เจาะลึกตำนานลอยกระทง...ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว?

04:56 Mali_Smile1978 0 Comments


        วันลอยกระทงตรงกับคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง  สำหรับปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ โดยจะนำดอกไม้ ธูปเทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว เป็นต้น แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์และความเชื่อต่างๆ กัน เช่น 

@@@ การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
@@@  เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที (ปัจจุบันคือ แม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย) เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
@@@ เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
@@@ เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
@@@ เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
@@@ เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา
@@@ เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร  
@@@ หรือบางท้องถิ่น ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือสะเดาะเคราะห์ หรือลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาด้วย เป็นต้น 
       
        ประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่าก็มีการลอยกระทงคล้ายๆ กับบ้านเรา จะต่างกันบ้างคงเป็นเรื่องรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น



ทำไมถึง ลอยกระทง
        การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนแน่ชัดว่าปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร แต่ละท้องถิ่นก็มีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป วันนี้ขอเล่าถึงคติความเชื่อการลอยกระทงที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ดังนี้

@@@ โดยเรื่องแรกเชื่อว่า มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธ กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา วันหนึ่งนางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้ชาวใช้นำข้าวมธุปายาส ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้วก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดทองลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญบารมี ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล



        พระยานาคตื่น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระญานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระญานาคก็ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเราจะได้ขึ้นมาจะได้ถวายสักการะได้ ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็นำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำเพื่อไปนมัสการรอยพระบาทเป็นประจำสม่ำเสมอ และต่อๆ มาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
        ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้บางแห่งก็ว่า  พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับพญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลายจึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมาโดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป



@@@  ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญเดือน ๑๑ หรือออกพรรษาเพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์  หลังจากจำพรรษา ๓ เดือน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัทพากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นนรก สวรรค์ ด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทงเพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า

@@@ สำหรับคติที่ว่าการลอยกระทงตามประทีปเพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศาโมลีขาดลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุไว้แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งทางเหนือของไทยเรามักจะปล่อยโคมลอยหรือโคมไฟ ที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย



@@@ ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตต์ เป็นประเพณีของชาวเหนือและชาวพม่า พระอุปคุตต์เป็นพระอรหันต์เถระหลังสมัยพุทธกาลโดยมีตำนานความเป็นมา คือเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ  “อโศการาม”  ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง ๘๔,๐๐๐ องค์สำเร็จแล้ว
        พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบรรจุในพระสถูปต่างๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่มีความสูงประมาณครึ่งโยชน์และประดับประดาด้วยแก้วต่างๆ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้ปาฏลีบุตร อีกทั้งต้องการให้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน  แต่ด้วยเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง มีเพียงพระอุปคุตต์ที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเพียงท่านเดียวเท่านั้นที่จะสามารถปราบพญามารได้ เมื่อพระอุปคุตต์ปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิม พระอุปคุตต์นี้คนไทยเรียกว่า  “พระบัวเข็ม”



ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว

        ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยประมาณ 700 ปีมาแล้ว ประมาณ พ.ศ. 1800 โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์ "กระทง" ขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่า พิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป นางนพมาศ ซึ่งเป็นสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวกันว่า วันเพ็ญเดือนสิบสองเป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และไดมีรับสั่งบรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียน นำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง 



        ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศได้คิดประดิษฐ์กระทงรูปกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้นำโคมลอยดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน ” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน



การลอยกระทงในปัจจุบัน
        การลอยกระทงในปัจจุบันนั้นยังคงรักษารูปแบบเดิมนั้นเอาไว้ได้ตามสมควร และเมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือน ๑๒ ชาวบ้านก็จะจัดเตรียมทำกระทงจากวัสดุที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วย ดอกบัว นำมาประดิษฐ์เป็นกระทงที่สวยงาม แล้วปักธูปเทียนและดอกไม้ต่างๆ และเครื่องสักการบูชา ก่อนที่จะทำการลอยในแม่น้ำนั้นก็จะอธิษฐานในสิ่งที่ได้มุ่งหวัง พร้อมขอขมาต่อพระแม่คงคา ตามวัดหรือสถานที่จัดงานหลายแห่งจะมีการประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศ และจะมีมหรสพสมโภชตลอดทั้งคืน 

        การลอยกระทงของเราชาวพุทธที่จะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น เราควรมีวัตถุประสงค์ที่จะอยากให้ลอยบาป ลอยสิ่งที่ไม่ดีออกจากใจ สิ่งที่ทำให้ขุ่นข้องหมองใจซึ่งกันและกันให้หมดสิ้นไป ให้เหลือแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้มีความรัก มีความสามัคคี ในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงและทุกคนในชาติ


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
1.http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=phimaidamrong&group=8
2.http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/buddhism_club/file/loykrathong.pdf
3. http://attempt.exteen.com/20091017/entry-1
4.ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/TKpLsI

0 ความคิดเห็น: