เรียนรู้เรื่องศาสนา จากปัญหาข้องใจ(ตอนที่ 1): การฆ่าสัตว์ถือว่าเป็นบาปเพราะเหตุอะไร? การฆ่าสัตว์ไปทำบุญจะได้บุญหรือไม่?...

06:41 Mali_Smile1978 0 Comments


     คนเราเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ จึงทำให้คิดผิด พูดผิด และดำเนินชีวิตแบบผิดๆ ก่อกรรมชั่วมีบาปติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ความไม่รู้จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งนัก ส่งผลแบบโดมิโนเลยทีเดียว 



     แต่วิกฤตย่อมมีโอกาส เรายังโชคดีมีบุญเกิดมาในยุคที่ยังมีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลงเหลือให้พวกเราไ้ด้ศึกษาแล้วนำมาปฏิบัติเพื่อขจัดความไม่รู้ออกจากจิตใจ เกิดมีสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นถูกเกี่ยวกับโลกและชีวิตขึ้นในใจ เพื่อเราจะดำเนินชีวิตได้ถูกต้องและมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน สามารถปิดนรก เปิดสวรรค์ มีความสุขทั้งในปัจจุบันและภพชาติเบื้องหน้า
     
     วันนี้ไปเจอหนังสือไขข้อข้องใจ ๒ เขียนและรวบรวมโดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒. เนื้อหาน่าสนใจเป็นความรู้เรื่องธรรมะ เรื่องศาสนา เรื่องเกี่ยวกับวัดโดยทั่วๆไป... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม...โดยเฉพาะเราฐานะพุทธศาสนิกชน อันดับแรกเพื่อจะได้ขจัดความไม่รู้ของตนเอง แล้วยังสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตรแก่บุคคลที่เรารักปราถนาดีทิศ ๖ รอบตัวเราได้  ขอทยอยนำมาลงเป็นตอนๆ ไปนะคะ

มีชาวพุทธคนหนึ่งถามว่า
๑. การฆ่าสัตว์ถือว่าเป็นบาปเพราะเหตุอะไร?
- ถ้าฆ่าสัตว์ที่เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ทำไมจึงถือว่าเป็นบาป?
- การฆ่าสัตว์ไปทำบุญจะได้บุญหรือไม่?
- และพระที่ฉันเนื้อสัตว์จะเป็นบาปด้วยไหมเพราะถ้าพระไม่ฉันเนื้อ คนก็ไม่ฆ่าสัตว์ทำบุญ?



เกี่ยวกับเรื่องการฆ่าสัตว์นี้เราลองมาฟังเหตุผลกันดูบ้าง
     การฆ่าสัตว์ถือว่าเป็นบาปเพราะเป็นการเบียดเบียนเขาให้ได้รับความเดือดร้อน เป็นการตัดโอกาสมิให้เขามีชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป เพราะตามปกติไม่ว่าคนหรือสัตว์ต่างก็รักสุขเกลียดทุกข์ ต้องการมีชีวิตอยู่นานๆ ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งข้อนี้เราสามารถดูได้จากที่ทั้งคนและสัตว์พยายามแสวงหาอาหารเพื่อความอยู่รอด แม้จะต้องผจญอันตรายต่างๆ ก็ยอมพยายามป้องกันตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บ จากศัตรูรบตัว และพยายามต่อสู้กับอุปสรรคสิ่งกีดขวางต่อความราบรื่นในการมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้เพราะรักตัวกลัวตายนั่นเอง เมื่อไปทำเขาตายจึงถือว่าเป็นบาป เป็นความชั่ว และเป็นบาปเพราะจิตใจของผู้ฆ่าหยาบช้าทารุณ เป็นใจที่เศร้าหมอง ขาดเมตตาธรรม

     โดยมากมนุษย์มักคิดเอาเองว่า ถ้าฆ่าสัตว์ที่เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์แล้ว ทำไมต้องเป็นบาปด้วยเพราะมันเกิดมาเพื่อถูกฆ่า แต่สัตว์มันไม่คิดอย่างมนุษย์เลย ทั้งไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำไปว่าตัวมันเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ มนุษย์ต่างหากที่เหมาเองอย่างนั้นแล้วไปฆ่ามัน สัตว์บางประเภทจะแสดงความรู้สึกออกมาเมื่อรู้ว่าตนจะถูกฆ่า เช่น หมู วัว ควาย หรือสัตว์เล็กๆ มันจะดิ้นรนพยายามหนีเอาตัวรอด นี่แสดงว่ามันไม่อยากให้มนุษย์ฆ่า มันอยากอยู่ต่อไปอีกนานแสนนานเหมือนมนุษย์เราเช่นกัน


     หากคิดว่ามันเป็นอาหารของเรา ฆ่าไม่บาปแล้ว ทีคนถูกโรคภัยไข้เจ็บมารุมกิน ถูกยุงกัด หรือเข้าป่าถูกงูกัด ตกน้ำทะเลถูกฉลามกินบ้าง ทำไมจึงไปโทษมัน และเหตุใดจึงไปฆ่ามันเสีย ก็ในเมื่อมันก็คงคิดว่ามนุษย์เป็นอาหารของมัน เลือดและเนื้อมนุษย์ คืออาหารของมันที่มันต้องการ มันกัดมันกินคนก็เพราะถือว่าคนเป็นอาหาร มันกินอาหารของมัน อย่างนี้สัตว์เหล่านั้นผิดด้วยหรือ หากมีใจเป็นธรรมกันก็จะได้คำตอบที่ถูกต้อง

     การอ้างข้างต้นเป็นการอ้างที่เห็นแก่ตัวเสียมากกว่า โดยถือว่ามีกำลังกว่า มีสมองดีกว่า สัตว์มันก็คงคิดจองเวรจองกรรมกับมนุษย์บ้างว่าได้ทีเมื่อไหร่ข้าเอาเอ็งแน่ อะไรทำนองนี้

     แต่บาปอันเกิดจากการฆ่าสัตว์นั้นมีไม่เท่ากัน ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ฆ่าสัตว์ใหญ่มีโทษมาก ฆ่าสัตว์เล็กก็มีโทษน้อย ฆ่าสัตว์มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ต่อโลกมาก ก็มีโทษมาก ฆ่าสัตว์มีคุณประโยชน์น้อย ก็มีโทษน้อยและจะเป็นบาปโดยสมบูรณ์เพราะประกอบด้วยลักษณะ ๕ ประการ คือ

(๑) ปาโณ สัตว์ที่ฆ่ามีปราณคือมีลมหายใจ

(๒) ปาณสญฺญิตา ผู้ฆ่าก็รู้ว่าสัตว์นั้นมีลมหายใจ

(๓) วธกจิตฺตํ มีเจตนาคือมีความจงใจที่จะฆ่า

(๔) อุปกฺกโม พยายามฆ่า แม้จะพยายามเพียงเอื้อมมือหรือกระดิกนิ้วไปฆ่า

(๕) เตน มรณํ สัตว์นั้นสิ้นลมหายใจไปเพราะความพยายามนั้น


     หากได้ลักษณะ ๕ ประการนี้ การฆ่าเป็นอันสมบูรณ์แล้วเป็นบาปดังกล่าวมา หากทำไม่ครบลักษณะนี้ เช่น มีความพยายามฆ่า แต่สัตว์ไม่ตาย หรือฆ่าตายโดยไม่ตั้งใจ โทษก็ลดลงตามส่วน



     ส่วนคำถามที่ว่าฆ่าสัตว์ไปทำบุญจะได้บุญไหมนั้น อันนี้ต้องแยกกัน คือบุญกับบาปเข้ากันไม่ได้ ตรงกันข้าม บุญก็ส่วนบุญ บาปก็ส่วนบาป ที่ไหนมีบุญบาปก็ไม่มี ที่ไหนมีบาปบุญก็ไม่มี เรื่องนี้ต้องแยกกันให้ถูก เพราะต่างกรรมต่างวาระกัน คือตอนที่ฆ่าสัตว์หากพร้อมด้วยลักษณะข้างต้นก็เป็นบาป แม้จะมีเจตนาเพื่อนำไปทำบุญก็ตาม ตอนนำเนื้อไปทำบุญนั้นก็ถือว่าเป็นบุญเพราะเป็นการทำความดี แม้จะเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาทำบุญก็ตาม แต่อย่างไหนจะมากกว่ากันนั้นต้องดูเวลาที่ทำ หากทำอย่างใดรุนแรงกว่าก็ให้ผลหนักไปทางนั้น เช่นจงใจฆ่าและฆ่าด้วยวิธีทรมานสัตว์ ทั้งสัตว์นั้นเป็นสัตว์ที่มีคุณค่ามากด้วย แต่เวลานำไปทำบุญก็ทำไปตามประเพณี ไม่สนใจเรื่องบุญเท่าไรนัก ถวายแล้วก็แล้วกันไป อย่างนี้ตอนแรก คือตอนที่ฆ่าหนักกว่า ผลย่อมแรงกว่า คือมีบาปมากกว่าบุญ

     สำหรับคำถามที่ว่า “พระฉันเนื้อบาปไหม หากพระไม่ฉัน คนคงไม่ฆ่าสัตว์กัน” นั้น ข้อนี้ก็น่าคิดอยู่


     แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกแล้วจะเห็นว่า การที่พระฉันเนื้อนั้นเกือบจะกล่าวได้ว่าไม่เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์เลย เพราะท่านฉันเนื้อโดยฐานเป็นอาหารบิณฑบาตที่ญาติโยมนำมาถวายเท่านั้น ซึ่งเนื้ออย่างนี้เรียกว่า “ปวัตตมังสะ” คือเนื้อที่มีอยู่ตามธรรมดา เช่นเนื้อที่เขาขายตามตลาด หรือเนื้อที่เขาฆ่ารับประทานกันตามปกติ เนื้อเช่นนี้พระฉันได้ พระวินัยมิได้ห้ามไว้ ส่วนเนื้อที่พระฉันแล้วผิดพระวินัยก็มี คือเนื้อที่เขาเจาะจงฆ่าถวาย ทั้งพระก็รู้ว่าเขาเจาะจงฆ่าถวายตัวเอง เนื้อชนิดนี้เรียกว่า “อุทิสสมังสะ” และเนื้อที่พระสั่งให้เขาฆ่าถวายเอง เนื้อสองประเภทนี้พระฉันเป็นผิดพระวินัย แต่ถ้าเขาเจาะจงฆ่าถวายพระ แต่พระเองไม่รู้เรื่อง ก็ฉันได้ ไม่ผิด แต่ต้องไม่รู้จริงๆ ไม่ใช่แกล้งทำเป็นไม่รู้ คือไม่ได้เห็นเขาฆ่า ไม่ได้ยินเขาพูดว่าฆ่าถวายเฉพาะตน และไม่ได้รังเกียจสงสัยในทำนองนั้น อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้จริง



     ส่วนที่ว่าเพราะพระฉันเนื้อจึงทำให้คนฆ่าสัตว์นั้น ออกจะเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงไปหน่อย เพราะพระไม่ได้บังคับให้ฆ่า ไม่ได้บังคับให้ถวาย เมื่อชาวบ้านนำมาถวาย ท่านก็รับและฉัน เรื่องมันก็เท่านี้ และถึงหากว่าพระท่านไม่ฉันเนื้อ คนจะเลิกฆ่าสัตว์เลิกกินเนื้อกันเสียเมื่อไหร่ ดูอย่างในประเทศที่ไม่มีพระอาศัยอยู่เลยสักรูปเดียว สัตว์ต่างๆ ก็ยังถูกฆ่าไปเป็นอาหารทุกวันๆ เขาฆ่าไปถวายพระหรือ พระเรียกร้องหรือ ก็เปล่าทั้งนั้น แล้วเขาฆ่าทำไม

ขอแถมนิดหน่อย ถือเป็นของหวานก็แล้วกัน

     การที่พระจะไม่ฉันเนื้อก็ดีเหมือนกัน บางท่านก็อาจสงสัยว่า ก็เมื่อดีเช่นนี้แล้วทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงห้ามเสียเล่า ข้อนี้คงเป็นพระพุทธประสงค์ ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญู คงทรงหยั่งทราบและทรงมีเหตุผลที่ลึกซึ้ง หากทรงห้ามเสีย พระจะเป็นอย่างไร คนที่ขาดอาหารประเภทเนื้อสัตว์จะเป็นโรคอะไรบ้างก็รู้กันอยู่ พระองค์คงไม่ทรงต้องการให้กองทัพธรรมของพระองค์หย่อนสมรรถนะทั้งกำลังสมองและกำลังกาย จึงมิไดทรงห้ามไว้ แม้จะเคยมีผู้ทูลขอให้ทรงห้ามไว้ก็ตาม



ขอบคุณข้อมูล
- หนังสือไขข้อข้องใจ ๒, วารสารมงคลสาร (มีนาคม ๒๕๑๙), พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.
- ขอบคุณภาพจาก google https://goo.gl/nS1Tb7




0 ความคิดเห็น: