อะไรคือความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ และจะทำให้เกิดความสุขเช่นนั้นได้อย่างไร
เรียนรู้เรื่องศาสนา จากปัญหาข้องใจ(ตอนที่4)
ที่มา: google.com |
ถาม: อะไรคือความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ และจะทำให้เกิดความสุขเช่นนั้นได้อย่างไร
ตอบ: ความสุข คือความสบายกายสบายใจ มีความคล่องตัวคล่องใจในการเป็นอยู่ อย่างที่ชาวบ้านชอบพูดกันว่า มีความอยู่ดีกินดี นั่นแหละ
มนุษย์ทกคนต้องการความสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ต้องการความสุขไม่เหมือนกัน สำหรับมนุษย์ที่เบื่อโลกแล้ว ความสุขที่ต้องการ คือ การหมดกิเลสหมดกองทุกข์ได้สิ้นเชิง ส่วนมนุษย์ทั่วไปซึ่งยังไม่เบื่อโลก ความสุขที่ต้องการที่แท้จริงก็คือความอยู่ดีกินดี มีคนเคารพนับถือ มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุขพร้อมนั่นเอง
ความสุขอย่างที่ว่า เป็นความสุขของผู้ครองเรือนซึ่งภาษาพระเรียกว่า “ คิหิสุข” จะเกิดมีได้หลายทางด้วยกัน ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ ๔ ประการ คือ
(๑) สุขเกิดจากการมีทรัพย์
ทรัพย์ในที่นี้ หมายถึง ทั้งทรัพย์ที่มีวิญญาณ คือบริวาร คนรับใช้ สัตว์ยานพาหนะ สัตว์เลี้ยงต่างๆ และทรัพย์ไร้วิญาณ คือ ที่ดิน บ้าน นา สวน อาหาร ของใช้ แก้วแหวนเงินทอง เป็นต้น คนเราหากมีทรัพย์อยู่กับตัวก็พออุ่นใจได้ไปไหนมาไหนทำอะไรก็สะดวกใจดี ถ้าขาดทรัพย์ อะไรๆ ก็ดูจะขาดเสียไปหมด แม้ทางศาสนาก็รับว่า ความจนเป็นทุกข์ในโลก หากมีบ้านอยู่มีเงินใช้ก็ถือว่ามีความสุขเกือบจะสมบูรณ์
ทรัพย์ย่อมทำให้คนเรามีความสุขได้ ดังนั้น เมื่อต้องการความสุขจำต้องหาทรัพย์ไว้เป็นสมบัติสำหรับตัว เมื่อมีทรัพย์แล้วก็คล่องตัวไปทุกอย่างผู้คนก็ยอมรับ ดังคำโบราณว่า "มีเงินมีทองพอพูดได้ มีไม้มีไร่ปลูกเรือนงาม"
ที่มา: https://goo.gl/a72oQV |
(๒) สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์
เรื่องการจ่ายทรัพย์ดูเผินๆ แล้วไม่น่าจะกล่าวถึงทั้งไม่น่าจะทำให้เกิดความสุขได้เลย เพราะเป็นการเสียทรัพย์ไป เพราะใครๆ ก็จ่ายได้จ่ายเป็น หากมีทรัพย์อยู่ แต่ที่เป็นปัญหาก็คือหากไม่รู้จักใช้จ่าย หรือใช้จ่ายไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ ทรัพย์นั้นอาจพาทุกข์มาให้ได้ และจะพาลหมดเอาเสียด้วย อย่างเช่นในกรณีที่มีเงินแล้วไปว่าจ้างให้ไปทำทุจริตผิดกฎหมายเข้า หรือเก็บไว้เฉยๆ ไม่รู้จักใช้ก็ลำบากใจ ต้องระวังรักษา กลัวเขาจะมาลักขโมยเอาไป เกรงเขาจะรู้ว่ามีเงินมีทองมาก เป็นต้น
การใช้จ่ายทรัพย์ที่จะนำความสุขมาให้ได้ก็ต่อเมื่อรู้จักใช้ รู้จักอะไรควรไม่ควร ใช้แบบประหยัดไม่ใช้แบบสุรุ่ยสุ่ร่าย หรือแบบมีเท่าไรใช้หมดหมดแล้วหาใหม่
ในกรณีนี้ท่านวางหลักในการใช้จ่ายทรัพย์ที่จะก่อให้เกิดความสุขและเป็นการใช้ในทางที่ถูกที่ควร คือ
o จ่ายเลี้ยงตัวเอง มารดา บุตร ภรรยา คนรับใช้ให้เป็นสุขพอสมควรแก่อัตภาพ
o จ่ายเลี้ยงเพื่อฝูงให้เป็นสุขพอควรแก่อัตภาพ
o จ่ายในการป้องกันอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดและเกิดแล้ว เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ เป็นต้น
o จ่ายเพื่อทำพลี ๕ อย่าง มีเสียภาษี เป็นต้น
o บริจาคทานในสมณะ ชี พราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ
ที่มา: https://goo.gl/tbB41B |
แต่ทรัพย์ที่จับจ่ายแล้วนำความสุขมาให้นั้นต้องเป็นทรัพย์ที่หาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง ได้มาโดยถูกธรรม และเป็นทรัพย์ที่บริสุทธิ์ จ่ายแล้วจึงสบายใจ สิ่งของที่เราใช้นั้นหากได้มาจากการซื้อหาด้วนทรัพย์บริสุทธิ์ก็ใช้ได้สะดวกใจ ไม่ต้องหวาดระแวงคนจะสงสัยว่าได้ทรัพย์จากไหนมาซื้อ
ตรงกันข้ามหากเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบ โดยไม่ถูกธรรม เช่น ได้มาด้วยการทุจริต ฉ้อโกง ลักปล้นเขามา ก็จ่ายมาคล่องตัว ต้องหวาดระแวงกลัวคนจะรู้ สิ่งของที่ลักขโมยเขามาก็ไม่กล้านำออกมาใช้ให้คนเห็น กลัวถูกจับได้ คนมีทรัพย์เช่นนี้ย่อมจะไม่ได้ความสุข ไม่ได้ความสะดวกใจในการใช้จ่ายทรัพย์ที่ตนมี
(๓) สุขเกิดจากการไม่มีหนี้
การเป็นหนี้สินคนอื่นถือว่าเป็นยอดของความทุกข์อย่างหนึ่ง ดังพระพุทธภาษิตว่า อิณาทานํ ทุกขํ โลเก – การกู้หนี้ยืมสินเขามาเป็นทุกข์ในโลก และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ลูกหนี้ทุกคนมักจะนอนไม่เป็นสุข ใจพะวงกังวลอยู่กับการใช้หนี้ หากหาไม่ทันก็ยิ่งหนักใจเพิ่มขึ้น แม้ว่าหน้าจะยิ้มแต่ภายในนั้นหาความสุขจริงๆไม่ได้เลย เมื่อถูกทวงหนี้ก็จำต้องหน้าทนผลัดวันชำระหนี้ ไม่เคยโกหกก็ต้องโกหกเป็น ไม่เคยหนีหน้าคนก็ต้องหนีหน้า ทุกข์เพราะเงินต้นยังไม่พอ ยังทุกข์เพราะดอกอีกเล่า มันจะงอกอยู่ทุกวัน หากได้ใช้หนี้ไปได้บ้างหรือใช้หมดไปก็เหมือนกับยกภูเขาออกจากอกอย่างนั้นแหละ
ผู้ที่ไม่เคยเป็นหนี้ใครจึงถือว่าเป็นไทเป็นอิสระแก่ตัว จะไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องพะวงใจ คนมีหนี้ไม่มีอิสระอย่างนั้น ยิ่งหนี้มากก็เหมือนกับมีเพชฌฆาตตามติดอยู่เสมอทีเดียว
หากต้องการทราบว่าความเป็นหนี้มันทุกข์ขนาดไหน ลองไปกู้หนี้ยืมสินเขาดูเถิด จะรู้ดี
ที่มา: https://goo.gl/lin2Ue
|
(๔) สุขเกิดจากการทำงานที่ไม่มีโทษ
ข้อนี้บ่งบอกถึงการมีความสุขจากการประกอบอาชีพที่สุจริตไม่ผิดศีลธรรมและกฎหมาย ทำงานที่สุจริตอย่างนี้ย่อมได้รับความสบายใจ ไม่ต้องวิตกกังวลคอยถูกจับผิด
คนเราหากไม่มีงานทำก็เดือดร้อน หรือทำงานที่ทุจริตก็เดือดร้อนอีก ยิ่งเป็นงานทุจริตที่ก่อความเสียหายให้แก่สังคมส่วนรวม แก่ทางราชการด้วยแล้วยิ่งเป็นทุกข์กังวลมากขึ้น มีความไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา กลัวเขาจะจับได้ไล่ทันบ้าง ต้องหลบต้องซ่อนตัวบ้าง
ดังนั้น ผู้มีงานทำเป็นหลักฐาน แม้เป็นงานที่มีรายได้ต่ำและไร้เกียรติแต่เป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดศีลธรรม ย่อมได้รับความสบายใจกว่าผู้ทำงานทุจริตผิดศีลธรรมและกฎหมาย แม้ว่างานนั้นจะเป็นงานมีรายได้สูงและมีเกียรติก็ตาม
สุขของมนุษย์ ๔ ประการนี้เป็นสุขที่พึงปรารถนาของทุกคน เมื่อต้องการก็พึงแสวงหากันเถิด
ขอบคุณข้อมูล
- หนังสือไขข้อข้องใจ ๒,(จากวารสารมงคลสาร, มีนาคม ๒๕๑๙). พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.
- หนังสือไขข้อข้องใจ ๒,(จากวารสารมงคลสาร, มีนาคม ๒๕๑๙). พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.
0 ความคิดเห็น: