พระอภิธรรมทำนองหลวง สวดอย่างไร? หลายคนไม่คุ้นหู ไม่รู้จัก

06:06 Mali_Smile1978 0 Comments

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/G9WNhn 

        เหตุที่ต้องมีการสวดพระอภิธรรมนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้รจนาไว้ว่า ในพรรษาที่ ๗ สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จไปแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อาศัยพระพุทธกตัญญูกตเวทิตาธรรมเป็นคติธรรม บุรพชนไทยจึงกำหนดให้มี "การสวดพระอภิธรรมในงานศพ"
        หลายท่านที่รับฟังพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ คงจะสังเกตได้ว่า เสียงของการสวดนั้นแปลกหูกว่าการสวดตามงานศพทั่วไป ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการสวดพระอภิธรรมในพระราชวังนั้น จะสวดคนละทำนองกับของประชาชนทั่วไป เรียกว่า "ทำนองหลวง"
        ตามจารีตนิยมที่ถือสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ยอมรับทุกยุคทุกสมัย ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล ในพิธีการต่างๆ จะต้องอาราธนาพระสงฆ์ผู้อุปสมบท ประพฤติปฏิบัติตนตามหลักพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกที่รองรับวัตถุทานอันผู้มีศรัทธาบริจาคเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ตนและหมู่ญาติ ตลอดจนหมู่ชนทั้งหลายผู้ล่วงลับจากโลกนี้ไปแล้ว
        “ พระพิธีธรรม ” เป็นตำแหน่งของพระสงฆ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดให้พระราชาคณะผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในพระอารามหลวงคัดเลือกพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอารามนั้นๆ ทำการฝึกหัดสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โดยใช้ทำนองสวดจะต่างไปจากทำนองสวดศพบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นทำนองร้อยแก้ว หรือไม่ก็เป็นทำนองสังโยค 
        พระอารามหลวงทั้ง ๑๐ แห่ง ที่มีการแต่งตั้งพระพิธีธรรมมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ คือ ๑. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ๒. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ๓. วัดสุทัศนเทพวราราม ๔. วัดจักรวรรดิราชาวาส ๕. วัดสระเกศ ๖. วัดระฆังโฆสิตาราม ๗. วัดประยุรวงศาวาส ๘. วัดอนงคาราม ๙. วัดราชสิทธาราม ๑๐. วัดบวรนิเวศวิหาร
        พระพิธีธรรม คือ พระสงฆ์จำนวน ๔ รูป ในพระอารามหลวง ๑๐ แห่งดังกล่าว ที่เจ้าอาวาสมอบหมายให้เป็นผู้สวดพระอภิธรรม ทำนองหลวง ปกติแต่ละพระอารามจะมีพระพิธีธรรม ๑ สำรับ (๔ รูป) แต่ในทางปฏิบัติจะมีการจัดพระสงฆ์ สำรองไว้ ๑ สำรับ เพื่อไว้แทนสำรับหลักของพระอารามในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้



         พระพิธีธรรมจะสวดพระอภิธรรมในทำนองหลวง ซึ่งมีลักษณะคล้ายการสวดมหาชาติคำหลวง คือสวดเป็นทำนอง มีเม็ดพรายในการสวดที่แตกต่างกันไปทั้งหลบเสียง เอื้อนเสียง ลีลาในการสวดพระอภิธรรมจะเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละวัด ในปัจจุบันนี้ การสวดพระอภิธรรมแบบหลวงมี ๔ ทำนอง คือ

๑) ทำนองกะ แยกเป็น ๒ ลักษณะ คือ กะเปิด เป็นการสวดที่เน้นการออกเสียงคำสวดชัดเจน และกะปิด เป็นการสวดที่เน้นการสวดเอื้อนเสียงยาวต่อเนื่องกันตลอดทั้งบท ไม่เน้นความชัดเจนของคำสวด วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
๒) ทำนองเลื่อนหรือทำนองเคลื่อน ได้แก่ การสวดที่ว่าคำไม่เน้นความชัดเจนของคำสวด และเอื้อนเสียงทำนองติดต่อกันไปโดยไม่ให้เสียงขาดตอน วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดระฆังโฆสิตาราม
๓) ทำนองลากซุง ได้แก่ การสวดที่ต้องออกเสียงหนักในการว่าคำสวดทุก ๆ ตัวอักษรเอื้อนเสียงทำนองจากหนักแล้วจึงแผ่วลงไปหาเบา วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
๔) ทำนองสรภัญญะ ได้แก่ การสวดที่ว่าคำสวดชัดเจนและมีการเอื้อนทำนองเสียงสูง-ต่ำไปพร้อมกับคำสวดนั้น ๆ วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร
 
ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/Tt8ZsP

        
        บทสวดพระอภิธรรม จะใช้บทมหานมัสการ บทพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ และบทพระธรรมใหม่ ซึ่งเป็นบทพระบาลีที่เป็นบทพระธรรมจริงๆ และเป็นภาษาอินเดียโบราณซึ่งฟังเข้าใจยาก สำหรับท่านที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ในด้านนี้ บทพระธรรมที่ใช้สวดนั้น โดยบทพระธรรมใหม่ ได้แก่บทสวดที่ขึ้นต้นด้วยบทว่า อาสวา ธมฺมา.... และ สญฺโญชนา ธมฺมา...ใช้สวดคู่กับบทพระธรรม ๗ คัมภีร์ซึ่งเป็นของเดิม คือ
๑. บทธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ แล้วแยกเป็นธรรมเป็นกุศล ธรรมเป็นอกุศล และธรรมเป็นอัพพยากฤต(ธรรมที่ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล และธรรมที่ไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล)
๒. บทวิภังค์ ว่าด้วยธรรมที่แยกกันเป็นข้อๆ เช่น ขันธ์ ๕ แยกออกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ
๓. บทธาตุกถา ว่าด้วยธรรมจัดระเบียบความสัมพันธ์โดยถือธาตุเป็นหลัก เช่น ธรรมที่สงเคราะห์เป็นหมวดกันได้และไม่ได้
๔. บทปุคคลกถา ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ชนิด แสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติอันเกี่ยวกับบุคคล
๕. บทกถาวัตถุ ว่าด้วยคำถาม คำตอบในหลักธรรมประมาณ ๒๑๙ หัวข้อ เพื่อถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรม
๖. บทยมกะ ว่าด้วยธรรมที่รวบรวมแสดงเป็นคู่ๆ เช่น ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นมีเหตุเป็นอันเดี่ยวกันกับกุศลใช่ไหม?
๗. บทปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือ สิ่งที่เกื้อกูลสนับสนุนกันให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น




       
        พระสงฆ์ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพระพิธีธรรม เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นผู้มีวิริยะอุตสาหะในการฝึกซ้อมสวดพระอภิธรรมทำนองหลวง และทรงจำลีลาการสวดตามแบบที่บุรพาจารย์ในพระอารามได้กำหนดไว้ เพราะการสวดพระอภิธรรมทำนองหลวงจะไพเราะและยังความศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ ย่อมเกิดจากการสวดที่พร้อมเพรียงกัน มีสามัคคี แห่งเสียงที่รวมเป็นหนึ่ง จังหวะเอื้อนเสียง หยุดหายใจ จะพรักพร้อมตลอดการสวด ไม่ช้าไม่เร็วเกินไป



        พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถวายพระศพหรือแก่ศพในพระบรมราชานุเคราะห์ ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรนอบนำจิตมาไว้ภายในตัว ประคองจิตให้สงบเป็นสมาธิ ขณะฟังสวดพระอภิธรรม แสดงถึงความเคารพต่อพระธรรม ท่านทั้งหลายย่อมได้รับอานิสงส์แห่งการฟังธรรมตามกาล ย่อมประสบความสุข ความเจริญ เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตสืบไป


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
1.http://www.watrakang.com/pitetham.php
2.https://www.facebook.com/dr.sinchai.chaojaroenrat/posts/1253064868072360:0
3.http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9510000012939
4.ภาพจาก https://goo.gl/G9WNhn 
5.https://goo.gl/V27n7Q

0 ความคิดเห็น: