ตระกูล "คิว" ในทางพระพุทธศาสนา...คุณอยู่ในตระกูล "คิว" ใดบ้าง?

21:52 Mali_Smile1978 0 Comments


     
        IQ และ EQ เรามักจะได้ยินบ่อยๆ และรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะในปัจจุบันทางการแพทย์พูดถึงอีคิว… EQ. ร่วมกับไอคิว...IQ. เปรียบเสมือนดังคู่แฝดเลยทีเดียว แต่ยังมีอีกหลาย คิว IQ EQ AQ MQ SQ ที่น่าศึกษาและทำความรู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตระกูล "คิว" ที่อิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา...ไปดูกันเลยค่ะ


IQ(Intelligence Quotient) ความฉลาดทางปัญญา

        ตัวแรกที่จะกล่าวถึง คือ  ความสามารถทางการวิเคราะห์ ความสามารถทางวิชาการ ความจำ การอ่าน-เขียน การคำนวณ การพัฒนาด้าน IQ นี้มาจากกรรมพันธุ์ ๕๐ % อีก ๕๐%  มาจากสิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดู
        หลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้การพัฒนาด้าน IQ นี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้แก่  สุ จิ ปุ ลิ
        สุ คือ สุตมยปัญญา ปัญญาจากการฟัง ตีความว่า การฟัง คือ การรับสาร หรือ สาระ ทั้งปวงจากสื่อต่าง ๆ มิใช่แต่เฉพาะการฟังทางหูอย่างเดียว
        จิ คือ จินตมยปัญญา ปัญญาจากการคิด คือ รู้จักไตร่ตรอง หัดใช้เหตุผลวิเคราะห์ ช่วยให้เกิดจินตนาการ และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
        ปุ คือ ปุจฉา แปลว่า ถาม จาก สุ และ จิ ต้องมีความปรารถนาหาคำตอบเพิ่มเติม ด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้มีปัญญางอกเงยยิ่ง ๆ ขึ้น
        ลิ คือ ลิขิต จดบันทึก ต่อมาคำว่า "จด" ก็ขยายเป็น การพิมพ์ การทำฐานข้อมูล ที่สามารถนำไปรวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ ให้เป็นผลงานที่มีประโยชน์ ตามด้วยองค์คุณของพหูสูต
        ๑. พหุสฺสุตา..............ฟังมาก เล่าเรียนมาก อ่านมาก สั่งสมความรู้มาก
        ๒. ธตา.....................จำได้ จำเนื้อหาสาระไว้ได้แม่นยำ
        ๓. วจสา ปริจิตา.........ท่องบ่น หรือพูดถึงอยู่เสมอๆ จนคล่องแคล่วจัดเจน
        ๔. มนสานุเปกฺขิตา....ใส่ใจนึกคิดจนเจนใจ นึกถึงครั้งใดก็ปรากฏเนื้อความออกมาชัดเจน
        ๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา...เข้าใจความหมายและเหตุผล ความสัมพันธ์โยงใยกับเรื่องอื่นๆ




MQ(Moral Quotient) ความฉลาดทางคุณธรรม

        ความฉลาดทางคุณธรรม ต้องปลูกฝังในวัยเด็กจึงจะได้ผล เพื่อให้ติดเป็นนิสัยและเป็นธรรมชาติ   หลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้การพัฒนาด้านนี้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ได้แก่ ฆราวาสธรรม 

        ๑.สัจจะ   ความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน เป็นหลักสำคัญที่จะให้เกิดความไว้วางใจ และไมตรีจิตสนิทต่อกัน
        ๒.ทมะ   การรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน แก้ไขข้อบกพร่อง ให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นคนดื้อด้านเอาแต่ใจและอารมณ์ของตน
        ๓.ขันติ   ความอดทน อดกลั้น ต่อความหนักและความร้ายแรงทั้งหลาย ชีวิตของผู้อยู่ร่วมกัน  เมื่อเกิดภัยพิบัติ ความตกต่ำคับขัน ไม่ตีโพยตีพาย แต่มีสติอดกลั้นคิดอุบายใช้ปัญญาหาทางแก้ไขเหตุการณ์ให้ลุล่วงไปด้วยดี
        ๔.จาคะ  ความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปันตลอดถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน มิใช่คอยจ้องแต่จะเป็นผู้รับเอาฝ่ายเดียว ตลอดจนการเสียสละความพอใจและความสุขส่วนตน

สัปปุริสธรรม ๗ 
        ๑. ธัมมัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ได้แก่ รู้ชัดถึงเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อน และบ่อเกิดแห่งความผาสุก
        ๒. อัตถัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักผล ได้แก่ รู้ซึ้งถึงความเจริญสุขเป็นผลของบุญ และทุกข์โทษสืบมาแต่บาปทุจริต
        ๓. อัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักตน ได้แก่ สำเหนียกความรู้ความสามารถ วางตนสมอัตภาพอย่างเจียมใจ
        ๔. มัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักใช้งบประมาณพอดีสมควรแก่ฐานะ
        ๕. กาลัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา ได้แก่ จัดสรรกิจการให้ถูกจังหวะ
        ๖. ปริสัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักชุมชน ได้แก่ เข้าใจปรับบุคลิกภาพของตนให้สอดคล้องกับสมาคมทุกระดับ
        ๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคล ได้แก่ อ่านอัธยาศัยคนออก ถ่อมตนหรือยกย่องผู้อื่นสมแก่กรณี


RQ(Realistic Quotient) ความฉลาดมองเห็นความจริงในชีวิต

        แม้ว่าเราจะมีฉลาดรอบรู้มากมายหลายด้านอย่างใดก็ตาม แต่ความฉลาดรอบรู้นั้นจะหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย  หากยังไม่สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ของเราได้ ดังนั้นความรู้เรื่องสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิต จึงเป็นความรู้ที่มีค่าและสำคัญยิ่งที่ทุกคนสมควรรู้ นั่นคือ อริยสัจสี่ ได้แก่
        ทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ไม่สมหวัง ไม่ได้ดังใจ เป็นทุกข์
        สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ เพราะมีตัณหา คือปรารถนาใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์
ความอยากมีอยากเป็น และความไม่อยากมีไม่อยากเป็น
        นิโรธ การดับทุกข์ ด้วยการปล่อยวาง การละ การเลิก ไม่พัวพันกับตัณหา และไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น
        มรรค ทางดับทุกข์ ประกอบด้วย อริยมรรค ๘ ประการ คือ  สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต  สัมมาอาชีโว  สัมมาวายาโม  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ
        และสิ่งที่ทุกคนขาดเสียไม่ได้ ไม่ว่าหญิงหรือชาย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรหมั่นพิจารณาอยู่เสมอถึง อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ ประการ คือ
        ๑.ชราธัมมตา   เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้
        ๒.พยาธิธัมมตา  เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
        ๓.มรณธัมมตา   เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความตายไปได้
        ๔.ปิยวินาภาวตา เราจักต้องพลัดพรากจากของที่รักที่ชอบใจไปทั้งหมดทั้งสิ้น
        ๕.กัมมัสสกตา   เรามีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักต้องได้รับผลของกรรมนั้น

        เมื่อหมั่นพิจารณาอยู่เสมออย่างนี้ ก็จะช่วยป้องกันความมัวเมา ในความเป็นหนุ่มสาว ในทรัพย์สมบัติ และในชีวิต ฯลฯ บรรเทาความลุ่มหลง ความยึดมั่นถือมั่น และป้องกันการทำทุจริต  ทำให้เร่งขวนขวายกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ตลอดไป


AQ (Adversity Quotient)ความฉลาดในการเผชิญหน้า

        เมื่อเจออุปสรรคหรือปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนอื่นใดจะต้องควบคุมอารมณ์ตนเองให้สงบ  ให้นิ่งก่อน แล้วให้มีทัศนคติในแง่บวกต่อปัญหาเสมอ โดยให้คิดเสมอว่าปัญหานั้น คือ โอกาสที่จะทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้เสมอ ถ้าหากผู้แก้ปัญหามีความอดทน ใส่ใจ และจริงใจ หลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้สามารถแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆได้เป็นอย่างดีคือ พละ ๕ และอิทธิบาท ๔ ได้แก่

พละ ๕ คือ
๑.ศรัทธา ความเชื่อมั่นความมั่นใจ
๒.วิริยะ ความพากเพียรความพยายาม
๓.สติ ความตรึกตรองความรอบครอบ
๔.สมาธิ ความใส่ใจ ความแน่วแน่
๕.ปัญญา ความรู้ความเข้าใจปรับปรุงแก้ไข
                     
อิทธิบาท ๔ คือ
๑.ฉันทะ ความรักความพอใจในงาน
๒.วิริยะ ความอดทนต่อความยากลำบาก
๓.จิตตะ ความตั้งใจจดจ่อต่องาน
๔.วิมังสา การแก้ไขปรับปรุงหาข้อบกพร่อง

        ส่วนคุณธรรมที่เสริมสำหรับให้บุคคลนั้นทำการงานได้อย่างราบรื่นโดยประสบปัญหาและอุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งทุกคนควรจะสร้างเสริมให้มีไว้ก็คือ

๑.ปัญญาพละ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหน้าที่การงาน มีความเข้าใจในกิจการงานที่ทำเป็น อย่างดี
๒.วิริยะพละ มีความบากบั่นในกิจการงาน ไม่ทอดทิ้งหรือย่อหย่อนท้อถอย
๓.อนวัชชพละ ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความสุจริต สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีข้อให้ใครติเตียนได้
๔.สังคหพละ ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงาน ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเท่าที่ทำได้


SQ (Social Quotient) ทักษะทางสังคมการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น

        เพราะมนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นเป็นสังคม สังคมใดจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วย จะต้องมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน ไม่คิดว่าตนเองเหนือกว่าใคร ต้องมีใจเปิดกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อีกทั้งต้องไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  จากสังคมเล็กๆ คือ ครอบครัว   หลายๆครอบครัวก็รวมเป็นสังคมหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านก็เป็นสังคมเมือง  หลายๆเมืองก็เป็นประเทศ   หลายประเทศก็รวมกันเป็นสังคมโลก คุณธรรมสำคัญที่ทำหน้าที่คุ้มครองสังคมโลกให้ดำรงอยู่ได้ก็คือ ธรรมโลกบาล ได้แก่
หิริ มีความละอายใจ ไม่กระทำชั่ว ไม่ทำความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น
โอตตัปปะ มีความสะดุ้งเกรงกลัวต่อผลร้ายที่จะตามมาจากการกระทำชั่วและความเบียดเบียนนั้น

        และสังคมจะถูกถักทอร้อยรัดเข้าด้วยกันก็ด้วยสายใยแห่งไมตรีซึ่งต่างมีให้แก่กันและกัน คุณธรรมที่เปรียบดังสายใยในการร้อยใจเข้าด้วยกันก็คือ สังคหวัตถุ ๔  ได้แก่

        ๑.ทาน การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือด้วยปัจจัยสี่ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจ
        ๒.ปิยวาจา พูดจาต่อกันด้วยคำสุภาพ คำไพเราะ ประกอบด้วยประโยชน์ ทำให้เกิดรักใคร่นับถือ สามัคคีกัน
       ๓.อัตถจริยา ทำตนให้เป็นประโยชน์ ขวนขวายช่วยเหลือในกิจการงาน รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหา
       ๔.สมานัตตตา ทำตัวให้เข้ากับเขาได้ วางตนให้มีความเสมอภาค ไม่เอาเปรียบ มีทุกข์ร่วมต้าน มีสุขแบ่งปัน


PQ(Phisical Quotient) ความฉลาดทางพลานามัย

        มนุษย์เราประกอบด้วยส่วนสำคัญสองส่วน คือ กาย กับ ใจ ส่วนทั้งสองถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องหรือเจ็บป่วยไป  ย่อมกระทบถึงอีกส่วนหนึ่งด้วยเสมอ  ดังนั้นจึงต้องรู้จักดูแลทั้งทางกายและใจควบคู่กันไป  หลักธรรมที่ช่วยส่งเสริมในข้อนี้คือ จักร ๔ 
        ๑.ปฏิรูปเทสวาสะ  เลือกแหล่งที่อาศัย แหล่งศึกษาเล่าเรียน ที่ทำงาน มีสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม
        ๒.สัปปุริสูปัสสยะ   เลือกคบหากับบุคคลหรือหมู่คณะที่มีคุณธรรมความรู้
        ๓.อัตตสัมมาปณิธิ  ตั้งตนมั่นอยู่ในความดีงามมีศีลธรรม ดำเนินชีวิตด้วยหลักการอันถูกต้อง ดีงาม
        ๔.ปุพเพกตปุญญตา ใช้กุศลผลบุญที่ได้กระทำสะสมมาส่งเสริมกระทำความดีให้เพิ่มยิ่งขึ้นอีก

        การที่มีเวลาได้ทำสิ่งดีงามมากขึ้นก็จักทำให้ชีวิตดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากขึ้น ดังนั้น  การมีอายุยืนเพื่อทำความดีให้ได้มากจึงเป็นสิ่งที่ดี


EQ(Emotion Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์

        ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการควบคุมตนเองไม่ให้หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ให้ก้าวร้าว อวดดี ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุขหลักธรรมที่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพ ควรน้อมนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาได้เป็นอย่างดี คือ พรหมวิหาร ๔
       ๑. เมตตา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข เพราะความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
       ๒. กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
: ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่ และความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์
: ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้ว ไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า  เจตสิกทุกข์
        ๓. มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้า   ยิ่งๆ ขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา
        ๔. อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้นและต้องปราศจาก อคติ ๔ คือ
        ๑. ฉันทาคติ..... ลำเอียงโดยสนับสนุนญาติมิตรที่ชอบพอ หรือผู้จ่ายสินจ้างแก่ตน
        ๒. โทสาคติ.....ลำเอียงเข้าข้างหรือลงโทษฝ่ายที่ตนเกลียดชังให้หนักกว่าฝ่ายที่ตนชอบพอ
        ๓. โมหาคติ.... ลำเอียงเสียความยุติธรรมเพราะโฉดเขลา ไม่รู้ทันเหตุการณ์ที่แท้จริง
        ๔. ภยาคติ....ขาดดุลย์ยอมร่วมด้วยเพราะเกรงอำนาจอิทธิพล หรือกลัวจะขาดผลประโยชน์

        มาถึงตรงนี้แต่ละท่านทราบแล้วใช่ไหมว่า มีบุคลิกภาพ แบบ"คิว" ตัวใดบ้าง? ถ้าชอบหรือถูกใจ "คิว"ตัวไหน ท่านสามารถสร้างและพัฒนาขึ้นให้เกิดขึ้นในตัวได้ นี่คือความโชคดีที่สุดที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาและได้ศึกษาคำสอนที่เกิดจากปัญญาความรู้แจ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งธรรมะของพระพุทธองค์ เป็น อกาลิโก คือไม่จำกัดกาล ไม่ล้าสมัย ผู้ใดได้ฝึกฝน พากเพียรปฏิบัติตามหลักธรรมอย่างต่อเนื่อง ย่อมได้รับความสุข ความสำเร็จ และเป็นประโยชน์แก่ชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้าอย่างแน่นอนค่ะ

       

ขอบคุณข้อมูล
1.http://oknation.nationtv.tv/blog/krootamdii/2012/10/27/entry-1
2.http://iqlearningtoy.weloveshopping.com/store/article/view/ (https://goo.gl/qHxC8T)

0 ความคิดเห็น:

อุทิศบุญให้ญาติที่ตายแล้ว บุญนั้นถึงแก่ญาติในภพภูมิใด?

05:01 Mali_Smile1978 1 Comments


        เรื่องของการทำบุญอุทิศไปให้ผู้ตายนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณ ทรงรอบรู้ทุกอย่างด้วยพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์เอง  

ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการนั้นมี 
        ทาน การให้ 
        ศีล การรักษากายวาจาให้สะอาด 
        ภาวนา การอบรมจิตใจด้วยสมถะและวิปัสสนา 
        เวยยาวัจจะ การขวนขวายช่วยเหลือกิจการงานอันชอบธรรมของผู้อื่น 
        อปจายนะ กระประพฤติอ่อนน้อม 
        ปัตติทาน การให้ส่วนบุญที่ตนทำแล้วแก่ผู้อื่น 
        ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาคือชื่นชมยินดีในบุญที่ผู้อื่นกระทำแล้ว 
        ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม 
        ธัมมเทศนา การแสดงธรรม และ 
        ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง 
        ซึ่งบุญประการสุดท้ายนี้คือปัญญา ถ้าทุกคนมีปัญญารู้ทุกอย่างตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะยอมรับการทำบุญที่เหลืออีก ๙ ประการว่า เป็นสิ่งที่เป็นความจริง 

แล้วบุญมีลักษณะอย่างไร? 
บุญ คือ พลังงานอันบริสุทธิ์ มีอานุภาพยิ่งใหญ่กว่าพลังทั้งปวง เป็นเครื่องนำมาซึ่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต คุณสมบัติของบุญ คือ เก็บสะสมเอาไว้ได้ เหมือนกระแสไฟฟ้าที่สามารถชาร์จเก็บสะสมเอาไว้ในแบตเตอรี่ และยังสามารถอุทิศให้แก่ผู้ที่ละโลกไปแล้วได้ บุญมีคุณสมบัติคล้ายน้ำ คือ สามารถที่จะไหลไปได้ไกล ๆ เหมือนน้ำจากภูเขาไหลลงไปสู่ทะเลที่อยู่ไกล   แสนไกล บุญก็สามารถที่จะอุทิศให้กับผู้ที่ละโลก ไปแล้ว แม้อยู่กันคนละโลกได้

ทำบุญแล้วอุทิศให้ญาติที่ตายแล้ว เขาได้รับหรือไม่?
        ถ้าเราทำบุญ บุญก็เกิด แล้วตั้งใจอุทิศบุญไปให้แก่หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว บุญก็ส่งไปถึงเขาแล้ว แต่จะได้รับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับภพภูมิของเขาด้วย เช่น เขาเป็นคนอยู่ ยังไม่ตาย เขาจะได้เมื่อเราไปบอกให้เขารู้ เขาอนุโมทนาแล้วเขาจะได้บุญ  หรือเขาไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ยังไม่ได้รับ แต่ตัวเราผู้ทำได้บุญแล้ว บุญนั้นจะไปรอจังหวะ รอช่องอยู่ก่อน แต่ถ้าเขาไปเกิดเป็นเทวดา นางฟ้า ไปเกิดเป็นภุมมเทวา เป็นต้น หรือว่าไปเกิดเป็นเปรต หรือไปตกนรกอยู่ในยมโลก ขุมตื้นๆ ไม่ใช่ขุมลึก อย่างนี้บุญจะส่งถึงเขาเลย แต่ถ้าเขาไปตกนรกขุมลึกๆ  อย่างเช่นมหานรก บุญยังส่งไม่ถึง มันเป็นเหมือนกับคุกแบบที่ห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน ก็ส่งของเยี่ยมไปไม่ได้ บุญยังไม่ถึง แต่บุญจะไปรอจังหวะอยู่ เขาพ้นจากมหานรกเมื่อไหร่ เมื่อบุญได้ช่องจึงจะส่งผล 



           จริงอยู่สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรมที่ตนทำไว้ ใครทำดีก็ได้รับผลดี ใครทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว ไม่มีใครรับผลของกรรมแทนกันได้ แม้พวกเปรตที่สามารถรับส่วนบุญที่ญาติมิตรอุทิศไปให้จากโลกนี้ได้ ก็เพราะเปรตได้ทำบุญด้วยตนเองในข้อปัตตานุโมทนา คือชื่นชมในบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ ถ้าไม่ชื่นชมอนุโมทนาบุญก็ไม่เกิดแก่เปรต การอนุโมทนานั้นเปรตต้องทำเอง ไม่มีใครทำให้เปรตได้ พวกเราในโลกมนุษย์นี้ทำได้แต่เพียงบุญในข้อปัตติทาน คืออุทิศบุญที่ทำแล้วให้เปรตเท่านั้น ถ้าเปรตยอมรับบุญที่เราอุทิศไปให้ เขาก็จะชื่นชมอนุโมทนา เมื่อเขาชื่นชมอนุโมทนา บุญก็จะเกิดแก่เปรต 
        แต่ถ้าเปรตไม่ยอมรับหรือไม่ทราบ ไม่ได้ชื่นชมอนุโมทนา บุญก็ไม่เกิดแก่เปรต เปรตก็ยังไม่ได้รับบุญที่มีผู้อุทิศให้ เมื่อบุญไม่เกิดแก่เปรต เปรตก็ต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป แต่ถ้าบุญเกิดแก่เปรต เปรตก็จะพ้นจากความทุกข์ทรมาน บางครั้งถ้ากรรมของเปรตเบาบาง อนุโมทนาแล้วก็ พ้นจากสภาพเปรตเป็นเทวดาทันที ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีเล่าไว้ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ 
        สำหรับเทวดานั้น แม้ท่านจะมีความสุข มีอาหารทิพย์ แต่ถ้าท่านทราบว่ามีผู้คนในโลกมนุษย์นี้ทำบุญแล้วอุทิศให้ท่าน ท่านก็ยินดีรับ ถ้าท่านเป็นสัมมาทิฏฐิ ท่านก็ชื่นชมอนุโมทนาด้วย บุญในข้อปัตตานุโมทนาก็เกิดแก่ท่าน แต่การอนุโมทนาของเปรตกับเทวดานั้นต่างกัน เทวดาอนุโมทนาแล้ว สิ่งที่เทวดาจะได้ คือกำลังบุญที่มีมากขึ้น  เช่น มีรัศมีมากขึ้น มีอำนาจในภพภูมิที่ตนเองอยู่มากขึ้น หรือเสวยทิพยสมบัติได้นานขึ้น เป็นต้น



เปรตที่รับส่วนบุญได้และไม่ได้ มีอย่างไร?

        ในเปตวัตถุอรรถกถา แสดงเปรต ๔ จำพวก คือ
๑. ปรทัตตุปชีวิกเปรต เป็นเปรตที่เลี้ยงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้โดย การเซ่นไหว้ เป็นต้น
๒. ขุปปีปาสิกเปรต เป็นเปรตที่อดอยาก หิวข้าว หิวน้ำ อยู่เป็นนิจ
๓. นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นเปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
๔. กาลกัญจิกเปรต เป็นเปรตในจำพวกอสุรกาย หรือ เป็นชื่อของอสุราที่ เป็นเปรต
        ดังนั้น เปรตที่สามารถจะได้รับส่วนกุสลที่มีผู้อุทิศให้นั้น ได้แก่ ปรทัตตุปชีวิกเปรต จำพวกเดียวเท่านั้น เพราะเปรตจำพวกนี้โดยมากอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กับมนุษย์ ถึง กระนั้นก็จะต้องรู้ว่าเขาแผ่ส่วนกุสลให้ จึงจะสามารถรับได้ด้วยการอนุโมทนา ถ้าไม่รู้ไม่ได้อนุโมทนา ก็ไม่ได้รับส่วนกุสลนั้นเหมือนกัน
        เมื่อเปรตอนุโมทนาแล้ว นอกจากบุญจะเกิดแก่เปรตแล้ว เปรตยังได้รับข้าวของอันสมควรแก่ฐานะของเปรต ตรงตามที่ผู้อุทิศไปให้ด้วย เช่น มีผู้ถวายอาหารแล้วอุทิศให้เปรต เปรตอนุโมทนาแล้ว ได้บุญในข้อปัตตานุโมทนาแล้ว ยังได้รับอาหารอันสมควรแก่ฐานะของเปรตด้วย ทำให้เปรตอิ่มหนำสำราญ พ้นจากความหิวโหย หรือเราถวายผ้า เปรตก็จะได้รับผ้าทิพย์ปกปิดร่างกาย ทำให้พ้นจากสภาพเปลือยกายได้ เราถวายน้ำแล้วอุทิศให้ เปรตก็ได้ดื่มน้ำทิพย์พ้นจากความหิวกระหายด้วยอำนาจของการอนุโมทนา ดังเรื่องในอดีตของพระเจ้าพิมพิสารที่พระองค์ทรงถวายทาน มีภัตตาหาร ผ้า ที่นั่ง ที่นอน เป็นต้น แก่ทักขิไนยบุคคล มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วทรงอุทิศให้แก่หมู่ญาติ (อ่านเรื่องราวได้ที่ http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=90)



        จะเห็นว่า บุญสามารถอุทิศให้กันได้ ถ้าไม่แบ่งบุญ ญาติที่ล่วงลับไปแล้วก็ไม่มีโอกาสได้ส่วนบุญกับเรา พระพุทธองค์จึงทรงสอนเหล่าพุทธบริษัทให้รู้จักการอุทิศส่วนบุญให้หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเราให้เขาได้มีส่วนแห่งบุญ แทนที่บุญจะหมดไป แต่กลับกลายเป็นได้บุญ  เพิ่มขึ้น เหมือนต่อแสงเทียนให้สว่างยิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยเริ่มจากตัวผู้อุทิศส่วนกุศลซึ่งเป็นดวงที่หนึ่ง ขยายต่อไปเป็นสองดวง สามดวง สิบดวง ร้อยดวง พันดวง ยิ่งต่อไปมากเท่าไรก็ยิ่งสว่างไสวเพียงนั้น 
        โดยเฉพาะหลังออกพรรษา ช่วงเทศกาลทอดกฐิน เราจะได้โอกาสสั่งสมบุญที่มีอานิสงส์มาก ทำบุญแล้วปลื้มปีติ ก็ย่อมปรารถนาที่จะแผ่อุทิศบุญให้แก่หมู่ญาติที่จากไปแล้ว ปรารถนาให้เขามีความสุขเช่นกัน 
        โดยหลักให้ทำใจใส ๆ นึกถึงชื่อหรือรูปร่างหน้าตาของหมู่ญาติหรือบุคคลที่เราต้องการแผ่ส่วนบุญชนิดจำเพาะเจาะจงให้ แต่จะอุทิศส่วนกุศลโดยรวม ๆ ก็ได้ว่า... อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ   ญาตโย ขอผลบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย  ของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงประสบความสุขด้วยเถิด...


ขอบคุณข้อมูล
1.http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=90
2.http://84000.org/tipitaka/book/nana.php?q=47
3.http://www.abhidhamonline.org/aphi/p5/006.htm
4.http://www.kalyanamitra.org/th/uniboon_detail.php?page=2265
5.https://www.youtube.com/watch?v=kWrXqKE6bow

1 ความคิดเห็น:

หัวใจรักภักดีของหญิงชรา "ดอกไม้จากหัวใจ”

22:04 Mali_Smile1978 34 Comments

ที่มาภาพ: https://goo.gl/6qisqD


“พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดของประเทศ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยทุกคน และทรงมีพระมหา กรุณาธิคุณต่อประเทศชาติของเราเป็นล้นพ้น ดังนั้นการที่ได้มีโอกาสทำงานถวายพระองค์โดยตรงเช่นนี้ นับเป็นเกียรติอันสูงสุด และนับว่าเป็นบุญอย่างยิ่งของผมและเจ้าหน้าที่ทุกคนในสภาพัฒน์”

ทรงงานอย่างหนัก... ทรงเสียสละเพื่อช่วยประชาชนในถิ่นทุรกันดาร

       โดยส่วนตัวผมเอง ผมมีประสบการณ์ที่ถือว่าเป็นบุญของผมที่ได้มีโอกาสเห็นการทรงงานอย่างหนักและทรงเสียสละของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงเข้าถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร นั่นคือในระหว่างที่ผมเตรียมตัวออกบวช ผมได้มีโอกาสเดินทางไปพักอาศัยอยู่ตามวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนก่อนตัดสินใจว่าจะบวชที่วัดใด ซึ่งหนึ่งในวัดที่ผมได้ไปอาศัยอยู่ ก็คือวัดถ้ำอภัยทรงธรรมของท่านอาจารย์วัน อยู่ที่อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งวัดนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเขตยุทธศาสตร์ และเป็นรอยต่อระหว่างเทือกเขาภูพานและภูเรือต่อกับพื้นที่ราบที่เรียกว่าพื้นที่สีแดง และขณะนั้นก็ยังมีการต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายบ้านเมืองเป็นประจำ

        ในขณะที่ผมนั่งทำวัตรอยู่ตอนกลางคืนก็ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ แล้วก็มีแสงไฟวูบวาบเข้ามาในบริเวณวัด ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา หลังจากทรงตรวจพื้นที่และเยี่ยมประชาชนแล้ว ได้เสด็จฯ มาเยี่ยมท่านอาจารย์วันต่อโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ใดทราบ พระองค์ทรงร่วมกับท่านอาจารย์วันซึ่งเป็นพระที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ในการวางแผนสนับสนุนให้วัดเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน ซึ่งในขณะนั้นชาวบ้านในแถบนั้นมีฐานะยากจนและลำบากมาก ซึ่งผมยังคงจำได้ดีว่าในระยะไม่ห่างจากวัดเท่าไร มีสถานีตำรวจที่ถูกผู้ก่อการร้ายเผาและยังมีควันไฟคุกรุ่นอยู่ แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงหวาดหวั่นต่อภยันอันตรายแม้แต่น้อย   

        จึงเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ทรงเข้าถึงได้หมด จึงนับเป็นโชคดีของประเทศไทยที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเสียสละ และทรงงานอย่างหนักเพื่อเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง

ข้อมูลบางตอนจากบทสัมภาษณ์ ดร.เสนาะ อูนากูล
อดีตรองนายกรัฐมนตรี
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


“ดอกไม้จากหัวใจ”


        ที่นครพนม บนเส้นทางรับเสด็จตรงสามแยกชยางกูร-เรณูนคร บ่ายวันที่ ๑๓ พ.ย. ๒๔๙๘ อาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ ได้บันทึกภาพในวินาทีสำคัญที่กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งของประเทศ  ภาพที่พูดได้มากกว่าคำพูดหนึ่งล้านคำ


        วันนั้น หลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารเสร็จสิ้นในช่วงเช้าแล้ว ทั้ง ๒ พระองค์ได้เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งกลับไปประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ราษฎรที่รู้ข่าวก็พากันอุ้มลูก จูงหลานหอบกันมารับเสด็จที่ริมถนนอย่างเนืองแน่น ดังเช่นครอบครัว จันท์นิตย์ ที่ลูกหลานช่วยกันนำ แม่ตุ้ม จันทนิตย์ วัย ๑๐๒ ปี ไปรอรับเสด็จ ณ จุดรับเสด็จห่างจากบ้าน ๗๐๐ เมตร โดยลูกหลานได้จัดหาดอกบัวสายสีชมพูให้แม่เฒ่าจำนวน ๓ ดอก และพาออกไปรอที่แถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่สุด

        เปลวแดดร้อนแรงตั้งแต่เช้าจนสาย เที่ยงจนบ่าย แผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย แต่หัวใจรักภักดีของหญิงชรายังเบิกบาน เมื่อเสด็จฯ มาถึงตรงหน้า แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้นขึ้นจบเหนือศีรษะแสดงความจงรักภักดี อย่างสุดซึ้ง พระเจ้าแผ่นดินทรงโน้มพระองค์อย่างต่ำที่สุด จนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า ทรงแย้มพระสรวลอย่างเอ็นดู พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชราชาวอีสานอยางอ่อนโยน


        เป็นคำบรรยายเหมือนไม่จำเป็น สำหรับภาพที่ไม่จำเป็นต้องบรรยาย ไม่มีใครรู้ว่าทรงกระซิบคำใดกับแม่เฒ่า แต่แน่นอนว่าแม่เฒ่าไม่มีวันลืม 

        เช่นเดียวกับที่ในหลวงไม่ทรงลืมราษฎรคนสำคัญที่ทรงพบริมถนนวันนั้น หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า “หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ แล้ว ทางสำนักพระราชวังได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม พร้อมทั้งพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนมให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก”  พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ อาจมีส่วนชุบชูชีวิตให้แม่เฒ่ายืนยาวขึ้นอีกด้วยความสุขต่อมาอีกถึงสามปีเต็มๆ แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ราษฎรผู้โชคดีที่สุดคนหนึ่งในรัชกาลที่ ๙ สิ้นอายุขัยอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่ออายุได้ ๑๐๕ ปี

ข้อมูลจาก “แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์” 
ภาคพิเศษโดย คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ วารสารไทย 


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
1.http://www.obec.go.th/sites/obec.go.th/files/document/attachment/17892/183228.pdf
2.https://goo.gl/bgSZwk

34 ความคิดเห็น:

พระอัจฉริยภาพทางดนตรี...ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง

03:38 Mali_Smile1978 0 Comments


       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา  “อัครศิลปิน”

       ความสุขของปวงประชา คือความสุขของพระมหากษัตริย์ นี่คือลักษณะพิเศษของกำเนิดและพระราชประวัติด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผลแห่งพระปรีชาสามารถด้านดนตรี หาใช่ความไพเราะของทำนองเพลงและคำร้องของบทเพลงพระราชนิพนธ์เท่านั้นไม่ แต่เป็นศิลปะแห่งการผสานความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระมหากษัตริย์พระองค์นี้กับประชาชนชาวไทยด้วย

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่า แซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่างๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค เป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟน สอดแทรกกับแผ่นเสียงของ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี เช่น Johnny Hodges และ Sidney Berchet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญ สอดแทรกกับแผ่นเสียง ของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรี ร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์


       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก และจนถึงปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ทุกเพลงล้วนมีทำนองไพเราะประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อร้อง ซึ่งมีคตินานัปการ และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ในยามที่บ้านเมืองไม่สงบสุข ก็พระราชทานเพลงปลุกใจ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่ ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และประชาชน ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ มิให้เกิดความย่อท้อในการทำความดี ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อตนเองและสังคม

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ดนตรีให้เป็นประโยชน์ทางอ้อมในหลายด้าน อาทิ ทรงใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์กับนิสิตนักศึกษา โดยเสด็จ ฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่นาน กว่า ๑๐ ปี

       ในคราวเสด็จเยือนต่างประเทศ ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อ กระชับสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศกับนานาประเทศได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พระปรีชาสามารถด้านดนตรี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศ

       จนกระทั่งปี พ.ศ ๒๕๐๗ สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรี
และศิลปะการแสดง) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรและสมาชิกกิตติมศักดิ์ลำดับที่ ๒๓ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมนามาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ปรากฏอยู่บนแผ่นจำหลักหินของสถาบัน ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นชาวเอเชียเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้ พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ชื่นชมไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้นนักดนตรีต่างประเทศ ทั่วโลกก็ชื่นชมและยอมรับในพระอัจฉริยภาพนี้

       นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลงและทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็น “ครูใหญ่” สอนดนตรีแก่ แพทย์ ราชองครักษ์ และ ข้าราชการผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทในช่วงที่เสด็จเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจน ข้าราชบริพารในพระองค์ซึ่งส่วนใหญ่เล่นดนตรีไม่เป็นเลย จนเล่นดนตรีเป็น และสามารถบรรเลงในโอกาสพิเศษต่างๆได้ต่อมาจึงได้เกิดแตรวง “วงสหายพัฒนา” โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหัวหน้าวง


      ในด้านดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทย และนาฏยศิลป์ไทยไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้นักดนตรีไทยช่วยกันรักษาระดับเสียงของดนตรีไทยไว้เพื่อเป็นมาตรฐานของวงดนตรีรุ่นหลัง ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือ “โน้ตเพลงไทย เล่ม ๑” เพื่อรวบรวมและรักษาศิลปะทางดนตรีไทยไว้ให้เป็นหลักฐานและมาตรฐานต่อไป และทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยบันไดเสียงของดนตรีไทย โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

       พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นสังคีตกวีแห่งราชวงศ์จักรีพระองค์นี้ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แม้ด้านดนตรีก็มิได้เว้น

       มีเรื่องเล่ากันมาว่า นักดนตรีเอกของโลกได้กล่าวถึงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีว่า หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะต้องทรงเป็นพระราชานักดนตรีของโลก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นทั้งพระมหากษัตริย์และทรงเป็นนักดนตรีได้พร้อมกัน


       เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแล้วจึงใส่คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ได้แก่ Echo, Still on My Mind, Old Fashioned Melody, No Moon และ Dream Island ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องภาษาไทย ได้แก่ เพลงความฝันอันสูงสุด และเราสู้ นอกจากนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แต่งคำร้อง ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์หลายท่าน เพลงพระราชนิพนธ์ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๙-๒๕๓๘ มี ๔๘ เพลง 

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นำในด้านการประพันธ์ทำนองเพลงสากลของเมืองไทย โดยทรงใส่คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อนทำให้เกิดเสียงประสานที่เข้มข้นในดนตรี เมื่อประกอบกับลีลาจังหวะเต้นรำที่หลากหลาย ทำให้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงบรรเลงได้อย่างไพเราะหลายบท กลายเป็นเพลงอมตะของไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังทรงมีจินตนาการสร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา
       
       นอกจากนี้ ยังทรงได้ริเริ่มให้นำเพลงสากลมาแต่งเป็นแนวเพลงไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้นาย เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มหาจุฬาลงกรณ์ มาแต่งเป็นแนวไทย บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ เพื่อนำขึ้นบรรเลงถวายแล้วก็พระราชทานชื่อว่า เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เช่นเดียวกัน นับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นจากเพลงไทยสากลตามพระราชดำริที่ทรงสร้างสรรค์

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับดนตรีแก่นักข่าวชาวอเมริกันในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกาเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๓ ความตอนหนึ่งว่า

ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคนเป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภทเพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆกันออกไป

       ทรงเห็นว่า ดนตรี นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ควรจะเป็นสื่อสร้างสรรค์ชักนำให้คนเป็นคนดีของประเทศชาติและสังคม ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ มีความตอนหนึ่งดังนี้

“...การดนตรีจึงมีความหมายสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดี ๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจจะปฏิบัติงานการก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะดึงกลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้น ดนตรีก็มีความสำคัญอย่างหนึ่งจึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่าง ๆ ว่า มีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ถูกต้องในทางหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชาของผู้ที่มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัวเพราะก็อย่างที่กล่าวว่าเพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี...”


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง:
1.www.kingramamusic.org/th/article/7_พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้า https://goo.gl/Q2sd6q
2.http//www.thaihealth.or.th/Content/21659-พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี. https://goo.gl/NK45ud 
3. ภาพจาก https://goo.gl/UvpRXw


0 ความคิดเห็น:

การประโคมย่ำยามในงานพระบรมศพหรือพระศพคืออะไร? สำคัญอย่างไร?

02:41 Mali_Smile1978 20 Comments


ความเป็นมาการประโคมย่ำยาม
       การประโคมย่ำยามเป็นราชประเพณีโบราณในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นสัญญาณให้ข้าราชการรู้กำหนดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่และการประโคมย่ำยามเวลามีพระบรมศพ หรือพระศพพระราชวงศ์ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ 
       เมื่อรัชกาลที่  ๔  โปรดให้สร้างหอนาฬิกาเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหน้าพระคลังแสง  ชั้นล่างแขวนระฆังหล่อเป็นโลหะสีแดง  มีพนักงานตีระฆังบอกเวลาเมื่อพนักงานตีระฆังจบ  พนักงานประโคมนุ่งกางเกงมัสรู่เสื้อเข้มขาบ สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดจุกเป่าแตรงอน ๒ นาย แตรฝรั่ง ๒ นาย ย่ำมโหระทึก ๑ นาย ประโคมย่ำยาม               
       สมัยรัชกาลที่  ๕  ได้รื้อหอนาฬิกาและพระคลังแสงเพื่อใช้พื้นที่สร้างพระที่นั่งบรมพิมาน ได้ย้ายระฆังมาแขวนที่ซุ้มป้อมยามประตูเหล็กเพชร ประตูทางเข้าพระที่นั่งบรมพิมาน กำหนดให้ทหารรักษาวังเป็นผู้ตีระฆังและพนักงานเครื่องสูงทำหน้าที่ประโคมย่ำยามตามราชประเพณี
       ครั้นพุทธศักราช ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ประทับรักษาพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสนาบดีวังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ระงับการตีระฆังและการประโคมย่ำยาม เพื่อมิให้เสียงดังอันจะรบกวนเบื้องพระยุคลบาท จึงเว้นการปฏิบัติแต่นั้นมา ยังมีแต่ราชประเพณีประโคมย่ำยามพระบรมศพและพระศพ

จุดประสงค์การประโคมย่ำยาม
       การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธีเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ประการหนึ่งควบคู่ไปกับการประโคมของงานเครื่องสูง
       ตามโบราณราชประเพณี การประโคมย่ำยามในงานพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพ มีจุดประสงค์เพื่อเป็นสัญญาณให้ทราบกำหนดเวลาปฏิบัติหน้าที่ แต่เดิมดนตรีที่ใช้ประโคมย่ำยามมีเฉพาะวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะอยู่ในงานเครื่องสูงของสำนักพระราชวัง 
       ประโคมย่ำยามทุก  ๓  ชั่วโมง เริ่มเมื่อ ๐๖.๐๐ น. – ๒๔.๐๐ น. รวม ๗ ครั้ง ก่อนเสียงประโคมย่ำยามจะดังขึ้น เริ่มด้วยแตรสังข์ กับปี่ไฉน กลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก ๓ ชั่วโมง คือ
       ยาม ๑ เวลา ๐๖.๐๐ น.
       ยาม ๒ เวลา๐๙.๐๐ น.
       ยาม ๓ เวลา ๑๒.๐๐ น.
       ยาม ๔ เวลา ๑๕.๐๐ น.
       ยาม ๕ เวลา๑๘.๐๐ น.
       ยาม ๖ เวลา ๒๑.๐๐ น.
       ยาม ๗ เวลา ๒๔.๐๐ น.
       ประโคมย่ำยามทุกวันจนครบกำหนดไว้ทุกข์  ๑๐๐  วัน  ๒  เดือน  ๑  เดือน  ๑๕  วัน  ๗  วัน  ตามพระเกียรติยศพระบรมศพหรือพระศพ
       การประโคมย่ำยามพระบรมศพพระมหากษัตริย์เครื่องประโคมประกอบด้วย มโหระทึก ๒ ปี่ ๒ สังข์ ๑ แตรงอน ๘ แตรฝรั่ง ๘ เปิง ๑ และกลองชนะ ๒๐ ถ้าเป็นพระศพไม่มีมโหระทึก

ปี่พาทย์นาางหงส์
       การบรรเลงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์นางหงส์แต่เดิมเป็นวงที่บรรเลงในงานศพสามัญชนต่อมานำมาบรรเลงในงานสวดพระอภิธรรมศพเจ้านายและตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระศพ 
       การนำปี่พาทย์นางหงส์มาบรรเลงในพิธีหลวงมีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์ของกรมศิลปากรเข้ามาร่วมประโคมในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๘ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก กลองทัด และฉิ่ง โดยบรรเลงสลับต่อจากการประโคมย่ำยามของงานเครื่องสูงของสำนักพระราชวัง

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้ 

       วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม "เพลงสำหรับบท" จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น 


       วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง "ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม" จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น



       วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง "ประโคมเพลงชุดนางหงส์" 



       เมื่อประโคม ครบทั้ง ๓ วงแล้ว ก็ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม ๑ ครั้ง


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
1.http://download.clib.psu.ac.th/datawebclib/exhonline/crematory/page16playmusical.html
2.https://sites.google.com/site/princessbejaratanarajasuda/kar-sinphrachnm/kar-prakhom-ya-yam
3.http://www.vcharkarn.com/vcafe/156549
4.ภาพ https://goo.gl/DGgaoO

20 ความคิดเห็น:

เครื่องสังเค็ดในงานพระเมรุ ที่ทุกงานจำเป็นต้องมี

04:40 Mali_Smile1978 0 Comments

       
ที่มาภาพ: https://goo.gl/KdXpJD


       สังเค็ด เป็นชื่่อเรียกสิ่งของที่จัดทำเป็นพิเศษสำหรับถวายพระสงฆ์ในงานเผาศพโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จะเป็นของที่หนักหรือครุภัณฑ์แข็งแรงทนทาน คล้ายเป็นของที่ระลึกในงานเผาศพนั้นๆ เช่น ตู้หนังสือ โต๊ะเขียนหนังสือ ตั่งเตียง โต๊ะหมู่ ธรรมาสน์เล็ก เป็นต้น
        คำว่าเครื่องสังเค็ดเป็นคำโบราณ มีความหมายว่า "ของชำร่วย" แต่เรียกว่า "ของที่ระลึก" ในงานอวมงคล

       สังเค็ด คือ ทานวัตถุที่ถวายแก่สงฆ์ที่มาเทศน์หรือสวดบังสุกุลเมื่อเวลาปลงศพ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ทานวัตถุนั้นอาจเป็นตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง หรือข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ประเพณีทำสิ่งของถวายพระนี้ถือตามประเพณีไทยแต่เดิม เมื่อผู้ใดตาย ของใช้ประจำตัวผู้ตายอย่างที่นอน หมอน มุ้ง เสื้อผ้า ฯลฯ มักไม่เก็บให้คนอื่นในบ้านใช้ต่อไป หากพอจะถวายพระได้ก็ถวายไป ถ้าเห็นว่าถวายไม่ได้อาจให้ทานแก่คนยากจน แม้กระทั่งเรือนของผู้ตาย บางครอบครัวอาจรื้อถวายวัดไปด้วย สำหรับผู้มีอันจะกิน

       นอกจากข้าวของส่วนตัวของผู้ตายแล้ว อาจอุทิศสิ่งของเพิ่มเติม เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง สมทบไปด้วย เพื่ออุทิศให้ผู้ตายมีเครื่องใช้ไม้สอยบริบูรณ์ และเป็นการได้บุญแก่ผู้อยู่ เพราะฉะนั้นข้าวของต่าง ๆ ที่อุทิศในงานปลงศพจึงล้วนเป็นสังเค็ดหรือเครื่องสังเค็ดทั้งสิ้น 

       สังเค็ด นิยมจัดถวายในงานเผาศพหรืองานออกเมรุเจ้านายและพระเถระผู้ใหญ่ที่มีผู้เคารพนับถือมาก และจัดถวายเฉพาะแก่พระผู้ใหญ่ที่อาราธนามาเทศน์บ้าง พิจารณาผ้ามหาบังสุกุลบนเมรุบ้าง


เครื่องสังเค็ด งานพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 
       ตามพระราชประเพณีโบราณ ภายหลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพ เสร็จสิ้นลง พระเมรุมาศ หรือพระเมรุส่วนที่ถวายเพลิงจะถูกรื้อนำไปสร้างพระอาราม เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศล ในอดีตดังเช่นงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นำพระเมรุไปสร้างเป็นโรงพยาบาลศิริราชมาจวบปัจจุบัน เพื่อเป็นสิ่งระลึกถึงพระกรุณาธิคุณ

       นอกจากนี้ ในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพ จำต้องมี "เครื่องสังเค็ด" หรือของที่ระลึกในทุกครั้ง 
       อาจารย์ณัฏฐภัทร จันทวิช นักโบราณคดี ๑๐ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ให้ข้อมูลเรื่องเครื่องสังเค็ดในโบราณราชประเพณี ว่า เดิมจะอยู่ในริ้วขบวนพระราชพิธีฯ เป็นลำดับแรก โดยมีสัตว์หิมพานต์มงคลต่างๆ ประมาณ ๒๐ คู่ เช่น กินนร กินรี อัปสร สิงหะ ช้าง สิงห์ แรด และระมาด อยู่ในริ้วขบวน หลังสัตว์หิมพานต์เหล่านี้จะมีบุษบกสำหรับใส่เครื่องสังเค็ด เครื่องอภัยทาน เครื่องน้ำหอม น้ำกุหลาบ น้ำกระแจะจันทน์ สำหรับใช้สรงพระศพที่พระเมรุ 

       เมื่อริ้วขบวนเคลื่อนถึงยังแนวรั้วราชวัติ สัตว์หิมพานต์จะถูกทิ้งไว้รอบๆ แนวรั้วราชวัติ ส่วนเครื่องต่างๆ ที่อยู่ในบุษบกจะนำลง แต่ปัจจุบันส่วนนี้ถูกตัดออกไป ไม่มีในริ้วขบวน

       เครื่องสังเค็ดในงานพระเมรุ "สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" สำนักพระราชวังจัดเครื่องสังเค็ด ประกอบด้วย 


ตู้สังเค็ด

"ตู้สังเค็ด" 
       บรรจุหนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชนและหนังสืออื่นๆ จำนวน ๓๐ ชุด สำหรับถวายพระอารามหลวง ๓๐ พระอาราม ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดเทพศิรินทราวาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดอรุณราชวราราม วัดราชาธิวาส วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดราชโอรสาราม วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดสุวรรณดาราราม 
วัดพระศรีมหาธาตุ วัดพระปฐมเจดีย์ วัดสระเกศ วัดอนงคาราม วัดพิชัยญาติ วัดปทุมวนาราม วัดชนะสงคราม วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ วัดสัมพันธวงศ์ วัดสุวรรณาราม วัดโพธิ์แมน (วัดจีน) วัดกุศลสมาคร (วัดญวน) วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ วัดตำหนักใต้ วัดบางไส้ไก่ และวัดแคนอก


       ตู้สังเค็ดเป็นตู้ไม้สี่เหลี่ยมทาสีน้ำตาลแดง มีขาสำหรับรองรับน้ำหนัก ๔ ขา ขนาดกว้าง ๘๒ เซนติเมตร ลึก ๔๑ เซนติเมตร สูง ๑๒๖ เซนติเมตร ขอบตู้ด้านล่างส่วนที่ติดกับขาตู้ประดับไม้แกะสลักลายปิดทอง ตัวตู้สังเค็ดเปิดด้านหน้าด้วยบานกระจก ๒ บาน ผนังตู้แต่ละด้านกรุกระจกใส หน้ากระดานประดับพระนามย่อ "กว" รูปหยดน้ำ


สามหาบ
"สำรับภัตตาหารสามหาบ" 
       ใน ๑ ชุด ประกอบด้วย โตกใหญ่ (เครื่องคาว) โตกกลาง (เครื่องหวาน) และโตกเล็ก สำหรับถวายพระสงฆ์ที่รับสำรับภัตตาหารสามหาบ ๖ วัด ได้แก่ วัดสระเกศ วัดชนะสงคราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 


ย่ามที่ระลึก
"พัดรองที่ระลึก ผ้ากราบและย่าม (สีดำ)" 
       จัดทำ ๑๗๕ ชุด ถวายพระเทศน์ พระสวดศราทธพรต บรรพชิตจีนและญวน พระสงฆ์สดับปกรณ์ และถวายพระพิธีธรรม ทั้งสิ้น ๑๐ วัด ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดราชสิทธาราม วัดระฆังโฆสิตาราม วัดอนงคาราม วัดประยุรวงศาวาส วัดสระเกศวรวิหาร วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และวัดสุทัศนเทพวราราม 
       โดยพัดรองที่ระลึกสีดำมีพื้นกำมะหยี่ดำขอบกุ๊นผ้าสีแดง รวมถึงผ้ากราบและย่าม (สีดำ) จะถวายในงานพระราชกุศลออกพระเมรุ


พัดรอง

"พัดรองที่ระลึก ผ้ากราบและย่าม (สีแดง)" 
       จัดทำ ๔๕ ชุด สำหรับถวายพระสวดพระพุทธมนต์ พระเทศน์ พระรับอนุโมทนา และพระสดับปกรณ์ โดยพัดรองที่ระลึกสีแดงมีพื้นกำมะหยี่แดงขอบกุ๊นผ้าสีดำหรือน้ำเงินเข้ม รวมถึงผ้ากราบและย่าม (สีแดง) จะถวายในงานพระราชกุศลพระอัฐิ

       นอกเหนือจากเครื่องสังเค็ดที่ออกโดยสำนักพระราชวัง ทางมหาเถรสมาคมได้ถวายพระไตรปิฎกภาษาบาลีและภาษาไทย รวม ๙๐ เล่ม พร้อมตู้ เป็นเครื่องสังเค็ด โดยเสด็จพระราชกุศลจำนวน ๓๐ ชุด ตามจำนวนเครื่องสังเค็ดที่สำนักพระราชวังจัดสร้าง

       อาจารย์ณัฏฐภัทรให้รายละเอียดด้วยว่า เครื่องสังเค็ดในงานพระเมรุ ที่ทุกงานจำเป็นต้องมี คือ พัดรองที่ระลึกสำหรับถวายพระสงฆ์ ลักษณะใกล้เคียงกับตาลปัตร แต่ใช้เฉพาะงานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดให้เรียกว่า "พัดรอง" และเป็นที่น่าสังเกตว่า เครื่องสังเค็ดที่มอบให้วัดต่างๆ จะพระราชทานไม่ยกเว้นแต่ศาสนาพุทธเท่านั้น ศาสนาอื่นที่มีศาสนสถานที่สำคัญก็จะได้รับพระราชทานเครื่องสังเค็ดเช่นกัน ดังในงานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานเชิงเทียนให้แก่โบสถ์คริสต์ และพระราชทานกระถางธูปให้วัดจีนที่สำคัญ

       ธรรมเนียมนิยมการสร้างถวายเครื่องสังเค็ด เริ่มขึ้นหลังจากงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา โดยเครื่องสังเค็ดจะถวายไปยังวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ธรรมาสน์เทศน์ ธรรมาสน์สวด หนังสือปาติโมกข์พร้อมตู้ เทียนสลักพร้อมตู้ลายทอง หีบใส่หนังสือสวด หนังสือเทศน์ พัดรอง ย่าม ผ้ากราบ และภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ของสงฆ์

       การจัดทำของที่ระลึกในงานพระเมรุมาศ หรืองานพระเมรุ นอกจากจะมีขึ้นสำหรับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังแพร่หลายลงมาในระดับประชาชน จนเป็นประเพณีปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้  


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง:
1. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000133834
2. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=350311
3. http://www.sarakadee.com/knowledge/2005/01/ doyouknow_1.htm
4. http://www.kalyanamitra.org/daily/data11_47/kamwat_ 26_11_04. html


0 ความคิดเห็น:

ได้อะไรเมื่อย้อนรำลึกเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ในแง่กฎแห่งกรรม?

07:07 Mali_Smile1978 0 Comments

 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มาภาพ: https://goo.gl/1IrrqA
      6 ตุลาคม 2519 จะลบอย่างไรก็ไม่มีใครลืม
      การเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งใช้เวลายึดอำนาจติดต่อกันยาวนานเกือบ 15  ปี นำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงของนักเรียน  นักศึกษา และประชาชนมากกว่าห้าแสนคนจนเกิดเหตุการณ์ 14  ตุลาคม  2516 ที่ทหารใช้อาวุธเข้าปราบปรามฆ่าฟันนักศึกษาประชาชนบาดเจ็บ ล้มตาย และสูญหาย ได้จุดไฟการเรียนรู้เรื่องการเมืองและประชาธิปไตยขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคม

      แต่การเรียนรู้ที่สร้างสำนึกทางการเมืองและสิทธิเสมอภาคร่วมกันของประชาชน กลับถูกอำนาจซึ่งหวั่นไหวต่อการเสียสถานะและผลประโยชน์ที่ครอบงำยึดครองมาเบ็ดเสร็จ หาทางทำลายล้างการให้ร้ายป้ายสี และปลุกระดมความเกลียดชัง ด้วยการยัดเยียดอวิชชาความเชื่อที่ปกปิดปัญญาจากการเรียนรู้ จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ กระทั่งสบโอกาสปิดล้อมกลุ้มรุมสังหารนักศึกษาประชาชนผู้รักชาติบ้านเมืองรักประชาธิปไตย อีกครั้ง เป็นเหตุการณ์อัปยศ 6 ตุลาคม 2519 (http://www.matichon.co.th/news/311136)

      การปราบและฆ่าผู้มีความคิด ความเห็นต่าง ฆ่าแล้วทำให้บ้านเมืองสงบขึ้นหรือ? ฆ่าแล้วทุกอย่างจบหรือ? นี้คือวิสัยทัศน์ของการแก้ปัญหาของผู้มีวัฒนธรรมหรือ? 



      ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา ชาวไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่บรรพบุรุษจวบจนถึงปัจจุบัน มีความเชื่อว่าชาตินี้มีจริง ชาติหน้ามีจริง ตายแล้วไม่สูญ วิบากกรรมดีกรรมชั่วมีจริง พระอรหันต์ผู้สามารถรู้แจ้งโลกนี้โลกหน้ามีอยู่จริง เป็นต้น

      วันนี้นับเป็นวันรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันอัปยศของชาติไทย ที่เกิดการสังหารหมู่ คงไม่ไปเจาะลึกว่าใครบงการเบื้องหลังของการฆ่า ทำไมถึงใช้กำลังรุนแรง กำลังอาวุธจนทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย แต่วันนี้เราจะมาศึกษาบทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ในแง่กฎแห่งกรรม เรื่องวิบากกรรมของการฆ่า (สัตว์ที่มีลมปราณทุกประเภท) นับว่าจะได้ประโยชน์อีกแง่มุมหนึ่งและเป็นการย้อนดูประวัติศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อได้ตอกย้ำสัมมาทิฏฐิและหิริโอตตัปปะในใจของเราให้ทับทวียิ่งขึ้น และขอภาวนาว่าอย่าให้มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ตอกย้ำแผลเดิม เกิดเหตุกการณ์เลวร้ายเยี่ยงนี้ในเมืองไทยอีกเลย




      ศีล คือ มนุษยธรรมอันมีอยู่ตลอดกาล เพื่อให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

      การรักษาศีล นำมาซึ่งความสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงามทุกประการเป็นความดีงามที่ยั่งยืน และเผื่อแผ่กว้างขวางสร้างสันติสุขให้กับโลกได้ ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ  ในชีวิต อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีปัญหาใด ๆ ในโลก ที่ศีลไม่อาจแก้ไขได้ 

      การรักษาศีล สามารถทำได้โดยง่าย เพียงขอให้มีใจที่ดีงามเท่านั้นเป็นการทำบุญที่ใจ อาศัยใจที่เข้มแข็ง อดทน มั่นคงในความปารถนาดีต่อตนเองผู้อื่น ผู้ที่รักษาศีลจึงได้บุญได้อานิสงส์ อย่างมหาศาล

                                                     มะลิ สไมล์

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง: 
1. https://www.youtube.com/watch?v=F-QYnz0iHvg.
2. http://www.matichon.co.th/news/311136.
3. พระมหาสุวิทย์ วิชเชสโก ป.ธ.9. ศีล  เป็นที่ตั้งแห่งความดีงาม. 

0 ความคิดเห็น: