม่มี อย่าไปโทษท่านเลย
   จากตัวอย่างนี้แสดงว่าพระจักขุบาลไม่มีความผิด เพราะพระอรหันต์เป็น “ปาปมุต” คือ พ้นบาปไปแล้ว ไม่ทำบาปอีกแล้ว แต่ผลกรรมยังมีนิดหน่อย ก็คือถูกด่าฟรีนั่นเอง


ขอบคุณข้อมูลเนื้อหาและภาพ
- หนังสือไขข้อข้องใจ ๒,จากวารสารมงคลสาร:กันยายน,๒๕๑๙).พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.หน้า ๘๑-๘๒
https://goo.gl/y848cT


0 ความคิดเห็น:

เครื่องบินตกตายหมู่หรือรถชนตายหมู่ เพราะกรรมอะไร? ในพระพุทธศาสนาบอกไว้หรือไม่?

01:06 Mali_Smile1978 7 Comments


สงสัยว่าผู้ที่นั่งเครื่องบินไปตกตายหมู่หรือรถชนกันตายหมู่เป็นสิบเป็นร้อยศพนั้น พวกนี้ทำกรรมอะไรไว้ ในพระพุทธศาสนาบอกไว้หรือไม่???

ตอบ เรื่องการตายหมู่นี้ท่านเล่าไว้เหมือนกัน ในคัมภีร์พระธรรมบท คือเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ

   เรื่องมีว่า พระเจ้าวิฑูฑภะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี ประสูติแต่พระนางวาสภขัตติยา ซึ่งเป็นเชื้อสายของเจ้าศากยะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ หากจะนับตามลำดับญาติกันแล้วพระเจ้าวิฑูฑภะก็คือพระญาติของพระพุทธเจ้านั่นเอง สมัยที่ยังทรงเป็นเจ้าชายอยู่ ทรงมีความเคียดแค้นพระประยูรญาติฝ่ายพระมารดา โดยถูกดพระญาติเมืองกบิลบพัสดุ์ดูหมั่นเหยียดหยามว่าตนมีพระมารดาที่มีศักดิ์แค่เพียงลูกพระสนม เมื่อได้ครอบครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาแล้ว พระเจ้าวิฑูฑภะจึงเสด็จกรีธาทัพไปประชิดเมืองกบิลพัสดุ์ทันที ทรงรับสั่งให้ฆ่าเจ้าศากยะทุกพระองค์ เว้นพระเจ้ามหานามะผู้เป็นพระเจ้าปู่พระองค์เดียวเท่านั้น แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปทรงแสดงพระอาการห้ามถึงสองครั้งก็ไม่อาจต้านทานไว้ได้ ทหารพระเจ้าวิฑูฑภะผู้บ้าคลั่ง จึงตะลุยฆ่าพวกเจ้าศากยะอย่างบ้าเลือด เมืองกบิลพัสดุ์ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ มีทหารเพียงหยิบมือเดียว ซ้ำยังเป็นผู้มีคุณธรรมตั้งอยู่ในธรรมอีก ก็ถึงกาลอวสานย่อยยับลงไปด้วยประการฉะนี้ 





   พระประยูรญาติของเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้าของเราก็เลยขาดสูญมาตั้งแต่บัดนั้น และถัดมาอีกปีหรือสองปี พระพุทธองค์ก็เสด็จปรินิพพาน

   เขียนมาถึงตรงนี้ก็อยากจะวิจารณ์เหตุการณ์พุทธประวัติตรงนี้สักเล็กน้อย เป็นการแก้ข้อกล่าวหาและข้อข้องใจของบางคนที่ว่าพระพุทธเจ้าออกบวชคนเดียวไม่พอ ยังพรากลูก พรากพ่อ พรากหลาน ชักชวนประยูรญาติหนุ่มๆออกบวชด้วย คือพระนันทะ(พระอนุชา) พระนางรูปนันทา (พระภคินี) พระนางพิมพา พระอนุรุทธะ พระกิมพิละ พระภคุ เป็นต้นทำให้กบิลพัสดุ์หมดวงศ์หมดผู้สืบสกุลไปมาก พออ่านเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะนี่แล้วยังคิดว่าดีแล้วหนอ ดีแท้หนอ ที่พระประยูรญาติวัยเยาว์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ออกบวชกันเสียก่อน หากไม่บวชยังสืบลูกสืบหลานกันอยู่ไซร้ คงไม่แคล้วเป้นเหยื่อคมดาบของพระเจ้าวิฑูฑภะ และเหล่าทหารเหมือนเจ้าศากยะองค์อื่นๆ ที่ไม่บวชเป็นแน่ แล้วจะได้ประโยชน์อันใดเล่า หากสิ้นชีพด้วยคมหอกคมดาบเช่นนั้น แต่ทุกท่านที่ออกบวชต่างได้บรรลุนิพพานกันหมด มีนิพพานเป็นทางไปทุกองค์ เว้นแต่พระเทวทัต ผู้ถูกลาภสักการะครอบงำเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่บวชแล้วยังต้องไปสู่อเวจีมหานรก
แล้วอย่างนี้ยังจะว่าพระพุทธเจ้าผิดอีกหรือ
(เล่าต่อ)
   เมื่อเจ้าวิฑูฑภะผู้มีความแค้นเป็นอารมณ์ได้ปฏิบัติการจองเวรอันโหดเหี้ยมต่อเจ้าศากยะเรียบร้อยสมประสงค์แล้ว ก็กรีธาทัพกลับสาวัตถีมหานคร ทหารต่างฮึกเหิมไชโยโห่ร้องกันมาตลอดทาง รอนแรมมาจนค่ำจึงหยุดพักที่ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ทหารต่างก็แยกกันไปพัก พวกหนึ่งนอนบนบกริมฝั่ง พวกหนึ่งนอนบนชายหาด พอหัวถึงพื้นต่างก็หลับใหลด้วยความอ่อนเพลีย 


   ไม่นานพวกมดเจ้ากรรมไม่รู้มาจากไหน พากันขึ้นมากัดทหารเหล่านั้นพัลวัน พวกที่นอนบนบกริมฝั่งก็ส่งเสียงเอะอะว่ามดตรงนี้ชุมจริง ไอ้มดจัญไร ที่อื่นมีเยอะแยะไม่ขึ้นมาขึ้นตรงนี้ที่เรานอนได้ ว่าแล้วก็ย้ายที่ลงไปนอนที่หาดทราย พวกที่นอนอยู่บนหาดทรายก็เกิดความรำคาญว่ามดพวกนี้ไหงมาอยู่ชายหาดได้ ว่าแล้วก็ขึ้นไปนอนบนบก เรียกว่าสลับที่กันนอน ตกดึกมาลมพัดเย็นสบายจึงหลับต่อแทบสลบไสลกันไป ค่อนแจ้งแม่น้ำก็ค่อยๆ เอ่อล้นขึ้น เพราะทางต้นน้ำฝนตกหนัก แล้วไหลบ่าลงมาใต้อย่างรวดเร็ว พัดพาเอาทหารที่นอนบนหาดทรายไปด้วย ทหารเหล่านั้นสุดจะช่วยตัวเองทันกลิ้งไปกับสายน้ำอันบ้าคลั่ง กระทบโขดหินตายบ้าง จมน้ำตายบ้าง ไม่เหลือรอดแม้แต่คนเดียว

ในจำนวนนั้น ท่านว่ามีพระเจ้าวิฑูฑภะด้วย

ส่วนทหารที่นอนบนบกริมฝั่งเลยรอดตัวไปทั้งหมด

สรุปแล้วทหารพวกนี้รอดตัวเพราะมดแท้ๆ และพวกที่ตายก็ตายเพราะมดจัญไรอย่างที่ตัวสบถออกมาอีกเหมือนกัน

   ตอบมาเสียยืดยาวแบบปากกาพาไปในเรื่องบ้าง นอกเรื่องบ้าง ก็เพื่อชี้ให้เห็นเป็นว่าการตายหมู่นั้นเคยมีมาแล้วในอดีต และเป็นอดีตอันน่าสยดสยองถึงกับมีจารึกไว้เป็นหลักฐาน คล้ายกับจะสอนคนรุ่นหลังว่าให้จำเหตุการณ์นี้ไว้เป็นเครื่องสอนในกันเถิด

   จุดของเรื่องก็อยู่ที่ว่า ข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วชมพูทวีปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟไหม้ป่า ต่างโจษขานกันว่าการตายหมู่ของคนพวกนั้นน่าสยดสยองใจจริงๆ แม้ภิกษุพุทธบุตรทั้งหลายก็อดเสียใจมิได้ แม้จะทราบว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ก็ตามเถอะ ก็ยังไม่แจ้งชัดว่าเพราะกรรมอันใดเล่าจึงเป็นเช่นนี้ จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทูลถามเพื่อให้หายข้องใจ พระพุทธองค์จึงมีพระบัณฑูรตรัสว่า พวกเจ้าศากยะเหล่านี้ทำกรรมหนักไว้ คือได้เคยสมคบร่วมคิดกันโปรยยาพิษลงในแม่น้ำ ทำให้คนตายสัตว์ตายเสียมากต่อมาก ผลกรรมก็เลยตามสนอง ทำให้จมน้ำตายหมู่อย่างที่เห็น

   ส่วนพวกทหารนั้นเล่า พวกรอดตายแสดงว่ายังไม่ถึงที่ คือมิได้ทำกรรมหนักไว้ในอดีตจึงมีเหตุให้ลุกจากหาดไปนอนบนบกเสีย ส่วนพวกที่ตายเขาเรียกว่าถึงที่แล้ว ทั้งที่น่าจะพ้นไม่น่าตายเพราะนอนบนบกอยู่แล้ว แต่ก็ต้องลงไปนอนรอความตายบนชายหาด แสดงว่าพวกนี้เคยทำกรรมหนัก คือฆ่าหมู่เขามาหยกๆ ก็เลยมาตายหมู่ทำนอง “ดาบนั้นคือสนอง” นั่นแหละ

   หากจะถามว่า ทหารที่นอนบนบกก็ฆ่ามาเหมือนกัน แต่ทำไมไม่ตายเล่า

   ข้อนี้ท่านเล่าเฉลยไว้ว่า ทหารพวกรอดตายมิได้ทำกรรมหนัก เพียงแต่ฆ่าตามรับสั่ง คือฆ่าเฉพาะพวกที่พูดว่าเป็นเจ้าศากยะเท่านั้น นอกนั้นไม่ฆ่า เรียกว่าเป็นทหารอยู่ในสัจจะ และมีคุณธรรม รักษาวินัยดี ส่วนพวกที่ตายเป็นพวกที่เมามัน ทำเกินรับสั่ง ฆ่าหมด ไม่ว่าเจ้าศากยะหรือชาวเมืองลูกเด็กเล็กแดง พอเจอเป็นฟันดะเหมือนช้างตกมัน กรรมก็เลยตามสนองเอากังกล่าว



   จากเหตุการณ์ในอดีตตรงนี้ เราอาจนำมาเปรียบเทียบได้ว่า พวกที่ตายหมู่เพราะเครื่องบินตกก็ดี รถชนกันก็ดี เรือล่มก็ดี ถูกระเบิดตายก็ดี แสดงว่าเขาเหล่านั้นเคยทำกรรมร่วมกันไว้ในอดีตชาติ อาจจะเคยร่วมกันเป็นทีมโกงบ้านโกงเมือง เช่นอย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่า คอรัปชั่นเป็นทีม อาจจะเคยสมคบร่วมคิดกัน ใช้ให้เขาไปทำลายชาติอื่นเมืองอื่นหรืออาจจะเคยร่วมกันล้อมบ้านล้อมเมืองให้เขาอยากตายไปอย่างเช่นในการทำสงครามแบบเก่าๆ การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นการทำกรรมหมู่ทั้งนั้น เมื่อตายจากชาตินั้นไปแล้ว กรรมนั้นก็ติดตามไปเรื่อยๆ พอทันเข้าก็อาจยังไม่ให้ผลทันทีต้องรอจังหวะให้มาพร้อมกันก่อน คือให้คนทำกรรมร่วมกันมาพร้อมหน้าพร้อมตากันก่อน พอมาพร้อมแล้วกรรมก็เริ่มสำแดงผล

โครมเดียวตายเกลี้ยง

   ส่วนผู้ไม่เคยมีส่วนร่วมไปทำกรรมกับเขาไว้ แต่เผอิญไปอยู่ในหมู่นั้นด้วย ก็มักจะรอดตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์

   เรื่องกรรมแสดงผลนี้เราอาจจะหาเหตุผลง่ายๆ ก็ได้ว่า คนที่ตายนั้นมิใช่ไม่เคยเดินทางโดนทางเรือ ทางรถ หรือทางเครื่องบิน เคยไปมาแล้วอย่างโชกโชน แต่รอดตัวมาได้เพราะสมาชิกคือผู้ร่วมทำกรรมยังมาไม่พร้อม กรรมก็ยังไม่สำแดงผล บางคนเพิ่งนั่งเครื่องบินครั้งแรก พอขึ้นฟ้าก็เจอดีเลยเพราะบังเอิญสมาชิกมาครบองค์ไม่ขาดพอดี และก็น่าแปลกเหมือนกัน สมาชิกที่ทำกรรมชั่วมาด้วยกัน มิใช่อยู่ใกล้กันเลย คนละบ้าน คนละจังหวัด บางทีคนละประเทศเสียด้วยซ้ำ แต่ต้องให้มาประจวบตายร่วมกันได้ มันเป็นเพราะอะไร "ถ้ามิใช่กรรม"

   เที่ยวบินอื่นทำไมไม่ไป รถคันอื่น เรือลำอื่นทำไมไม่ไป ทำไมต้องให้ไปเที่ยวบินนี้ เรือลำนี้ หรือรถคันนี้ด้วย ก็น่าคิด

อาจแย้งว่ามันบังเอิญกระมัง

   ทำไมจึงบังเอิญเอาตอนนี้ เที่ยวอื่นทำไมจึงไม่บังเอิญ คนอื่นทำไมจึงไม่บังเอิญ อาจมีผู้แย้งต่ออีกว่า เพราะความประมาทของเจ้าหน้าที่หรือคนขับก็ได้ ก็ต้องย้อนถามว่าทำไมจึงประมาท ถามแย้งและย้อนตอบต่อไปเรื่อยๆ ก็จะสรุปตรงจุดสุดท้ายว่า

"มันเป็นเพราะกรรม"


   ยังไม่เคยมีใครให้เหตุผลที่ดีไปกว่านี้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเชื่อพระพุทธพจน์ที่วา “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” กันไว้ก่อน


   และจากเรื่องนี้ทำให้เราได้ข้อคิดว่า คนเรานั้นเมื่อกรรมยังตามไม่ทันก็อย่าเพิ่งคิดประมาทว่าเราไม่มีกรรม คนที่เขาไม่มีกรรมต้องให้ตายหมู่ก็จะบังเอิญให้ไม่ไปเที่ยวบินนั้น บังเอิญให้ไปรถคันอื่น ไปเรือลำอื่น หรือไปวันอื่น คือให้พลาดไปเสีย แต่ผู้มีกรรมและถึงคราวกรรมให้ผลมันก็ให้ “บังเอิญ” อีกแหละ จะต้องไปวันนั้นให้ได้ ต้องไปรถคันนั้น ไปเรือลำนั้น หรือไปเที่ยวบินนั้นให้ได้ สุดท้ายก็ไปตายอย่างว่า

   พระท่านว่า “อันคนเรานั้นหากทำกรรมชั่วไว้ แม้จะเหาะขึ้นไปบนฟ้า หนีไปอยู่ในถ้ำในเขา ขุดหลุมหลบลงไปในดิน ลงเรือหนีไปในท้องทะเล หรือดำน้ำหนีลงไปใต้มหาสมุทร ที่จะพ้นความชั่วที่ตนเคยทำไว้เป็นอันไม่มี กรรมที่ทำไว้เป็นประดุจสุนัขไล่เนื้อวิ่งตามเนื้อสมันไป หากทันเนื้อสมันเมื่อไรเป็นต้องกัดทันที”

   หากจะเปรียบอย่างสมัยใหม่ก็ว่า เหมือนสุนัขตำรวจไล่กวดผู้ร้าย ทันกันเมื่อไรก็ขย้ำกันเมื่อนั้นนั่นแล



ขอบคุณข้อมูลเนื้อหาและภาพ
- หนังสือไขข้อข้องใจ ๒,จากวารสารมงคลสาร: ตุลาคม,๒๕๑๙).พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.หน้า ๑๐๓-๑๐๘
https://goo.gl/qo4fFx , https://goo.gl/eUGbVx ,  https://goo.gl/ANh6Aq

7 ความคิดเห็น:

รดน้ำศพมีความมุ่งหมายและเป็นคติสอนใจอย่างไร?

02:25 Mali_Smile1978 5 Comments

ที่มา https://goo.gl/aup3wg
รดน้ำศพมีความมุ่งหมายและเป็นคติสอนใจอย่างไร???
   ประเพณีการรดน้ำศพนั้นเป็นเรื่องเก่าแก่ มีมาแต่โบราณแต่จะโบราณขนาดไหนยังสาวไปไม่ถึง ลงเป็นเรื่องโบราณแล้วเป็นอันว่าต้องมีอะไรๆ แฝงอยู่เสมอ จึงควรจะได้ศึกษาเพื่อทราบความมุ่งหมายกันไว้บ้างก็ดีเหมือนกัน เผื่อจะได้นำไปใช้เมื่อมีความจำเป็นและทำได้อย่างถูกต้องดี

   การรดน้ำศพ มีจุดหมายโดยตรง คือเพื่อขอขมาลาโทษต่อผู้ตาย หรือไปอโหสิกรรมให้แก่กัน อย่ามีเวรมีกรรม หรือจองเวรจองกรรมกันต่อไปอีก ขอให้สิ้นสุดกันแค่นี้ แต่ถ้าผู้ตายมีอาวุโสน้อยกว่า ไม่นิยมรดน้ำศพเพื่อขอขมาแต่ไปในงานเพื่อให้เกียรติและไว้อาลัยแก่ผู้ตาย

   ส่วนจุดมุ่งหมายโดยอ้อมก็เพื่อเป็นคติสอนใจคนเป็นนั่นเอง

ขอขมาและสอนใจอย่างไร

   ความจริงของเดิมแท้ๆ คงไม่มีการรดน้ำศพเป็นพิธีการอย่างเดี๋ยวนี้ คงมีอาบน้ำศพกันเท่านั้นพอ แม้บัดนี้ตามชนบทก็มีแค่อาบน้ำศพกันโดยอาบเป็นพิธีการทีเดียว เรียกลูกๆ หลานๆ ญาติพี่น้องมาอาบน้ำกันเป็นการใหญ่ ไม่มีการรดน้ำศพอย่างที่ทำกันในบัดนี้ แต่เฉพาะในที่ที่เจริญแล้วเช่นในเมือง นิยมมีการอาบน้ำศพด้วย รดน้ำศพด้วย การอาบน้ำศพเป็นเรื่องภายในครอบครัวและญาติสนิททำกันก่อน เมื่ออาบน้ำศพแล้วก็แต่งตัวศพเสียใหม่ ผัดหน้าทาขมิ้นอย่างดีทีเดียว แล้วนำศพนั้นออกมาให้แขกเหรื่อรดน้ำศพภายหลัง

   วิธีรดน้ำศพนั้นเท่าที่ทราบ ถ้าเป็นศพคฤหัสถ์ซึ่งมีอาวุโสสูงกว่าตัว หากศพวางไว้กับพื้นผู้รดน้ำก็นั่งคุกเข่า หากศพวางไว้บนเตียงก็ยืนน้อมไหว้ศพก่อนพร้อมกับนึกในใจว่า

“กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มโนกัมมัง อโหสิกัมมัง โหตุ”
(ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินต่อท่านทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ขอท่านโปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด)

   เมื่อยกมือไหว้ขอขมาศพแล้วก็รับภาชนะน้ำสำหรับรด ประคองเทน้ำด้วยมือทั้งสองรดลงบนฝ่ามือขวาของศพ พร้อมนำในใจว่า

“อิทัง มะตะกะสะรีรัง อาสิญจิโตทะกัง วิยะ อะโหสิกัมมัง”
(ร่างกายที่ตายแล้วนี้ย่อมเป็นอโหสิกรรม ไม่มีโทษ เหมือนน้ำที่รดแล้ว) 
จะว่าเป็นภาษาบาลีหรือเฉพาะภาษาไทยอย่างเดียว หรือทั้งสองอย่างเป็นอันใช้ได้ทั้งนั้น

   เมื่อรดเสร็จแล้วน้อมตัวลงยกมือไหว้พร้อมกับนึกอธิษฐานในใจว่า

“ขอจงไปสู่สุคติๆ เถิด”
   นี่เป็นระเบียบปฏิบัติเวลารดน้ำศพคฤหัสถ์ ถ้าเป็นศพพระสงฆ์ให้เปลี่ยนจากน้อมไหว้มาเป็นกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ส่วนการนึกในใจคงใช้เช่นเดียวกัน

การรดน้ำศพนี้มีข้อคิดเป็นคติสอนใจอยู่ ๒ ประการ คือ

ที่มา https://goo.gl/aup3wg
   ประการแรก เวลาเขาวางศพให้รดน้ำนิยมให้ศพนอนเหยียดยาว จัดมือขวาให้วางหงายเหยียดออกคอยรับการรดน้ำ เหมือนจะให้ศพประกาศความหมายออกมาว่า

“นี่แน่ะท่านทั้งหลาย ดูมือฉันซิ ฉันไปมือเปล่านะ ฉันไม่ได้นำเอาอะไรในโลกนี้ไปเลยแม้แต่น้อยหนึ่ง แม้ท่านก็จักเป็นเช่นฉันเหมือนกัน”

   พูดกันให้ชัดก็คือเพื่อให้เราเกิดสติเกิดจิตสำนึกว่าแม้ผู้ตายจะร่ำรวยสักปานไหน มีทรัพย์สมบัติมีบริวารมากสักเพียงใด ตายแล้วก็นำอะไรไปไม่ได้เลยสักอย่าง ทำนองว่า “เขามามือเปล่าก็ไปมือเปล่าเหมือนเขา” นั่นเอง จะมามัวโลภโมห์โทสันกันไปถึงไหน ทำสิ่งที่จะติดตามตนไปได้มิดีกว่าหรือ จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์
ที่มา https://goo.gl/pQF94f
   และอีกประการหนึ่งเป็นการเตือนสติว่า อยู่เป็นมนุษย์อย่าได้มีเวรมีภัยอย่าได้เบียดเบียนกันและกันเลย มีข้อบาดหมางอะไรก็ควรอโหสิกรรมกันให้อภัยกันเสีย ตายไปแล้วร่างกายจะได้อโหสิกรรมหมดมลทิน ไม่นำเวรนำภัยไปด้วยเหมือนน้ำที่รดศพฉะนั้น

คืออย่างไร

   ธรรมดาน้ำเป็นสิ่งที่ไม่ถือโทษโกรธใครเป็น ใครจะทิ้งของเน่าของเหม็นลงไปในน้ำหรือใครจะนำน้ำไปราดไปรดอาบล้างของเหม็นเน่าของหอมหรือของสูงต่ำอย่างไร น้ำนั้นก็ไม่ยินดียินร้าย วางเฉยเสมอ ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใครทั้งนั้น พร้อมทั้งไม่เลือกที่รักผลักที่ชังด้วย วางตัวสม่ำเสมอทุกเวลา มีความยุติธรรมตลอดกาล มนุษย์เราจึงน่าจะทำตัวให้เหมือนกับน้ำที่รดศพกันบ้างโลกคงสงบกว่านี้


ขอบคุณข้อมูล
- หนังสือไขข้อข้องใจ ๒,จากวารสารมงคลสาร:สิงหาคม,๒๕๑๙).พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.หน้า ๖๗-๗๐
- ภาพ https://goo.gl/pQF94f,https://goo.gl/aup3wg

5 ความคิดเห็น:

ปัญหาซึมลึก ภายในศาสนจักร เนื่องแต่ ‘พศ.’ : ปัญหาระหว่าง “มส.” กับ “พศ.” ได้เกิดขึ้นจริง...ใครที่เป็น “พุทธ” ย่อมบังเกิดอาการ “หวาดเสียว”

01:24 Mali_Smile1978 12 Comments

                        ที่มา https://www.matichon.co.th/news/618002


     ไม่ว่าจะมองตามหลักแห่ง “สภาวธรรม” ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการแห่ง “อริยสัจ 4” ความจริงอันประเสริฐ
ปัญหาระหว่าง “มส.” กับ “พศ.” ได้เกิดขึ้นจริง

หากมองจากความเป็นจริงที่ มส. คือมหาเถรสมาคม หากมองจากความเป็นจริงที่ พศ. คือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ


ใครที่เป็น “พุทธ” ย่อมบังเกิดอาการ “หวาดเสียว”

เพราะตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ไม่ว่าที่ประกาศและบังคับใช้เมื่อ พ.ศ.2505 ไม่ว่าที่ประกาศและบังคับใช้หลังจากแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ.2535
ระบุความรับผิดชอบของ “พศ.” เด่นชัด

เด่นชัดโดยการกำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของมหาเถรสมาคม


นั่นก็คือ รับใช้และสนองงานให้ “มส.”


ถามว่าแล้ว “ปัญหา” อันกลายเป็นตัว “ทุกข์” ของความสัมพันธ์ระหว่างมหาเถรสมาคมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีเหตุปัจจัยมาจากอะไร
คำตอบก็คือ ส่อแววจะกลับหัวกลับหาง

แทนที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเป็นเลขานุการให้กับมหาเถรสมาคมทำท่าว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว

>> เห็นได้จากกรณีของโรงเรียนพระปริยัติธรรม
>> เห็นได้จากกรณีของการแต่งตั้ง “เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา” อันมีความไม่พอใจกรุ่นมาจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

เห็นได้ชัดว่า “พศ.” ทำท่าจะอยู่เหนือกว่า “มส.”

รูปธรรมก็คือ การประชุมมหาเถรสมาคม 2 ครั้ง ทางกรรมการมหาเถรสมาคมต้องการจะสอบถามความอื้อฉาวมากหลายไม่ว่าเรื่อง “เงินทอน” ไม่ว่าเรื่องเงินของโรงเรียนพระปริยัติธรรมจาก พศ.
ที่มา https://www.thairath.co.th/content/1030434#cxrecs_s
>> แต่ผู้อำนวยการ พศ.ไม่เข้าประชุมทั้ง 2 ครั้ง

หลายฝ่ายประจักษ์ในเจตนาดีของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่จะต้องการกวาดล้างและทำความสะอาดภายในวงการสงฆ์

โดยถือเอาวัดและโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็น “เป้า”

การกวาดล้างและทำความสะอาดนี้มีการขานรับจากสังคมอย่างคึกคัก กว้างขวาง เพราะเกิดความเอือมระอามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

>> แต่คำถามก็คือ เรื่องนี้มีการปรึกษากับ “มส.” หรือไม่
ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ก็คือ แม้ พศ.ต้องการจะเข้าไปมีบทบาทในการจัดระเบียบวัดและพระอย่างไร แต่ก็ต้องกระทำโดยผ่านคณะปกครองของสงฆ์ ที่สำคัญก็คือโดยมติของมหาเถรสมาคม

ตัวอย่างที่เห็นจากกรณีของวัดพระธรรมกายก็เด่นชัด
ใช่ว่าทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะสามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการ เพราะว่าต้องผ่านเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล

ต่อวัดอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ยิ่งต่อโรงเรียนพระปริยัติธรรมยิ่งมีความละเอียดอ่อน

ทั้งหมดนี้คือตัวปัญหา ทั้งหมดนี้คือตัวทุกข์ ซึ่งไม่ว่ามหาเถรสมาคม ไม่ว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะต้องทำความเข้าใจตามความเป็นจริง

น่าแปลกที่ความขัดแย้งอันซึมลึกระหว่างมหาเถรสมาคมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกลับไม่อยู่ในความรับรู้ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ

กลับมองเห็นเป็นเรื่อง “น่าขัน”

เรื่องโลกๆ โดยทั่วไปท่านรัฐมนตรีอาจเห็นเป็นความขำขันได้ แต่เรื่องของศาสนา เรื่องของวัด เรื่องของพระ ไม่ควรเลย

เพราะอาจก่อปัญหาระหว่าง “ศาสนจักร” กับ “อาณาจักร” ได้


ขอบคุณเนื้อหาและภาพ 
- คอลัมน์หน้า 3 มติชน https://www.matichon.co.th/news/618002
https://www.thairath.co.th/content/1030434#cxrecs_s


12 ความคิดเห็น:

แย้มแผนปฎิรูป'พุทธศาสนา' ฉบับมหาเถรสมาคม!! ว่ามีอะไรบ้างและมีเป้าหมายสูงสุดอย่างไร??

00:49 Mali_Smile1978 0 Comments


     เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสไปฟังการสัมมนา “นโยบายคณะสงฆ์กับแนวทางการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 4.0” บรรยายโดย พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคมและประธานคณะกรรมการฝ่ายสงศึกษาสงเคราะห์ ที่แต่งตั้งโดยที่ประชุม มหาเถรสมาคม ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้คนห่างวัดแบบผมเข้าใจภารกิจและบทบาทของมหาเถรสมาคมและการเอาจริงเอาจังในการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทยมากยิ่งขึ้นว่า “ท่านกำลังทำอะไร และจะมุ่งเป้าหมายไปที่ไหน??”

     ท่านเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต ได้เล่าบรรยายให้คณะสงฆ์เห็นภาพเป้าหมายของยุทธศาสตร์ของรัฐบาลตอนนี้คืออะไร?? เพื่อมิให้คณะสงฆ์กลายเป็นองค์กรตกยุคหรือคนล้าหลังสังคม เพราะตลอดระยะเวลา 3 ปีมานี้ รัฐบาลมุ่งหวังจะปฎิรูปประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และหากบรรลุเป้าหมายในการปฎิรูปประเทศไทยได้จริง สังคมไทยก็จะนำไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเหมือน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ นี่คือภาพฝันของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

     พระคุณเจ้าได้เล่าฉายภาพให้เห็นว่า ตอนนี้รัฐบาลกำลังปฎิรูปและแก้ไขทุกอย่างที่เห็นว่าเป็น “กับดัก” ในการพัฒนาประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั้ง สถาบันสงฆ์ไทย เพราะฉะนั้นกระแสแห่งการปฎิรูป แม้คณะสงฆ์อยู่เฉยๆ หรืออยู่ในวัดของตัวเองอยู่ดีๆ ก็จะส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

     โดยตอนนี้ “กับดัก” สำคัญๆ ของประเทศไทยพระคุณเจ้าได้ชี้ให้เห็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 
1.ความแตกแยกของคนในสังคม 
2.การทุจริตคอร์รัปชั่น 
และท่านยังได้ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้คณะสงฆ์กำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาตามที่มหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรสูงสุดของ สถาบันสงฆ์ไทยได้กำหนดไว้ซึ่งมี 6 ด้าน บวก 1 ดังนี้

1.ด้านการปกครอง 2.ด้านการศาสนศึกษา 3.ด้านการเผยแผ่ 4.ด้านการสาธารณูปการ 5.ด้านการศึกษาสงเคราะห์ 6. ด้านการสาธารณะสงเคราะห์ และสุดท้ายด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เมื่อขมวดเป้าหมายการปฎิรูปของคณะสงฆ์แล้วก็จะเห็นว่า...
     มหาเถรสมาคมมีความมุ่งหวังให้ “พระสงฆ์และวัดเป็นแกนนำเป็นศูนย์กลางของชุมชน” ดังในอดีต สรุปง่ายๆ ก็คือว่า ตอนนี้คณะสงฆ์กำลังปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อทวงบทบาทในอดีตกลับคืนมา ตอนนี้กำลังระดมความคิดเห็นจากคณะสงฆ์ทั่วประเทศ เพื่อนำไปยกร่างยุทธศาสตร์การปฎิรูปกิจการคณะสงฆ์ระยะ 5 ปี

     เรื่องการปฎิรูปพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในวงการคณะสงฆ์ เพราะที่ผ่านมาสถาบันสงฆ์ไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์การปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาเป็นของตัวเองเลย ทุกอย่างอาศัยฆราวาส รัฐบาลดำเนินการให้หมด ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงใช้แผนพัฒนาประเทศไทยฉบับที่ 12 แต่คณะสงฆ์เพิ่งเริ่มจะต้นจะร่างแผน

     เพราะฉะนั้นสังคมไทยจะเห็นว่า ในอดีตคณะสงฆ์ทำอะไรมักไม่มีแบบแผนหรือเป้าหมาย ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ หากคณะสงฆ์มีแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นก็จะสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ “คณะสงฆ์ ไทยก็อาจจะทันสมัยยิ่งขึ้น ไม่กลายเป็นกลุ่มคนที่ล้าหลังในสังคม” ซึ่งรายละเอียด คณะสงฆ์ก็ลองไปอ่านดูในแผนยุทธศาสตร์การปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาฉบับมหาเถรสมาคมที่เจ้าคุณพระราชวรเมธี รองอธิการบดีมหาจุฬาฯ ไประดมความคิดเห็นมา

     แต่เอาเถอะ การปฎิรูปคณะสงฆ์ หรือการเขียนแผนยุทธศาสตร์เพื่อพระพุทธศาสนาในครั้งนี้ มหาเถรสมาคมเองก็คงคิดได้ว่า“คณะสงฆ์ปัดกวาดบ้านตัวเองดีกว่าให้คนอื่นมาปัดกวาดให้” สำหรับผมขอฝากถึงทั้งรัฐบาลและมหาเถรสมาคมว่า จะปฎิรูปหรือเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามในสถาบันสงฆ์ คณะสงฆ์ต้องรักษายึดมั่นอุดมการณ์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสแก่พระสาวกก่อนประกาศพระพุทธศาสนาว่า...

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย...”
….......................................


CR.คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญ10”:riwpaalueng@gmail.com
ขอขอบคุณ กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
https://www.dailynews.co.th/article/590503


0 ความคิดเห็น:

ภัยที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติก็คือ “สงคราม” จึงเป็นที่มาของวัน "สมาธิโลก" วันที่ 6 สิงหาคมของทุกปี เพราะสันติภาพโลกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ทุกคนได้เข้าถึงสันติสุขภายใน

22:36 Mali_Smile1978 0 Comments

ที่มา https://goo.gl/G41pJe

ที่มา https://goo.gl/G41pJe
     ภัยที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติก็คือ “สงคราม” ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้นมาเอง และตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกนี้ ก็ยังไม่เคยมียุคใดว่างเว้นจากสงครามอย่างเด็ดขาดได้เลย คำว่า “สันติภาพ” จึงเป็นสิ่งที่ชาวโลกพากันแสวงหามาโดยตลอด

    จากเหตุการณ์อันเป็นโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ นับเป็นเหตุการณ์อันเจ็บปวดในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อเครื่องบินของสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมือง ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวถึงกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน 



     ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมขององค์กรยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ยพสล.) ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ จึงมีมติให้วันที่ ๖ สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันสมาธิโลก" เพื่อกระตุ้นเตือนให้ชาวโลก หันมาสร้างสันติภาพด้วยวิถีทางที่สงบปราศจากความ รุนแรง และรณรงค์ให้ชาวโลกหันมาให้ความสำคัญ กับการนั่งสมาธิ เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในจิตใจ ของมวลมนุษยชาติ อันจะเป็นทางมาของการอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ได้อย่างผาสุกสืบไป

     คนระดับ Cream ของโลก รู้ว่า สงครามเริ่มจากจิตใจของมนุษย์ ซึ่งมีคำยืนยันจาก ธรรมนูญ ของ UNESCO (A Declaration on UNESCO constitution) ว่า 
“Since wars begin in the minds of men, it is in the minds of men that defenses of peace must be constructed. ”

แปลว่า “สงคราม เริ่มขึ้นในจิตใจของมนุษย์ มันอยู่ในจิตใจของมนุษย์ ดังนั้น เครื่องป้องกันสันติภาพ (ภายในใจ) จำเป็นจะต้องถูกสร้างขึ้นมา

     การทำสมาธิ แม้จะเป็นธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา แต่เป็นของสากลที่ศาสนิกชนอื่นก็สามารถปฏิบัติได้ วันสมาธิโลก คือทั่วโลกนานาชาติ ชาวโลกทุกคนไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดต่างก็รวมกันเพื่อทำสมาธิให้เกิดขึ้นในใจ หรืออาจกล่าวได้ว่าวันดังกล่าวเป็น 

"วันสันติภาพโลก ซึ่งสันติภาพโลกจะเกิดขึ้นได้
ก็ต่อเมื่อมนุษย์ทุกคนได้เข้าถึงสันติสุขภายใน"

เรามาพร้อมเปิดโลกยุคใหม่กันเถิด เพื่อความแตกต่างและความขัดแย้งจะได้หมดไป ถึงเวลาที่ทุกคนจะได้ร่วมมือกันทำ






ขอบคุณแหล่งข้อมูลเนื้อหาและภาพ

http://www.kalyanamitra.org/th/uniboon_detail.php?page=1643
http://www.rakbankerd.com/2014/dhamma/meditate/view.php?id=3110
https://www.youtube.com/watch?v=bgiWhCMwrtU&list=RDbgiWhCMwrtU#t=4
https://goo.gl/Bd8ACq,  https://goo.gl/G41pJe

0 ความคิดเห็น: