แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ วิบากกกรรม แสดงบทความทั้งหมด

ลักขโมยพระ ตัดเศียรพระ พวกนี้จะบาปมากไหม และบาปจะตามทันในชาตินี้หรือไม่?


ภาพจาก: https://goo.gl/BuWNwt
เรียนรู้เรื่องศาสนาจากปัญหาข้องใจ(ตอนที่ 10)
ถาม: ปัจจุบันมีการลักขโมยพระตัดเศียรพระกันมาก พวกนี้จะบาปมากไหม และบาปจะตามทันในชาตินี้หรือไม่?

     ข้อนี้ตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดว่า บาปมากแน่ ไปถามใคร เขาก็ต้องตอบเช่นนี้ เพราะว่าการลักถือว่าเป็นบาปอยู่แล้ว ไม่ว่าศาสนาไหนในโลกต่างก็มีคำสอนเรื่องการห้ามลักทรัพย์ของผู้อื่นทั้งนั้น แม้การตัดเศียรพระก็เหมือนกันเพราะต้องลักตัด เมื่อลักตัดก็บาปและบาปมากด้วย หากไม่ได้ลักตัดเช่นพวกช่างหล่อหรือช่างซ่อมพระพุทธรูป ซึ่งจำเป็นต้องขัดแต่งพระให้ดีให้สวยงาม ต้องตัดต่ออวัยวะเพื่อให้ได้รูปที่สวยงาม บางครั้งต้องซ่อมเศียรพระโดยวิธีหล่อใหม่ ก็จำต้องตัดเศียรเก่าที่ซ่อมไม่ได้แล้วออก อย่างนี้ไม่ถือว่าบาป

มาว่ากันว่าบาปแค่ไหนดีกว่า?
     ในตำนานพระพุทธศาสนาชั้นหลังๆ คือเมื่อมีพระพุทธรูปเกิดขึ้นแล้ว ท่านว่าใครทำลายพระพุทธรูปก็เท่ากับทำลายองค์พระพุทธเจ้าเหมือนกัน มีโทษถึงห้ามสวรรค์ห้ามนิพพานทีเดียว พิเคราะห์ดูก็เห็นสม เพราะผู้ลักขโมยพระหรือตัดเศียรพระได้นี้ต้องเป็นคนใจโหดบาปหนาอยู่ในกมลสันดาน ย่อมทำชั่วอย่างอื่นได้ทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่จะฆ่าพ่อฆ่าแม่ของตัวเองก็คงได้ การที่เขาแก่ใจทำบุญทำกุศลเพื่อตัวเองนั้นเห็นจะไม่มี เมื่อไม่ทำดีก็หมดหวังที่จะไปสวรรค์ หรือนิพพาน จะมีก็แต่ตกนรกหมกไหม้ในอเวจีเท่านั้น เรียกว่าเป็น "ผู้สวนทางนิพพาน" กันเลย

ภาพจาก: https://goo.gl/BuWNwt
     แม้กฎหมายโบราณก็ตราไว้ว่า หากใครทำอันตรายพระพุทธรูป เช่น ตัดแขน เป็นต้น ก็ให้ลงโทษด้วยการตัดแขนผู้นั้นทิ้งเสีย ใครตัดเศียร ตัดศอพระ ก็จับมันมาตัดคอเสีย เรียกว่าลงโทษกันแบบเกลือจิ้มเกลือ ปากต่อปาก ฟันต่อฟันกันเลยละ
     ที่ท่านลงโทษหนักอย่างนี้ เห็นเป็นเพราะผู้ทำลายพระพุทธรูปเท่ากับทำลายจิตใจของพุทธบริษัททั่วไป เพราะพระพุทธรูปเป็นมิ่งขวัญเป็นปูชนียวัตถุที่เขากราบไหว้บูชากันอยู่ หรือพูดอีกทีก็คือว่าเป็น "ดวงใจของชาวพุทธ" นั่นเอง
     แต่การลงโทษปัจจุบันนี้เบาบางมาก พวกทุจริตมิจฉาชีพประเภท “หนักแผ่นดิน” อย่างนี้ จึงผุดขึ้นงามสะพรั่งไม้แพ้ต้นโพธิ์ที่เกิดขึ้นอยู่บนยอดเจดีย์หรือหลังโบสถ์วิหารเก่าๆ ยามหน้าฝนทีเดียว

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาท่านก็เขียนเล่าไว้ว่า

ภาพจาก https://goo.gl/nLQkNx
     สมัยหนึ่ง ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ มีกษัตริย์อินเดียพระองค์หนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ไม่นับถือพระพุทธศาสนาจึงคิดทำลายล้างให้หมดสิ้นไปเสียจากอินเดีย โดยเริ่มจัดการทำลายวิหารมหาโพธิ์สถานตรัสรู้ก่อน ทราบว่า ในวิหารนั้นมีพระพุทธรูปสวยงามมาก พระองค์สั่งให้แม่ทัพจัดการทำลายพระพุทธรูปองค์นั้นเสีย ส่วนพระองค์ไปจัดการกับต้นมหาโพธิ์ แม่ทัพผู้นั้นแม้จะเป็นมิจฉาทิฐิ แต่ก็มีสามัญสำนึกดีกว่าพระเจ้าแผ่นดิน เขาคิดว่าพระพุทธรูปงดงามเช่นนี้ควรรักษาไว้ เพราะเป็นสมบัติของแผ่นดินชิ้นหนึ่ง จึงก่ออิฐถือปูนบังพระพุทธรูปไว้เสียแล้วกลับมากราบทูลว่าได้ทำลายพระพุทธรูปเสร็จแล้ว พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นทรงทราบเข้าก็ทรงพอพระทัยมาก ดำริว่าเราโค่นพระพุทธศาสนาลงได้แล้ว 
แต่หลังจากนั้นเพียง ๗ วันเท่านั้น พระองค์เกิดโรคพุพองขึ้น
ทั้งพระองค์ ต่อมาตุ่มพองนั้นก็แตกเปื่อยเน่าเหม็นคลุ้งไป ปวดแสบปวดร้อนนัก ทรมานอย่างสาหัสสากรรจ์เช่นนี้จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ไป

     นี่เป็นผลของการสั่งให้ทำลายพระพุทธรูปและทำลายพระศรีมหาโพธิ์ด้วยพระองค์เองหรืออย่างไร ขอให้ท่านทั้งหลายวินิจฉัยดูเอาเองเถิด



ภาพจาก https://goo.gl/iMNMQH

ส่วนในเมืองไทยเราก็มีเรื่องเล่าทำนองนี้เกิดขึ้น เล่าสืบต่อกันมาว่า
     มีชายชราคนหนึ่งเป็นโรคผิวหนังพุพองเน่าเปื่อยไปทั้งตัว แถมเป็นอัมพาตเสียด้วย ทำมาหากินไม่ได้ ต้องนอนขอทานเขากินไปวันๆ ทุกข์ทรมาน ทุกข์ทรมานอยู่จนตาย ก่อนตายชายชราคนนั้นสารภาพว่า สมัยที่ยังหนุ่มแน่นอยู่นั้น ได้หากินทางขโมยลอกทองจากองค์พระพุทธรูปบ้าง เที่ยวขุดคุ้ยหาทรัพย์ในองค์พระตามวัดร้างโบราณบ้าง ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการทำให้พระพุทธรูปขาดความสวยงามไป บางครั้งต้องตัดอวัยวะพระพุทธรูปบ้าง เจาะองค์บ้าง เจาะฐานบ้าง เมื่อแกได้รับทุกข์ทรมานเช่นนี้ แกก็ทราบว่ากรรมตามทันในชาตินี้นี่เอง แต่ก็สายไปเสียแล้ว



ภาพจาก https://goo.gl/19Hha2
     จะเป็นไปได้ไหม ผู้ที่เคยตัดเศียรพระทำลายองค์พระไว้ เมื่อเกิดมาในชาตินี้จึงไม่มีแขนไม่มีขาอย่างคนอื่น ต้องถูกตัดแขนตัดขาหรือถูกตัดคอ เช่น นั่งรถไปเกิดอุบัติเหตุ รถชนกันบ้าง รถคว่ำบ้าง ทำให้แขนขาด แต่ไม่ตาย หรือแขนขาเป็นโรคเน่าเปื่อย หรือถูกทำร้ายต้องถูกตัดทิ้งไปเพื่อรักษาชีวิตไว้ พวกนี้ทุกข์ทรมานจิตใจอย่างน่าสงสารเหมือนกัน ทำอย่างไรได้ คนอื่นทำไมไม่เป็นอย่างนั้น เฉพาะจะต้องมาเป็นกับพวกเขาซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก


ขอบคุณข้อมูล
- หนังสือไขข้อข้องใจ ๒, (จากวารสารมงคลสาร: กรกฎาคม, ๒๕๑๙). พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.หน้า ๑๐๐-๑๐๒