ตระกูล "คิว" ในทางพระพุทธศาสนา...คุณอยู่ในตระกูล "คิว" ใดบ้าง?

21:52 Mali_Smile1978 0 Comments


     
        IQ และ EQ เรามักจะได้ยินบ่อยๆ และรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะในปัจจุบันทางการแพทย์พูดถึงอีคิว… EQ. ร่วมกับไอคิว...IQ. เปรียบเสมือนดังคู่แฝดเลยทีเดียว แต่ยังมีอีกหลาย คิว IQ EQ AQ MQ SQ ที่น่าศึกษาและทำความรู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตระกูล "คิว" ที่อิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา...ไปดูกันเลยค่ะ


IQ(Intelligence Quotient) ความฉลาดทางปัญญา

        ตัวแรกที่จะกล่าวถึง คือ  ความสามารถทางการวิเคราะห์ ความสามารถทางวิชาการ ความจำ การอ่าน-เขียน การคำนวณ การพัฒนาด้าน IQ นี้มาจากกรรมพันธุ์ ๕๐ % อีก ๕๐%  มาจากสิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดู
        หลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้การพัฒนาด้าน IQ นี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้แก่  สุ จิ ปุ ลิ
        สุ คือ สุตมยปัญญา ปัญญาจากการฟัง ตีความว่า การฟัง คือ การรับสาร หรือ สาระ ทั้งปวงจากสื่อต่าง ๆ มิใช่แต่เฉพาะการฟังทางหูอย่างเดียว
        จิ คือ จินตมยปัญญา ปัญญาจากการคิด คือ รู้จักไตร่ตรอง หัดใช้เหตุผลวิเคราะห์ ช่วยให้เกิดจินตนาการ และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
        ปุ คือ ปุจฉา แปลว่า ถาม จาก สุ และ จิ ต้องมีความปรารถนาหาคำตอบเพิ่มเติม ด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้มีปัญญางอกเงยยิ่ง ๆ ขึ้น
        ลิ คือ ลิขิต จดบันทึก ต่อมาคำว่า "จด" ก็ขยายเป็น การพิมพ์ การทำฐานข้อมูล ที่สามารถนำไปรวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ ให้เป็นผลงานที่มีประโยชน์ ตามด้วยองค์คุณของพหูสูต
        ๑. พหุสฺสุตา..............ฟังมาก เล่าเรียนมาก อ่านมาก สั่งสมความรู้มาก
        ๒. ธตา.....................จำได้ จำเนื้อหาสาระไว้ได้แม่นยำ
        ๓. วจสา ปริจิตา.........ท่องบ่น หรือพูดถึงอยู่เสมอๆ จนคล่องแคล่วจัดเจน
        ๔. มนสานุเปกฺขิตา....ใส่ใจนึกคิดจนเจนใจ นึกถึงครั้งใดก็ปรากฏเนื้อความออกมาชัดเจน
        ๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา...เข้าใจความหมายและเหตุผล ความสัมพันธ์โยงใยกับเรื่องอื่นๆ




MQ(Moral Quotient) ความฉลาดทางคุณธรรม

        ความฉลาดทางคุณธรรม ต้องปลูกฝังในวัยเด็กจึงจะได้ผล เพื่อให้ติดเป็นนิสัยและเป็นธรรมชาติ   หลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้การพัฒนาด้านนี้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ได้แก่ ฆราวาสธรรม 

        ๑.สัจจะ   ความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน เป็นหลักสำคัญที่จะให้เกิดความไว้วางใจ และไมตรีจิตสนิทต่อกัน
        ๒.ทมะ   การรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน แก้ไขข้อบกพร่อง ให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นคนดื้อด้านเอาแต่ใจและอารมณ์ของตน
        ๓.ขันติ   ความอดทน อดกลั้น ต่อความหนักและความร้ายแรงทั้งหลาย ชีวิตของผู้อยู่ร่วมกัน  เมื่อเกิดภัยพิบัติ ความตกต่ำคับขัน ไม่ตีโพยตีพาย แต่มีสติอดกลั้นคิดอุบายใช้ปัญญาหาทางแก้ไขเหตุการณ์ให้ลุล่วงไปด้วยดี
        ๔.จาคะ  ความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปันตลอดถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน มิใช่คอยจ้องแต่จะเป็นผู้รับเอาฝ่ายเดียว ตลอดจนการเสียสละความพอใจและความสุขส่วนตน

สัปปุริสธรรม ๗ 
        ๑. ธัมมัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ได้แก่ รู้ชัดถึงเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อน และบ่อเกิดแห่งความผาสุก
        ๒. อัตถัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักผล ได้แก่ รู้ซึ้งถึงความเจริญสุขเป็นผลของบุญ และทุกข์โทษสืบมาแต่บาปทุจริต
        ๓. อัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักตน ได้แก่ สำเหนียกความรู้ความสามารถ วางตนสมอัตภาพอย่างเจียมใจ
        ๔. มัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักใช้งบประมาณพอดีสมควรแก่ฐานะ
        ๕. กาลัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา ได้แก่ จัดสรรกิจการให้ถูกจังหวะ
        ๖. ปริสัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักชุมชน ได้แก่ เข้าใจปรับบุคลิกภาพของตนให้สอดคล้องกับสมาคมทุกระดับ
        ๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคล ได้แก่ อ่านอัธยาศัยคนออก ถ่อมตนหรือยกย่องผู้อื่นสมแก่กรณี


RQ(Realistic Quotient) ความฉลาดมองเห็นความจริงในชีวิต

        แม้ว่าเราจะมีฉลาดรอบรู้มากมายหลายด้านอย่างใดก็ตาม แต่ความฉลาดรอบรู้นั้นจะหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย  หากยังไม่สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ของเราได้ ดังนั้นความรู้เรื่องสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิต จึงเป็นความรู้ที่มีค่าและสำคัญยิ่งที่ทุกคนสมควรรู้ นั่นคือ อริยสัจสี่ ได้แก่
        ทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ไม่สมหวัง ไม่ได้ดังใจ เป็นทุกข์
        สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ เพราะมีตัณหา คือปรารถนาใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์
ความอยากมีอยากเป็น และความไม่อยากมีไม่อยากเป็น
        นิโรธ การดับทุกข์ ด้วยการปล่อยวาง การละ การเลิก ไม่พัวพันกับตัณหา และไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น
        มรรค ทางดับทุกข์ ประกอบด้วย อริยมรรค ๘ ประการ คือ  สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต  สัมมาอาชีโว  สัมมาวายาโม  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ
        และสิ่งที่ทุกคนขาดเสียไม่ได้ ไม่ว่าหญิงหรือชาย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรหมั่นพิจารณาอยู่เสมอถึง อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ ประการ คือ
        ๑.ชราธัมมตา   เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้
        ๒.พยาธิธัมมตา  เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
        ๓.มรณธัมมตา   เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความตายไปได้
        ๔.ปิยวินาภาวตา เราจักต้องพลัดพรากจากของที่รักที่ชอบใจไปทั้งหมดทั้งสิ้น
        ๕.กัมมัสสกตา   เรามีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักต้องได้รับผลของกรรมนั้น

        เมื่อหมั่นพิจารณาอยู่เสมออย่างนี้ ก็จะช่วยป้องกันความมัวเมา ในความเป็นหนุ่มสาว ในทรัพย์สมบัติ และในชีวิต ฯลฯ บรรเทาความลุ่มหลง ความยึดมั่นถือมั่น และป้องกันการทำทุจริต  ทำให้เร่งขวนขวายกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ตลอดไป


AQ (Adversity Quotient)ความฉลาดในการเผชิญหน้า

        เมื่อเจออุปสรรคหรือปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนอื่นใดจะต้องควบคุมอารมณ์ตนเองให้สงบ  ให้นิ่งก่อน แล้วให้มีทัศนคติในแง่บวกต่อปัญหาเสมอ โดยให้คิดเสมอว่าปัญหานั้น คือ โอกาสที่จะทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้เสมอ ถ้าหากผู้แก้ปัญหามีความอดทน ใส่ใจ และจริงใจ หลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้สามารถแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆได้เป็นอย่างดีคือ พละ ๕ และอิทธิบาท ๔ ได้แก่

พละ ๕ คือ
๑.ศรัทธา ความเชื่อมั่นความมั่นใจ
๒.วิริยะ ความพากเพียรความพยายาม
๓.สติ ความตรึกตรองความรอบครอบ
๔.สมาธิ ความใส่ใจ ความแน่วแน่
๕.ปัญญา ความรู้ความเข้าใจปรับปรุงแก้ไข
                     
อิทธิบาท ๔ คือ
๑.ฉันทะ ความรักความพอใจในงาน
๒.วิริยะ ความอดทนต่อความยากลำบาก
๓.จิตตะ ความตั้งใจจดจ่อต่องาน
๔.วิมังสา การแก้ไขปรับปรุงหาข้อบกพร่อง

        ส่วนคุณธรรมที่เสริมสำหรับให้บุคคลนั้นทำการงานได้อย่างราบรื่นโดยประสบปัญหาและอุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งทุกคนควรจะสร้างเสริมให้มีไว้ก็คือ

๑.ปัญญาพละ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหน้าที่การงาน มีความเข้าใจในกิจการงานที่ทำเป็น อย่างดี
๒.วิริยะพละ มีความบากบั่นในกิจการงาน ไม่ทอดทิ้งหรือย่อหย่อนท้อถอย
๓.อนวัชชพละ ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความสุจริต สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีข้อให้ใครติเตียนได้
๔.สังคหพละ ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงาน ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเท่าที่ทำได้


SQ (Social Quotient) ทักษะทางสังคมการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น

        เพราะมนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นเป็นสังคม สังคมใดจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วย จะต้องมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน ไม่คิดว่าตนเองเหนือกว่าใคร ต้องมีใจเปิดกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อีกทั้งต้องไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  จากสังคมเล็กๆ คือ ครอบครัว   หลายๆครอบครัวก็รวมเป็นสังคมหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านก็เป็นสังคมเมือง  หลายๆเมืองก็เป็นประเทศ   หลายประเทศก็รวมกันเป็นสังคมโลก คุณธรรมสำคัญที่ทำหน้าที่คุ้มครองสังคมโลกให้ดำรงอยู่ได้ก็คือ ธรรมโลกบาล ได้แก่
หิริ มีความละอายใจ ไม่กระทำชั่ว ไม่ทำความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น
โอตตัปปะ มีความสะดุ้งเกรงกลัวต่อผลร้ายที่จะตามมาจากการกระทำชั่วและความเบียดเบียนนั้น

        และสังคมจะถูกถักทอร้อยรัดเข้าด้วยกันก็ด้วยสายใยแห่งไมตรีซึ่งต่างมีให้แก่กันและกัน คุณธรรมที่เปรียบดังสายใยในการร้อยใจเข้าด้วยกันก็คือ สังคหวัตถุ ๔  ได้แก่

        ๑.ทาน การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือด้วยปัจจัยสี่ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจ
        ๒.ปิยวาจา พูดจาต่อกันด้วยคำสุภาพ คำไพเราะ ประกอบด้วยประโยชน์ ทำให้เกิดรักใคร่นับถือ สามัคคีกัน
       ๓.อัตถจริยา ทำตนให้เป็นประโยชน์ ขวนขวายช่วยเหลือในกิจการงาน รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหา
       ๔.สมานัตตตา ทำตัวให้เข้ากับเขาได้ วางตนให้มีความเสมอภาค ไม่เอาเปรียบ มีทุกข์ร่วมต้าน มีสุขแบ่งปัน


PQ(Phisical Quotient) ความฉลาดทางพลานามัย

        มนุษย์เราประกอบด้วยส่วนสำคัญสองส่วน คือ กาย กับ ใจ ส่วนทั้งสองถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องหรือเจ็บป่วยไป  ย่อมกระทบถึงอีกส่วนหนึ่งด้วยเสมอ  ดังนั้นจึงต้องรู้จักดูแลทั้งทางกายและใจควบคู่กันไป  หลักธรรมที่ช่วยส่งเสริมในข้อนี้คือ จักร ๔ 
        ๑.ปฏิรูปเทสวาสะ  เลือกแหล่งที่อาศัย แหล่งศึกษาเล่าเรียน ที่ทำงาน มีสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม
        ๒.สัปปุริสูปัสสยะ   เลือกคบหากับบุคคลหรือหมู่คณะที่มีคุณธรรมความรู้
        ๓.อัตตสัมมาปณิธิ  ตั้งตนมั่นอยู่ในความดีงามมีศีลธรรม ดำเนินชีวิตด้วยหลักการอันถูกต้อง ดีงาม
        ๔.ปุพเพกตปุญญตา ใช้กุศลผลบุญที่ได้กระทำสะสมมาส่งเสริมกระทำความดีให้เพิ่มยิ่งขึ้นอีก

        การที่มีเวลาได้ทำสิ่งดีงามมากขึ้นก็จักทำให้ชีวิตดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากขึ้น ดังนั้น  การมีอายุยืนเพื่อทำความดีให้ได้มากจึงเป็นสิ่งที่ดี


EQ(Emotion Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์

        ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการควบคุมตนเองไม่ให้หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ให้ก้าวร้าว อวดดี ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุขหลักธรรมที่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพ ควรน้อมนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาได้เป็นอย่างดี คือ พรหมวิหาร ๔
       ๑. เมตตา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข เพราะความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
       ๒. กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
: ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่ และความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์
: ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้ว ไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า  เจตสิกทุกข์
        ๓. มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้า   ยิ่งๆ ขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา
        ๔. อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้นและต้องปราศจาก อคติ ๔ คือ
        ๑. ฉันทาคติ..... ลำเอียงโดยสนับสนุนญาติมิตรที่ชอบพอ หรือผู้จ่ายสินจ้างแก่ตน
        ๒. โทสาคติ.....ลำเอียงเข้าข้างหรือลงโทษฝ่ายที่ตนเกลียดชังให้หนักกว่าฝ่ายที่ตนชอบพอ
        ๓. โมหาคติ.... ลำเอียงเสียความยุติธรรมเพราะโฉดเขลา ไม่รู้ทันเหตุการณ์ที่แท้จริง
        ๔. ภยาคติ....ขาดดุลย์ยอมร่วมด้วยเพราะเกรงอำนาจอิทธิพล หรือกลัวจะขาดผลประโยชน์

        มาถึงตรงนี้แต่ละท่านทราบแล้วใช่ไหมว่า มีบุคลิกภาพ แบบ"คิว" ตัวใดบ้าง? ถ้าชอบหรือถูกใจ "คิว"ตัวไหน ท่านสามารถสร้างและพัฒนาขึ้นให้เกิดขึ้นในตัวได้ นี่คือความโชคดีที่สุดที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาและได้ศึกษาคำสอนที่เกิดจากปัญญาความรู้แจ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งธรรมะของพระพุทธองค์ เป็น อกาลิโก คือไม่จำกัดกาล ไม่ล้าสมัย ผู้ใดได้ฝึกฝน พากเพียรปฏิบัติตามหลักธรรมอย่างต่อเนื่อง ย่อมได้รับความสุข ความสำเร็จ และเป็นประโยชน์แก่ชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้าอย่างแน่นอนค่ะ

       

ขอบคุณข้อมูล
1.http://oknation.nationtv.tv/blog/krootamdii/2012/10/27/entry-1
2.http://iqlearningtoy.weloveshopping.com/store/article/view/ (https://goo.gl/qHxC8T)

0 ความคิดเห็น: