พระอัจฉริยภาพทางดนตรี...ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง

03:38 Mali_Smile1978 0 Comments


       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา  “อัครศิลปิน”

       ความสุขของปวงประชา คือความสุขของพระมหากษัตริย์ นี่คือลักษณะพิเศษของกำเนิดและพระราชประวัติด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผลแห่งพระปรีชาสามารถด้านดนตรี หาใช่ความไพเราะของทำนองเพลงและคำร้องของบทเพลงพระราชนิพนธ์เท่านั้นไม่ แต่เป็นศิลปะแห่งการผสานความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระมหากษัตริย์พระองค์นี้กับประชาชนชาวไทยด้วย

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่า แซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่างๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค เป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟน สอดแทรกกับแผ่นเสียงของ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี เช่น Johnny Hodges และ Sidney Berchet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญ สอดแทรกกับแผ่นเสียง ของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรี ร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์


       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก และจนถึงปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ทุกเพลงล้วนมีทำนองไพเราะประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อร้อง ซึ่งมีคตินานัปการ และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ในยามที่บ้านเมืองไม่สงบสุข ก็พระราชทานเพลงปลุกใจ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่ ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และประชาชน ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ มิให้เกิดความย่อท้อในการทำความดี ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อตนเองและสังคม

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ดนตรีให้เป็นประโยชน์ทางอ้อมในหลายด้าน อาทิ ทรงใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์กับนิสิตนักศึกษา โดยเสด็จ ฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่นาน กว่า ๑๐ ปี

       ในคราวเสด็จเยือนต่างประเทศ ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อ กระชับสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศกับนานาประเทศได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พระปรีชาสามารถด้านดนตรี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศ

       จนกระทั่งปี พ.ศ ๒๕๐๗ สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรี
และศิลปะการแสดง) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรและสมาชิกกิตติมศักดิ์ลำดับที่ ๒๓ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมนามาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ปรากฏอยู่บนแผ่นจำหลักหินของสถาบัน ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นชาวเอเชียเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้ พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ชื่นชมไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้นนักดนตรีต่างประเทศ ทั่วโลกก็ชื่นชมและยอมรับในพระอัจฉริยภาพนี้

       นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลงและทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็น “ครูใหญ่” สอนดนตรีแก่ แพทย์ ราชองครักษ์ และ ข้าราชการผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทในช่วงที่เสด็จเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจน ข้าราชบริพารในพระองค์ซึ่งส่วนใหญ่เล่นดนตรีไม่เป็นเลย จนเล่นดนตรีเป็น และสามารถบรรเลงในโอกาสพิเศษต่างๆได้ต่อมาจึงได้เกิดแตรวง “วงสหายพัฒนา” โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหัวหน้าวง


      ในด้านดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทย และนาฏยศิลป์ไทยไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้นักดนตรีไทยช่วยกันรักษาระดับเสียงของดนตรีไทยไว้เพื่อเป็นมาตรฐานของวงดนตรีรุ่นหลัง ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือ “โน้ตเพลงไทย เล่ม ๑” เพื่อรวบรวมและรักษาศิลปะทางดนตรีไทยไว้ให้เป็นหลักฐานและมาตรฐานต่อไป และทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยบันไดเสียงของดนตรีไทย โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

       พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นสังคีตกวีแห่งราชวงศ์จักรีพระองค์นี้ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แม้ด้านดนตรีก็มิได้เว้น

       มีเรื่องเล่ากันมาว่า นักดนตรีเอกของโลกได้กล่าวถึงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีว่า หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะต้องทรงเป็นพระราชานักดนตรีของโลก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นทั้งพระมหากษัตริย์และทรงเป็นนักดนตรีได้พร้อมกัน


       เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแล้วจึงใส่คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ได้แก่ Echo, Still on My Mind, Old Fashioned Melody, No Moon และ Dream Island ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องภาษาไทย ได้แก่ เพลงความฝันอันสูงสุด และเราสู้ นอกจากนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แต่งคำร้อง ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์หลายท่าน เพลงพระราชนิพนธ์ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๙-๒๕๓๘ มี ๔๘ เพลง 

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นำในด้านการประพันธ์ทำนองเพลงสากลของเมืองไทย โดยทรงใส่คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อนทำให้เกิดเสียงประสานที่เข้มข้นในดนตรี เมื่อประกอบกับลีลาจังหวะเต้นรำที่หลากหลาย ทำให้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงบรรเลงได้อย่างไพเราะหลายบท กลายเป็นเพลงอมตะของไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังทรงมีจินตนาการสร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา
       
       นอกจากนี้ ยังทรงได้ริเริ่มให้นำเพลงสากลมาแต่งเป็นแนวเพลงไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้นาย เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มหาจุฬาลงกรณ์ มาแต่งเป็นแนวไทย บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ เพื่อนำขึ้นบรรเลงถวายแล้วก็พระราชทานชื่อว่า เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เช่นเดียวกัน นับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นจากเพลงไทยสากลตามพระราชดำริที่ทรงสร้างสรรค์

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับดนตรีแก่นักข่าวชาวอเมริกันในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกาเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๓ ความตอนหนึ่งว่า

ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคนเป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภทเพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆกันออกไป

       ทรงเห็นว่า ดนตรี นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ควรจะเป็นสื่อสร้างสรรค์ชักนำให้คนเป็นคนดีของประเทศชาติและสังคม ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ มีความตอนหนึ่งดังนี้

“...การดนตรีจึงมีความหมายสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดี ๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจจะปฏิบัติงานการก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะดึงกลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้น ดนตรีก็มีความสำคัญอย่างหนึ่งจึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่าง ๆ ว่า มีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ถูกต้องในทางหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชาของผู้ที่มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัวเพราะก็อย่างที่กล่าวว่าเพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี...”


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง:
1.www.kingramamusic.org/th/article/7_พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้า https://goo.gl/Q2sd6q
2.http//www.thaihealth.or.th/Content/21659-พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี. https://goo.gl/NK45ud 
3. ภาพจาก https://goo.gl/UvpRXw


0 ความคิดเห็น: