ความโกรธเป็นศัตรูร้ายตัวหนึ่งของมนุษย์และสัตว์โลก

       ความโกรธเป็นศัตรูร้ายตัวหนึ่งของมนุษย์และสัตว์โลก น้อยคนนักจะเอาชนะมันได้โดยเด็ดขาด ส่วนมากพ่ายแพ้ต่อมัน มันเป็นผู้ชนะที่ไม่ปราณีต่อผู้แพ้ทำผู้แพ้ให้ประสบภัยพิบัติต่างๆ แต่ใครชนะมันได้ มันจะให้รางวัลประเสริฐสุดต่อผู้นั้น คือ ความสงบสุขของดวงจิตซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าของมนุษย์

ฆ่าความโกรธได้อะไร
ฆ่าสัตว์เพื่อเสพเนื้อ        อีกหวัง
กระดูกงาเขาหนัง           เพื่อใช้
ได้สุขแต่ก็ยัง       เป็นบาป กรรมแฮ
ฆ่าความโกรธนั้นไซร้     ประโยชน์แท้ บุญเหลือ

       ความโกรธไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต เราไม่ต้องหวงแหน คนที่มักหวงความโกรธไว้เป็นของตน เห็นเป็นสิ่งธรรมดา เหมือนกินข้าว อาบน้ำ และการขับถ่าย แต่ความโกรธทำให้เกิดปัญหาชีวิต ทำให้เสียสุขภาพกาย สุขภาพจิตเป็นเคราะห์ร้ายของคน เราควรละอายตัวเอง ละอายผู้อื่นทุกครั้งที่เราโกรธจนต้องแสดงกิริยาอาการออกมา เหมือนเราเป็นโรคผิวหนัง ลองฟังเสียงตัวเองเวลาโกรธเป็นเสียงที่ไม่น่ารักเลย
       ใครทำให้เราโกรธบ่อยๆ เราควรหลีกเลี่ยงคนนั้นเสีย เพราะความโกรธบ่อย และถ้ารุนแรงด้วยย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตมาก ยังเป็นการสะสมกิเลสสายโทสะส่วนละเอียดอันจะลงไปก่อตัวสะสมกันอยู่ในจิตส่วนลึก (ปฏิฆานุสัย) นานไปทำให้เป็นคนมีนิสัยขี้โกรธ กระทบอะไรนิดหน่อยไม่ได้ เหมือนเนื้อส่วนที่เป็นแผล กระทบเข้าหน่อยก็เจ็บ และเจ็บมากกว่าเนื้อส่วนที่เป็นปกติ เราไม่ควรสะสมสิ่งอันทำให้จิตใจเราเป็นแผล ถ้าเป็นแล้วควรรีบรักษาให้หายโดยเร็วมิฉะนั้นจะเรื้อรัง รักษายาก อาจไม่หายเลย ก่อให้เกิดทุกข์ทรมานแก่เราไปตลอดชีวิต เราควรยอมให้เป็นเช่นนั้นหรือ?

       ทุกครั้งที่เราโกรธ เราควรละอายตัวเองให้มาก สำหรับผู้มีจิตสำนึกที่ดี อาจรู้สึกว่าค่าของตนลดลง เกือบเป็นคนไร้ค่า
       เรื่องเล็กน้อย แต่พอความโกรธเข้าครอบงำจิตทำให้จิตมองเห็นเป็นเรื่องใหญ่เท่าภูเขา แต่พอหายโกรธแล้วจึงเห็นเท่าเม็ดทรายหรือขี้ผง จะเขี่ยทิ้งไปเมือไรก็ได้ ความรัก ความโลภก็เป็นเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่พรางตาพรางใจ บิดเบือน ให้เห็นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง 
       ความโกรธอาจเกิดจากการที่เราต้องการจะควบคุมอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือใครสักคนหนึ่งให้เป็นไปตามที่เราปรารถนา แต่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา สรรพสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ในกรณีที่เราควบคุมได้ แสดงว่ามีเหตุปัจจัยเพียงพอ ถ้าเราคุมไม่ได้แสดงว่าเหตุปัจจัยไม่เพียงพอ  
       ดังนั้นถ้าเราต้องการควบคุมใคร เมื่อใด นั่นคือปัญหาอันยิ่งใหญ่และทุกข์อันยิ่งใหญ่ของเรา แม้สมมติว่าจะควบคุมได้บ้างเป็นบางคราวก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ฝืดฝืน แห้งแล้ง ไม่สละสลวย กลมกลืนนุ่มนวลชุ่มฉ่ำ เหมือนเป็นไปตามธรรมชาติ
       เขาจะรัก จะชัง จะเกลียด จะชอบ จะเบื่อ ฯลฯ ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เราเป็นเพียงผู้รู้ตามความเป็นจริงเหมือนฝนตก แดดออก เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น เราจะควบคุมมันได้อย่างไร เราอาจหาทางป้องกันตัวเองได้บ้าง 



พระพุทธพจน์มีว่า
“พึงละความโกรธ พึงสละมานะ (ความทะนงตน) พึงล่วงพ้นสังโยชน์ทั้งปวง ความทุกข์ย่อมไม่ตกถึงบุคคลผู้ไม่ติดข้องในนามรูปและไม่มีความกังวล”
       พระพุทธพจน์นี้ทรงสอนพระนางโรหิณี น้องสาวของพระอนุรุทธเถระ พระนางเป็นโรคผิวหนัง ตอนหลังหายเพราะพระนางได้สร้างโรงฉันและปัดกวาดโรงฉันทุกวัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงกรรมเก่าของพระนางว่า ชาติก่อนเป็นมเหสีของพระราชาพระองค์หนึ่ง มีจิตโกรธและริษยาหญิงนักฟ้อนซึ่งพระราชาทรงโปรดปราน จึงเอาผงเต่าร้างหรือหมามุ่ยโรยบนที่นอนของหญิงนักฟ้อนจนนางคันเป็นตุ่มพองไปทั้งตัว ด้วยบาปที่ทำนั้นจึงมาเป็นโรคผิวหนัง และหายได้ด้วยบุญ



       ความทุกข์กับความโกรธนั้นเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน คือ ความไม่พอใจ ซึ่งถ้าระงับไม่ได้ ก็เป็นทุกข์ล่วงหน้ามาก่อนแล้วทำให้เกิดความโกรธ ความโกรธทำให้เกิดความทุกข์ต่อไปเหมือนไฟน้อยทำให้เกิดไฟใหญ่ ไฟใหญ่ทำให้เกิดไฟเล็ก ไฟน้อยต่อไปอีก (มันลามไป) ตรงกับข้อความที่ว่า “ความโกรธเกิดจากความโกรธก็มี” นอกจากนี้ความโกรธเกิดจากความรักก็ได้ คือเพราะรักจึงโกรธ
พระพุทธพจน์ที่ว่า 
“ผู้ใดขมความโกรธที่พุ่งขึ้นได้ เหมือนสารถีห้ามรถที่กำลังแล่นให้หยุดได้ เราเรียกผู้นั้นว่า สารถี คนที่ไม่สามารถห้ามรถได้ หาเรียกว่าสารถีไม่ เขาเป็นแต่เพียงคนถือเชือก เท่านั้น”

ท่านมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง
คือลินคอล์น ประธานาธิบดีอเมริกา
ท่านจึงมีอุดมคติประจำใจว่า 
"ด้วยไม่คิดร้ายต่อผู้ใด 
ด้วยความปรารถนาดีต่อคนทั้งปวง"
แล้วท่านก็ทำดังนั้นจริง ๆ 
ท่านก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ 
ไม่ใช่เพียงความยิ่งใหญ่ในตำแหน่ง 
แต่ว่าก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ในหัวใจคน
ก็ด้วยความไม่คิดร้ายต่อผู้ใด 
ด้วยความปรารถนาดีต่อคนทุกคน


ขอบคุณที่มาเนื้อหาและภาพจาก
- หนังสือ ทำอย่างไรกับความโกรธ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ, 2560.
- https://www.facebook.com/W.Indhasara/posts/692936564229515
- google.com


ความจริงกระจ่างเรื่อง “Max Nano” ของเมฆ มังกร บิน โดย “อาจารย์อ๊อด” (ชมคลิป)

ความจริงกระจ่างเรื่อง “Max Nano” ของเมฆ มังกร บิน โดย “อาจารย์อ๊อด” (ชมคลิป)



หลังจากเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยถึงคุณภาพของน้ำมันเครื่องเจ้าปัญหาที่ถูกพูดถึงในโลกโซเชี่ยล หลังมีลูกค้าบางส่วนซื้อไปใช้แล้วเครื่องยนต์รถพังเสียหาย

ล่าสุดรศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้นำน้ำมันเครื่องยี่ห้อดังกล่าวมาตรวจสอบ พร้อมอีก 2 ยี่ห้อ ก่อนไลฟ์แถลงผลการตรวจสอบผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Weerachai Phutdhawong

โดยระบุว่า น้ำมันเครื่องที่ตรวจสอบทั้ง 3 ยี่ห้อ เป็นน้ำมันพาราฟิน อยู่กลุ่มเดียวกับน้ำมันพืช มีจุดเดือดไม่สูง เป็นสารที่ใช้เคลือบโลหะและลดแรงเสียดทานของโลหะ นำมาใช้ลดแรงเสียดทานลูกสูบ หรือหยดใบเลื่อยเหล็ก

ซึ่งยังพบใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกและกาวด้วย แต่ไม่เคยมีรายงานนำน้ำมันพาราฟินใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าบางส่วนบอกว่าใช้แล้วดี แต่อาจมีบางส่วนบอกใช้แล้วเครื่องพัง

โดยจากการตรวจสอบพบว่า น้ำมันพาราฟินทนความร้อนได้แค่ 200-500 องศาเซลเซียล ถ้ามากกว่านั้นจะระเหย ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลจากอาจารย์ที่มีความรู้ด้านเครื่องยนต์ทราบว่า ห้องเครื่องรถยนต์จะมีความร้อนสูงถึง 500-1,000 องศาฯ

ฉะนั้นน้ำมันตัวนี้หากใช้แรกๆจะลื่น แต่พอใช้จนเครื่องเริ่มร้อนและถึงจุดเดือดของพาราฟิน จะทำให้เกิดเขม่าและเครื่องน็อก เพราะเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอันตรายมากหากขับรถมาเร็วๆ แถมพอใช้ไปเครื่องจะมีกรดเกลือมากด้วย อาจส่งผลให้เครื่องพังด้วย โดยจะมีผลในระยะยาว

หลังจากนี้อยากวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนายกรัฐมนตรีมาตรวจสอบสินค้าประเภทนี้ด้วยว่าปล่อยให้ขายได้อย่างไร

สวนกระเเสโชว์เติมน้ำมันเครื่อง


จากเรื่องนี้ได้คติว่า เราอย่าเพิ่งเชื่อเพราะฟังต่อๆ กันมา มีกระแสอะไรเกิดขึ้น พยายามหาทางเช็คข้อมูลหรือพิสูจน์เรื่องนั้นจนมั่นใจ...ยอมช้าเพื่อเช็คดีกว่าดวนตัดสินใจแล้วมาเสียใจภายหลัง...



preload imagepreload image

เศรษฐีตีนแมว: เริ่มต้นทำทานด้วยความไม่เต็มใจ ใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบของให้ทาน แต่ด้วยอาศัยอุบาสกผู้เป็นบัณฑิตและฉลาด จึงกลับใจได้สติ เกิดศรัทธา เมื่อเศรษฐีฟังธรรมจึงได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นโสดาบันบุคคลในที่สุด


     นับถอยหลังอีกไม่กี่วันจะถึงวันออกพรรษาแล้ว ปีนี้ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ /ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ปีระกา 
     ถือเป็นโอกาสอันดีที่ชาวพุทธจะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ท่านได้ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบสามเดือนในวันออกพรรษา และวันถัดจากวันออกพรรษา ๑ วัน ก็ได้มีการทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ นอกจากนี้ ช่วงเวลาออกพรรษายังถือเป็นเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปีในวัดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นบุญกาลทานที่มีอานิสงส์มาก 
     วันนี้จึงขอนำเรื่องราวยุคพุทธกาล ตัวอย่างของอุบาสกท่านหนึ่งที่เกิดศรัทธาจึงได้สร้างมหาทานทั้งทำด้วยตัวเองและยังมีหัวใจยิ่งใหญ่ เป็นกัลยาณมิตรชักชวนผู้อื่นให้ได้มาร่วมทำบุญในเนื้อนาบุญอันเลิศด้วย

เศรษฐีเท้า(ตีน)...แมว 

     เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ อุบาสกผู้หนึ่ง ไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ในกรุงสาวัตถีได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า 
⇒ "บุคคลบางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาย่อมได้รับโภคสมบัติ แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติในที่ ๆ เขาไปเกิด
⇒ ส่วนบางคนตนเองไม่ให้ทาน แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติในที่ ๆ เขาไปเกิด
⇒ ส่วนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมไม่ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
⇒ ส่วนบางคนตนเองก็ไห้ทาน ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด"
     อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต ได้ฟังดังนั้นก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ 
     เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น 
     พระพุทธเจ้าก็ทรงรับคำอาราธนานั้น อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ชักชวนให้บริจาคข้าวสารและของต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารถวายก็ได้รับสิ่งของต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและฐานะของผู้บริจาค อุบาสกคนนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้ จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง 

     ท่านเศรษฐีเกิดไม่ชอบใจที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น ท่านคิดว่า "อุบาสกคนนี้เมื่อไม่สามารถถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้ ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาทั่วไปอย่างนี้
     เพราะเหตุที่คิดอย่างนี้ แม้ท่านจะร่วมทำบุญกับอุบาสกนั้นด้วย แต่ท่านก็ทำด้วยความไม่เต็มใจได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย คือใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบของนั้น จะหยิบได้สักเท่าไร เวลาให้น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็ให้เพียงไม่กี่หยด เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย คนทั้งหลายก็เลยตั้งชื่อท่านว่า เศรษฐีเท้าแมว เป็นการเปรียบเทียบความมือเบาของท่านกับความเบาของเท้าแมว
     อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้แยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับมาจากผู้อื่นเศรษฐีก็คิดว่า "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่
     เมื่อคิดอย่างนี้ จึงใช้ให้คนใช้ติดตามไปดู คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่ใช้หุงต้มอาหารนั้นหม้อ ละนิด อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า  "ขอให้ทานของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก
     คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า "วันนี้เขายังไม่ประจานเราพรุ่งนี้เวลานำเอาอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน เขาคงจะประจานเรา ถ้าเขาประจานเรา เราจะฆ่าเสีย
     ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้แล้วไปที่วัดเชตวัน ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมือง ช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว อุบาสกผู้นั้นได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า 
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ขอให้ คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว บริจาคแล้ว ทั้งผู้บริจาคของมาก ทั้งผู้บริจาคของน้อย จงได้รับผลมากทุกคนเถิด"

     ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านให้ของเพียงหยิบมือเดียว คิดอีกว่า 
"ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา เราจะแทงให้ตาย
     แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า 
"แม้ผู้ที่บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด"

     ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ คิดเสียใจว่า "เราได้คิดร้ายล่วงเกินต่ออุบาสกนี้อยู่ตลอดเวลา แต่อุบาสกนี้เป็นคนดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก " คิดดังนี้แล้ว จึงเข้าไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นกริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนี้ก็ตรัสถามขึ้น เมื่อทรงทราบแล้วจึงได้ตรัสว่า 

"ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ใคร ๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเช่นนี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย คนที่ฉลาดทำบุญอยู่ ย่อมเต็มด้วยบุญ เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้ ย่อมเต็มด้วยน้ำฉันนั้น" 

     ในตอนท้าย พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่มาถึง แม้หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อยทีละน้อย ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉะนั้น"
     ท่านเศรษฐีได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้ ถ้าเราหมั่นฟังอยู่เสมอและฟังด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมได้ปัญญา ดังเศรษฐีท่านนี้เป็นตัวอย่าง
     จากเรื่องของท่านเศรษฐีผู้นี้ ทำให้ทราบว่า การให้ทานนั้น เป็นเหตุให้ได้รับโภคสมบัติ การชักชวนผู้อื่นให้ทานนั้นเป็นเหตุให้ได้รับบริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนไปเกิด
     เพราะฉะนั้น เมื่อใครเขาทำบุญ หรือใครเขาชักชวนใคร ๆ ทำบุญ ก็อย่าได้ขัดขวางห้ามปรามเขา เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นบาป เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลทั้ง ๓ ฝ่าย คือตนเองเกิดอกุศลจิตก่อน ๑ ทำลายลาภของผู้รับ ๑ ทำลายบุญของผู้ให้ ๑



ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก
- http://www.ariyadham.com/thread-1284-1-1.html
- https://goo.gl/ZWTyY3
- https://goo.gl/bvtdNR


อานิสงส์การปฏิสันถาร: ชายชาวบ้านต้อนรับขับสู้บุคคลด้วยไมตรีจิตเพียงครั้งเดียว ต่อมาส่งผลให้เขากลายเป็นสหายรักของพระราชาและได้ครองราชสมบัติ

     พระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ เป็นรัตนะอันประเสริฐ เลิศกว่ารัตนะใดๆ ในโลก เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคน เป็นตัวตนที่แท้จริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ได้เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัย ย่อมได้ชื่อว่า เข้าถึงความสุขที่สมบูรณ์และมีความปลอดภัยในชีวิต 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อปริหานิยสูตร ว่า

     “บุคคลผู้เคารพในพระบรมศาสดา เคารพในพระธรรม มีความเคารพอย่างแรงกล้าในพระสงฆ์ เคารพในความไม่ประมาท เคารพในปฏิสันถาร ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ย่อมเป็นผู้อยู่ใกล้นิพพาน
      ความเคารพเป็นคุณธรรมที่สำคัญของบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย เมื่อเราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งใด เราจะต้องรู้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้นก่อนฉันใด  บุคคลผู้ปรารถนาจะรับสิ่งที่ดีมีคุณค่าจากบุคคลอื่น จำเป็นต้องมีความเคารพต่อบุคคลนั้นฉันนั้น ความเคารพคือความตระหนักซาบซึ้ง รู้ถึงคุณความดีของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขา แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้น ด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนทั้งต่อหน้าและลับหลัง ความเคารพเป็นทางมาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต สิ่งที่ควรเคารพอย่างสูงสุดคือพระรัตนตรัย ซึ่งจะส่งผลให้เราได้สมบัติอันยิ่งใหญ่ คือนิพพานสมบัติได้โดยง่าย  แม้ความเคารพในการปฏิสันถารก็มีอานิสงส์มาก ดังเรื่องต่อไปนี้
      ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระราชาในนครพาราณสี พระองค์ได้เสด็จไปปราบชายแดนที่กำเริบให้สงบ แต่ทรงพ่ายแพ้ในการรบครั้งนั้น จึงทรงม้าเสด็จหนีไปถึงปัจจันตคามหมู่บ้านหนึ่ง พวกชาวบ้านเห็นเข้าก็กลัว พากันวิ่งหนีเข้าบ้านกันหมด เหลือเพียงชายคนหนึ่งต้อนรับพระองค์ด้วยมิตรไมตรีพลางถามว่า “ข้าพเจ้าได้ยินข่าวว่า พระราชาเสด็จไปปัจจันตชนบท ท่านเป็นใคร เป็นราชบุรุษหรือจารบุรุษ” พระราชาตรัสว่า “สหาย เราเป็นราชบุรุษ” 
     “ถ้าอย่างนั้นท่านจงตามข้าพเจ้ามา” เขาได้พาพระราชาไปบ้านของตน ให้นั่งบนตั่งแล้วพูดกับภรรยาว่า “นางผู้เจริญ เธอจงมาล้างเท้าของสหายเรา” จากนั้นได้เตรียมอาหารตามสมควรแก่กำลังของตน แล้วปูลาดที่นอนให้ พลางพูดว่า “ท่านคงเหน็ดเหนื่อยพักผ่อนก่อนเถิด” ส่วนเจ้าของบ้านได้ไปถอดเกราะของม้าออก ให้มันดื่มนํ้ากินหญ้า แล้วเอาน้ำมันทาหลังให้  เขาปฏิบัติเช่นนี้ต่อพระราชา ๓-๔ วัน พระราชาก็ขอลากลับ ก่อนเสด็จกลับจึงตรัสว่า “สหาย เราชื่อมหาอัสสาโรหะ บ้านของเราอยู่กลางเมือง ถ้าท่านเข้าเมืองเมื่อใด จงแวะมาเยี่ยมเราด้วย โดยไปที่ประตูด้านทิศใต้ถามนายประตูว่า คนชื่อมหาอัสสาโรหะอยู่ไหน ให้เขาพาไปบ้านของเรา” แล้วเสด็จกลับพระราชวัง 
     ฝ่ายทหารที่ออกตามหาพระราชา เมื่อไม่พบพระราชาจึงตั้งค่ายรออยู่นอกเมือง ครั้นเห็นพระราชาเสด็จมา ต่างพากันต้อนรับพระองค์ด้วยความดีใจ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จเข้าเมือง มีรับสั่งให้นายประตูมาเฝ้าแล้วตรัสว่า “ถ้ามีชาวบ้านปัจจันตคามประสงค์จะมาพบเรา และถามหาคนชื่อมหาอัสสาโรหะ เธอพึงมีไมตรีจิตต่อเขา แล้วรับพามาหาเรา” ครั้นตรัสสั่งแล้วพระองค์ก็เสด็จกลับพระราชวัง 
     กาลเวลาผ่านไป พระราชาทรงระลึกถึงคุณของบุรุษชนบท ครั้นจะรับสั่งให้เขามาเข้าเฝ้า ก็เกรงเขาจะรู้ว่าเป็นพระราชา จึงให้เพิ่มการเก็บภาษีในหมู่บ้านที่เขาอยู่ เขาก็ยังไม่มาเข้าเฝ้า พระองค์ทรงให้เพิ่มภาษีขึ้นอีก เป็นครั้งที่สอง และครั้งที่สาม เขาก็ยังคงไม่มาเข้าเฝ้า จนกระทั่งคนในหมู่บ้านพากันเดือดร้อน ชาวบ้านจึงประชุมแล้วพูดกับบุรุษนั้นว่า “นับตั้งแต่นายอัสสาโรหะมา พวกเราต่างได้รับความเดือดร้อน ท่านจงไปบอกนายมหาอัสสาโรหะสหายของท่าน ให้ช่วยปลดเปลื้องภาษีของพวกเราด้วยเถิด” เขารับปากว่า “ดีละ ถ้าอย่างนั้นเราจะช่วย แต่ว่าเราไม่อาจไปมือเปล่าได้” 
     ชาวบ้านจึงจัดเตรียมบรรณาการให้เขาถือไปพร้อมขนมที่ทอดในบ้านของเขาเอง เมื่อเข้าเมืองแล้ว เขาเดินไปทางประตูด้านทิศใต้ ถามนายประตูว่า “บ้านของนายมหาอัสสาโรหะอยู่ไหน” นายประตูจึงพาเขาเข้าวังเพื่อเข้าเฝ้าพระราชาตามรับสั่งของพระองค์
     พระราชาทรงสดับก็ดีพระทัย เสด็จลุกขึ้นจากพระอาสน์ตรัสว่า “ให้สหายของเราเข้ามาเถิด” แล้วมีพระราชปฏิสันถารทักทายสหายผู้เป็นที่รักว่า "ภรรยาของสหายและพวกเด็กๆ ของเราสบายดีหรือ" แล้วทรงจับมือพาเข้าไปในท้องพระโรง ให้นั่งบนอาสน์ของพระราชาภายใต้เศวตรฉัตร รับสั่งให้เรียกพระอัครมเหสีมา แล้วตรัสว่า “พระนางผู้เจริญ เธอจงล้างเท้าของสหายของเรา” พระเทวีก็ทรงล้างเท้าแล้วทาด้วยนํ้ามันหอมอย่างบรรจง
     พระราชาทรงรู้ว่าสหายไม่มามือเปล่าแน่ จึงตรัสถามว่า “สหาย ของกินสำหรับพวกเรามีบ้างไหม”  “มีสิ” เขารีบนำขนมออกมาจากกระเช้า พระราชาจึงตรัสกับเสนาอำมาตย์ทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลายมาร่วมรับประทานขนมที่สหายเรานำมากันเถอะ” แล้วพระราชทานขนมให้พระเทวีและอำมาตย์ทั้งหลาย แม้พระองค์เองก็ร่วมเสวยด้วย ชายหนุ่มได้ถวายเครื่องบรรณาการที่จัดเตรียมมา ซึ่งแม้จะเป็นบรรณาการของคนยาก แต่พระองค์ก็ไม่ทรงดูหมิ่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงของกษัตริย์ เพื่อทรงนุ่งห่มผ้าธรรมดาที่เขานำมาถวาย พร้อมทั้งให้ตีกลองป่าวร้องไปทั่วเมือง เพื่อให้อำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลายมาประชุมกัน แล้วมีราชโองการว่า จะพระราชทานราชสมบัติกึ่งหนึ่งแก่บุรุษผู้เป็นสหายรักของพระองค์
     ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชาทั้งสองทรงร่วมเสวย ร่วมดื่มด้วยกัน  ความคุ้นเคยก่อตัวขึ้นอย่างแน่นแฟ้น ไม่มีผู้ใดทำให้แตกแยกได้ พระราชารับสั่งให้เรียกบุตรและภรรยาของสหายรักมา ทรงให้สร้างนิเวศน์ภายในพระนคร พระราชาทั้งสองต่างสมัครสมานครองราชสมบัติ สร้างความไม่พอใจให้เหล่าอำมาตย์มาก อำมาตย์ทั้งหลายจึงขอให้พระราชกุมารหาโอกาสทูลถาม พระเจ้าพาราณสีตรัสตอบว่า
     “ลูกเอ๋ย ครั้งหนึ่งพ่อได้พ่ายแพ้ในการรบในปัจจันตคาม ครั้งนั้นพ่อหายไป ๓-๔ วัน และได้หลบหนีอยู่ในบ้านของสหายผู้นี้ เขาช่วยเหลือพ่อทุกอย่างจนกระทั่งปลอดภัย เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อจึงแบ่งราชสมบัติแก่เขา เพราะเขาคือผู้มีอุปการคุณต่อพ่อ อย่าว่าแต่ราชสมบัติเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเลย  แม้ชีวิตพ่อก็ให้ได้” 

     พระโพธิสัตว์ตรัสสอนต่อไปว่า “บุคคลใดให้แก่ผู้ไม่ควรให้ ไม่ให้แก่บุคคลผู้ควรให้ บุคคลนั้นเมื่อถึงคราวมีอันตราย ก็จะไม่ได้อุปการะจากใครเลย ส่วนผู้ใดให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรให้ ไม่เพิ่มในคนที่ควรให้ ผู้นั้นถึงจะได้รับทุกข์ในคราวมีอันตราย ก็ไม่ได้สหายช่วยเหลือ แต่ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ให้ทานเพิ่มในคนที่ควรให้ ผู้นั้นถึงจะได้รับทุกข์ในคราวมีอันตราย ย่อมได้มิตรแท้ช่วยเหลือ ความสนิทสนมกันฉันท์มิตรในชนทั้งหลายผู้ไม่มีอารยธรรม เป็นคนมักโอ้อวด ย่อมไร้ผล ส่วนความสนิทสนมกันฉันท์มิตรในอารยชนผู้ซื่อตรงคงที่ แม้เล็กน้อยก็ย่อมมีผลมาก” 
     ผู้ใดได้ทำความดีงามไว้ก่อน ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำกิจที่ทำได้แสนยากในโลก ภายหลังเขาจะทำหรือไม่ทำก็ตาม ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง พืชที่หว่านลงในนาดีย่อมเจริญงอกงามไพบูลย์ เหมือนความดีที่ทำไว้กับผู้มีความกตัญญู มีศีล มีความประพฤติเยี่ยงอารยชน ย่อมได้รับการตอบแทนด้วยความดีเช่นกัน



     ผู้ที่มีความเคารพ คือ ตระหนักถึงคุณธรรมความดีของผู้อื่น ทั้งเคารพในการต้อนรับปฏิสันถารด้วย ย่อมเป็นทางมาแห่งโชคลาภ จะทำให้ได้สมบัติมากมาย อย่างน้อยย่อมได้เพื่อนแท้เพิ่มขึ้น ดังนั้นอย่าดูเบาในเรื่องการปฏิสันถาร เราต้องต้อนรับแขกที่มาเยือนให้ดี โดยเฉพาะเมื่อเราเปิดบ้านกัลยาณมิตรแล้ว เราต้องหมั่นดูแลต้อนรับผู้มีบุญทั้งหลายด้วยดวงหน้าที่สดใส จิตใจที่เบิกบาน ต้อนรับด้วยมิตรไมตรี ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมที่บ้านเราจะได้รู้สึกสบายใจมีความสุข และการต้อนรับที่สำคัญก็คือ ต้อนรับทุกๆ คนเพื่อให้มาเข้าถึงพระรัตนตรัย ให้พระรัตนตรัยได้เข้ามาอยู่ในจิตใจของชาวโลกทุกๆ คน  
     แม้ตัวเราก็ต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่ต้อนรับพระรัตนตรัยในตัวด้วย เชื้อเชิญให้ท่านอยู่ที่ศูนย์กลางกายของเรานานๆ จนกระทั่งท่านอยู่กับเราตลอดเวลา อย่างนี้จึงจะเป็นการปฏิสันถารที่วิเศษ ที่เลิศกว่าการปฏิสันถารใดๆในโลก และให้หมั่นรักษาอารมณ์ รักษาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ และในที่สุดเราจะได้สมบัติอันยิ่งใหญ่ คือนิพพานสมบัติกันทุกๆ คน



ขอบคุณที่มาเนื้อหาและภาพจาก
- https://goo.gl/D3wVXE buddha.dmc.tv มก. เล่ม ๕๘ หน้า ๓๘๓.

อคติ ๔ นับได้ว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับทุกคน

     บางเหตุการณ์เราคิดว่าทำไปด้วยปรารถนาดี จริงใจ แต่ลึกๆ มีอคติเพราะความหลง ความโง่ จึงทำให้สร้างความเสียหาย เดือดร้อน แตกแยกต่อคนอื่นและหมู่คณะองค์กรและสังคมในวงกว้าง...วันนี้เรามาทำความกระจ่างกับลักษณะของอคติเพราะโง่ เพื่อจะได้นำมาสะท้อนพิจารณาตัวเองว่าเข้าข่ายนั้นหรือไม่ อย่างไร



     "...อคตินี้ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ทำให้คนเราทำความผิดหรือผิดพลาดได้ง่าย เพราะว่าอคตินี้ เป็นการไปไม่ถูก ตามศัพท์ก็เป็นที่ไปที่ไม่ถูก หมายความว่า เวลาเราเจออะไร ฟังอะไร ไปตามเหตุการณ์นั้นทันที โดยไม่พิจารณา ถ้าหากว่าพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่ามันเป็นทางที่ควรไป หรือไม่ควรไป
     คำว่า "ไป" นี้ ก็ไม่ใช่ว่าเดินไป แต่หมายถึง เดินขบวนการความคิดไปในทางที่ไม่ถูก 
     ปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดอคติ มี ๔ อย่าง คือ ๑. ความรักใคร่ชอบพอ (ฉันทาคติ) ๒. ความโกรธ เกลียดชัง (โทสาคติ) ๓. ความหลง เขลา เบาปัญญา (โมหาคติ) ๔. ความเกรงกลัว ขลาด (ภยาคติ) อคติจึงเป็นสาเหตุหลักของความผิดพลาดในกระบวนการคิด และตัดสินใจของมนุษย์ทุกคน
คนที่มีจิตใจเป็นอคติ ก็เพราะมีจิตที่เป็นบาปอกุศลครอบงำ จึงทำให้เกิดการมองคนอื่นในแง่ร้ายด้วยอิจฉาและความเห็นผิด และยังได้เผยแพร่ความเชื่อนี้ออกไปให้คนอื่นๆ เชื่อ จนคนอื่นๆ หลงเชื่อตามจึงเกิดความกลัว ความเดือดร้อนใจจึงตามมาให้ผล ตัวเองเดือดร้อนยังไม่พอ ยังไปทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนไปด้วย ทำให้คนที่หลงเชื่อมีจิตเป็นพาล ขาดการพิจารณาทำตาม ๆกันไป ดังภาษิตบทหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

พาลชน คนผู้ไร้การพิจารณา ย่อมไม่อาจหยั่งเห็นโดยถ่องแท้ 
ย่อมระเริงหลงในสิ่งอันอาจให้โทษ” 

อคติ ๔ นับได้ว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ปกครองคนอื่น คนที่เป็นหัวหน้างาน หัวหน้าครอบครัว ไม่ควรมีอคติทั้ง ๔ ประการนี้อยู่ในจิตใจ มิฉะนั้นผู้ใต้ปกครองจะขาดความเชื่อมั่น ไม่มีความสุข ไม่มีความรู้สึกมั่นคงและอบอุ่น รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความแตกแยกและความไม่สำเร็จ ไม่เจริญก้าวหน้าของการงานทั้งปวง

     โดยเฉพาะอคติเพราะความหลง ความโง่ นับว่าอันตรายที่สุด  
ความลำเอียงเพราะความหลงผิดหรือความโง่ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ …เพราะความสะเพร่า  ความไม่ละเอียดถี่ถ้วน มองโลกมองคนในแง่ร้าย …ก็ตัดสินใจโดยไม่พิจารณาให้ดี ปิดใจ ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งความหลง ความโง่ ก็รวมอยู่ใน “อวิชชา” ซึ่งตรงข้ามกับวิชชา (คือ การรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง รู้ว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ เหตุและหนทางแห่งความดับทุกข์ เป็นต้นอย่างเช่น วิชชา ๓ วิชชา ๘ ในพระพุทธศาสนา) ดังนั้น ความไม่รู้กับความรู้ ช่างตรงข้ามกันทุกเรื่อง จึงนึกถึงนิทานชาดกสอนใจ 



เรื่องลิงโง่เฝ้าสวน เรื่องมีอยู่ว่า
     ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภคนประทุษร้ายอุทยาน ในหมู่บ้านโกศลตำบลหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสีมีงานเทศกาลประจำปี ชาวเมืองต่างก็สนุกสนานรื่นเริง ในพระราชอุทยานมีลิงอาศัยอยู่ฝูงหนึ่ง คนเฝ้าสวนหลวงอยากจะไปเที่ยวงานประจำปีกับเขาด้วย จึงเข้าไปหาฝูงลิงแล้วพูดกับลิงหัวหน้าฝูงว่า 
      " เจ้าลิง สวนหลวงนี้ มีอุปการะคุณแก่พวกเจ้ามาก พวกเจ้าได้ขบเคี้ยวดอก ผลและใบอ่อนของต้นไม้ในสวนหลวงนี้ บัดนี้ ในเมืองมีงานเทศกาลประจำปี เราอยากจะไปเที่ยวบ้าง เราอยากจะวานให้พวกเจ้าช่วยรดน้ำต้นไม้ ที่กำลังปลูกใหม่ในสวนนี้ แทนเราจะได้ไหม ? "

ลิงรับว่าได้ คนเฝ้าสวนหลวงก่อนจะเข้าไปเที่ยวในเมือง กำชับว่า 
      " พวกท่านอย่าประมาทนะ " แล้วมอบอุปกรณ์ตักน้ำให้แก่พวกลิง
ลิงตัวหัวหน้าฝูง ได้กล่าวกะพวกลิงผู้ถือเอาอุปกรณ์ตักน้ำเตรียมพร้อมที่จะรดน้ำต้นไม้ว่า

     " ท่านทั้งหลาย ธรรมดาน้ำเป็นของหายาก พวกท่านเมื่อจะรดน้ำต้นไม้ พึงรดตามความต้องการของต้นไม้ ด้วยการถอนต้นไม้ขึ้นมาดู ต้นไหนรากยาวก็จงรดน้ำให้มากๆ ต้นไหนรากสั้นก็จงรดน้ำให้แต่น้อย "
พวกลิงรับคำแล้วก็ทำตามนั้น สร้างความเสียหายแก้ต้นไม้เป็นจำนวนมาก
     ในขณะนั้น ได้มีชายบัณฑิตคนหนึ่งเดินผ่านมาเห็นเข้า จึงถามความนั้นแก่ฝูงลิง พวกลิงจึงบอกว่าหัวหน้าให้ทำเช่นนั้น เขาจึงคิดว่า 
      "โอ! เจ้าลิงโง่ ช่างไม่ฉลาดเสียเลย คิดจะทำประโยชน์ แต่กลับทำความฉิบหายเสียนี่ "
แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
     "ผู้ไม่ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถึงจะบำเพ็ญประโยชน์ ก็ไม่สามารถจะนำความสุขมาได้เลย คนมีปัญญาทรามทำประโยชน์ให้เสียหายเหมือนลิงเฝ้าสวน " 
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนโง่มักทำความฉิบหายให้ มากกว่าประโยชน์

     ตราบใดที่สงครามระหว่างความดีกับกิเลส (พระ/มาร)ยังไม่จบ / ยังไม่ยุติ เมื่อนั้นความยุติธรรมก็คงไม่บังเกิดขึ้นในโลกใบนี้ อย่างแน่นอน แต่ความจริงของโลกและชีวิต ก็มีอยู่ เป็นอยู่ คือ 
ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
ใครทำเช่นไร ตนย่อมได้รับผลเช่นนั้น

     การวิพากษ์ วิจารณ์ บุคคลอื่นซึ่งเราเองก็ไม่ได้ไปรู้เรื่องราวต่างๆ นั้นด้วยตนเอง ถามตัวเองก่อน เรารู้เรื่องนั้นจริงหรือ???...ส่วนมากล้วนฟังต่อๆ กันมา ทำให้ข้อมูลนั้นผิดเพี้ยนไป
     ถ้าเราได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความจริงแล้วนำไปวิพากย์ วิจารณ์ต่อ ส่งต่อ หรือขยายเรื่องนั้นต่อด้วยวิธีการใดก็ตาม อาจจะเป็นเพียงการกดส่งต่อเพียงครั้งเดียว แต่เรื่องราวนั้นได้แพร่ไปทั่วโลกโซเชียลแล้ว 
     ผลเสียหรือสิ่งไม่ดีนั้น ย่อมมีผลต่อ (ผู้เห็นผิด) นั้น อย่างไม่ต้องสงสัย...เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) นั่นเอง ที่ปิดบังความจริงที่ถูกต้อง (คิด/พูด/ทำ)
     ดังนั้น ก่อนจะไปวิพากษ์วิจารณ์ใคร หรือส่งต่อข้อความที่สุ่มเสี่ยงสร้างความเสียหายให้คนอื่นให้มีหลักในการตัดสิน / ตัดใจ จะได้ไม่พลาดพลั้งกระทำความผิดไป
ผิดแล้วจะแก้ไขไม่ทัน
หากความผิดนั้นไปล่วงเกินผู้บริสุทธิ์ ผู้มีศีล
เราก็ย่อมได้รับผลกรรมมาก
การทำให้คนอื่นเดือดร้อนเป็นบาปอกุศล 
มีผลเป็นทุกข์ทั้งชาตินี้และชาติหน้า
     ทางที่ดี และทางที่แนะนำก็คือ ปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนามีสติรู้ตัวปล่อยวางอารมณ์ยินดี ยินร้ายเรื่องราวต่างๆ ที่มากระทบ โปรดมีสติระลึกไว้ว่า “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...”  เมื่อสามารถทำตนให้เป็นผู้มีสติแล้ว ก็เท่ากับว่าเรากำลังเริ่มต้นการเดินขบวนการความคิดไปในทางที่ถูก หรือพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังนี้

หลักตัดสินในการการคิด / การพูด / การทำ
     ว่าเรื่องนั้นเป็น บุญ / บาปถูก / ผิด, ดี /ชั่วใส / หมอง, ปลื้ม / ไม่ปลื้ม, ควร / ไม่ควรบัณฑิตสรรเสริญ / บัณฑิตติเตียน, พื่อความปรารถนาดี/ เพื่อความประสงค์ร้ายนรก / สวรรค์  เป็นต้น
      เมื่อมีหลัก ตัดสิน ได้ดี ได้ครบ ได้สมบูรณ์ ก็สามารถ "ตัดใจ" ที่จะคิด / พูด / ทำในสิ่งนั้นๆ ได้ 
ให้ใช้จิตวิญญาณของ "ความเป็นพุทธะ" ภายในกลางตัวเรา 
ชี้นำทางสว่างในการคิด พูดและทำเถิด ประเสริฐนัก 

     ขอจบด้วยคติธรรมคำกลอนของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้กล่าวไว้ว่า
ใครจะดี...ใครจะชั่ว...ก็ตัวเขา...ใจของเรา...เพียรระวัง...ตั้งถนอม...อย่าให้บาป...อกุศล...วนมาตอม...ควรถึงพร้อม...บุญกุศล...ผลสบาย.


ขอบคุณข้อมูลเนื้อหาและภาพ
- https://www.facebook.com/Luangphoudom/posts/518162108231030
- https://www.facebook.com/RakangdhamDhammakaya/posts/190629124471601
- http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt117.php
- http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9570000113423
- https://goo.gl/K88i52



สุนัขจิ้งจอกผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการ ตัดสินข้อพิพาทให้นากสองตัวที่แย่งปลาตะเพียนกัน...ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้หรือไม่?

"ตาอินกะตานา หาปลาเอามากินกัน
ได้ปลาทุกวัน รักกันก็ปันกันไป
หาปลามานมนาน หาปลามาบานตะไท
จนแม้ ใคร ใคร รู้น้ำใจไมตรีปรีดา
แต่แล้ววันหนึ่ง เคราะห์มาถึงขมึงทึงมา
สองคนถึงครา แย่งหัวปลาหางปลากันเกรียว
ตาอินกะตานา โศกาอาวรณ์จริงเจียว
ตาอยู่มา เดี๋ยว เดียว
คว้าพุงเพรียวเพรียวไปกิน..."


@hhttps://goo.gl/rgkGz6


หลายท่านเคยได้ฟังและร้องเพลงตาอินตานากันมาตั้งแต่สมัยเรียนประถมกระทั่งปัจจุบันนี้คิดว่าเราคงยังจดจำบทเพลงนี้ได้เนาะ

     พอดีได้อ่านธรรมบท เห็นว่าเนื้อหาของเพลงตาอินตานา คล้ายกับเค้าโครงเรื่องหนึ่งในธรรมบท ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีตกาล จึงนำมาบอกเล่าเป็นปกิณกธรรมกันค่ะ 

     เรื่องพระอุปนันทะศากยบุตร เป็นผู้ฉลาดในธรรมกถาการสั่งสอนผู้อื่น โดยท่านจะสอนผู้อื่นไม่ให้มีความละโมบ ให้มีความมักน้อย และท่านจะพรรณนาอานิสงส์ของความมักน้อย(อัปปิจฉตา) และความขัดเกลากิเลสในรูปแบบของธุดงควัตร(ธุตังคะ) อยู่เป็นนิตย์ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ท่านมิได้ปฏิบัติตามที่ท่านสอน หากแต่ได้ไปนำเอาจีวรและปัจจัยอื่นๆ ที่คนถวายแก่พระรูปอื่นมาเป็นของตัวเอง


     คราวหนึ่ง พระอุปนันทะได้พบ พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปกำลังทะเลาะวิวาทกันเพราะได้จีวรมา ๒ ผืนและผ้ากัมพล ๑ ผืนแล้วแบ่งกันไม่ลงตัว เมื่อพระทั้งสองรูปเห็นพระอุปนันทะมาก็ได้ขอร้องให้ท่านช่วยเป็นตุลาการตัดสินข้อพิพาทแย่งชิงผ้ากันในครั้งนี้ ท่านก็ได้ตัดสินให้พระแต่ละรูปได้จีวรไปรูปละผืน ส่วนท่านเองได้ผ้ากัมพลราคาแพงในฐานะทำหน้าที่เป็นตุลาการ

     พระภิกษุทั้งสองรูปไม่พอใจกับการตัดสินนั้น แต่ก็ไม่ทราบว่าจะโต้แย้งอย่างไร จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระศาสดา และพระศาสดาตรัสว่า พระอุปนันทะมิใช่จะสร้างความเดือนร้อนให้แก่พระทั้งสองรูปแต่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แต่ยังเคยสร้างเรื่องเดือดร้อนแบบนี้ในอดีตเหมือนกัน จากนั้นได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าว่า นากสองตัว ไปได้ปลาตะเพียนมาตัวหนึ่ง เกิดทะเลาะกันเพราะไม่สามารถแบ่งปลาตะเพียนตัวนั้นอย่างไรดี เมื่อสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านมา จึงได้ขอร้องให้สุนัขจิ้งจอกตัวนั้น ช่วยทำหน้าที่เป็นตุลาการระงับข้อพิพาท ข้างสุนัขจิ้งจอกก็ได้ตัดสินให้นากตัวหนึ่งได้ส่วนหางของปลาตะเพียน ให้นากอีกตัวหนึ่งได้ส่วนหัวของปลาตะเพียน สำหรับส่วนกลางของปลาตะเพียนให้ตกเป็นของ
สุนัขจิ้งจอกผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการ 


     นากสองตัวในอดีตก็คือพระภิกษุสองรูปในปัจจุบัน ส่วนสุนัขจิ้งจอกในอดีตก็คือพระอุปนันทะ หลังจากที่ได้ทรงเล่าอดีตนิทานจบลงแล้ว เมื่อจะทรงติเตียนพระอุปนันทะ จึงตรัสว่า 
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาผู้จะสั่งสอนผู้อื่น 
พึงให้ตนตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อนทีเดียว”

ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก

- http://dhammapadasstories.blogspot.com/2014/12/02_26.html
https://goo.gl/QdHAHM
- https://goo.gl/9Eh84i


บุคคลผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ โดนโจรใจบาปทำร้ายด้วยการเผานา 7 ครั้ง ตัดเท้าวัว 7 หน เผาบ้านถึง 7 ครั้งแต่ไม่โกรธตอบ และได้ให้อภัยอย่างไร้เงื่อนไข

   เส้นทางชีวิตเมื่อเราเจออุปสรรคจากคน สัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากคนในลักษณะมีอคติต่อเรา แล้วคิดผูกโกรธ อาฆาตมาดร้ายจนถึงขั้นมากลั่นแกล้ง ใส่ร้าย คิดทำลายเราให้สมใจ หรือล่มจ่ม ขอจงเชื่อมั่นในความดี ตั้งสติ ตั้งหลักใจให้ดี หาทางออกอย่างมีสติและปัญญา ต่อการรุกรานทำร้ายของคนพาลใจบาป ดั่งพุทธวจนะในธรรมบทที่ว่า
พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี
พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์

   เชื่อมั่นสุดท้าย เราจะเป็นผู้ชนะ เพราะผู้ทำกรรมดีย่อมชนะผู้ทำกรรมชั่วในที่สุด จากเรื่องราวต่อไปนี้เราจะได้เห็นตัวอย่างบุคคลที่มีหัวใจยิ่งใหญ่ ให้อภัยแม้กับโจรใจบาปที่ประทุษร้ายท่านถึงเพียงนี้ ไปติดตามกันค่ะ
   ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า สุมงคล เป็นผู้มีความเคารพเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งนัก เศรษฐีได้สร้างพระคันธกุฎี(กุฏิ)ถวายพระพุทธองค์ และคอยไปเฝ้าอุปัฏฐากดูแลอยู่ทุกเช้า 

   เช้าวันหนึ่ง เศรษฐีออกเดินทางไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเคย เมื่อมาถึงประตูเมือง เศรษฐีได้เห็นชายผู้หนึ่งนอนคลุมโปงอยู่นอกประตูเมือง เท้าเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนเศรษฐีรู้สึกสงสารจึงกล่าวกับคนรับใช้ที่ติดตามมาว่า

"ชายผู้นี้ คงเที่ยวดึก กลับเข้าเมืองไม่ทัน จึงต้องมานอนลำบากอย่างนี้"

   แต่ชายผู้นั้นเป็นโจรใจพาล เมื่อได้ยินถ้อยคำของเศรษฐี ก็รู้สึกโกรธ หาว่าเศรษฐีมายุ่งเรื่องของตน จึงคิดหาทางแก้แค้น แต่เมื่อไม่สามารถทำร้ายเศรษฐีโดยตรงได้ โจรจึงลอบทำลายทรัพย์สิน ด้วยการเผานาของเศรษฐีถึง 7 ครั้ง ตัดเท้าวัวอีก 7 หน




   แต่เศรษฐีก็ไม่โกรธ ทั้งไม่ติดใจตามหาตัวคนร้ายอีกด้วย โจรร้ายยิ่งแค้นใจ หาโอกาสเผาบ้านของเศรษฐีอีกถึง 7 ครั้ง แต่เศรษฐีก็ยังไม่โกรธอยู่ดี (โอ้!จิตใจทำด้วยอะไรเนี่ย) ผิดกับโจรผู้เต็มไปด้วยโทสะ เฝ้าคิดร้ายต่อผู้อื่น เมื่อเศรษฐีไม่โกรธไม่สนใจ ตนเองกลับยิ่งทุรณทุรายด้วยความแค้น
   เมื่อสืบทราบว่า เศรษฐีมีความเคารพรักในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงกับสร้างกุฏิถวาย โจรใจพาลจึงคิดทีเด็ด วางแผนการทำลายกุฏินั้น เพื่อให้เศรษฐีเจ็บช้ำน้ำใจ ครั้นเมื่อถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าออกไปบิณฑบาต โจรร้ายก็ลอบไปจุดไฟเผากุฏิจนวอดวาย จากนั้นจึงมายืนรวมกับฝูงชนเพื่อรอดูอาการเจ็บช้ำใจของเศรษฐี ฝ่ายเศรษฐี เมื่อทราบข่าวร้ายเรื่องไฟไหม้กุฏิ ก็รีบรุดมายังที่เกิดเหตุทันที แต่กุฏิมอดไหม้จนเหลือแต่ซากเสียแล้ว
   ท่ามกลางความสลดหดหู่ของชาวเมืองนั่นเอง เศรษฐีกลับตบมือด้วยความดีอกดีใจ ทำเอาผู้ไม่รู้เข้าใจว่า เศรษฐีเสียใจจนเสียสติไปแล้ว แต่เศรษฐีประกาศกับชาวเมืองทั้งหลายว่า

"โชคดีจริงๆ เราจะได้บุญใหญ่อีกแล้ว คราวนี้เราจะสร้างพระคันธกุฎีใหม่ให้ดียิ่งกว่าเดิมอีก" 



   โจรได้ยินเช่นนั้น เมื่อทีเด็ด ถูกเศรษฐีเด็ดทิ้งอย่างง่ายดาย ก็แค้นใจอย่างหนัก เฝ้าคิดหาทางที่จะกำจัดเศรษฐีให้ได้ เมื่อเศรษฐีสร้างกุฏิหลังใหม่เสร็จ ก็จัดงานฉลอง โจรได้ช่องทางจึงเหน็บมีดปลายแหลมไว้ หวังจะลอบสังหารเศรษฐี แล้วแทรกตัวปะปนมากับฝูงชน
   ฝ่ายเศรษฐี ปลื้มปีติใจในผลแห่งทานนี้มาก ประกาศกับฝูงชนว่า
"ท่านทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าได้บุญใหญ่ในวันนี้ ก็เพราะมีคนได้เผาพระคันธกุฎีหลังเก่าไป ถ้าหากไม่มีเขา ข้าพเจ้าก็คงไม่ได้บุญใหญ่เช่นนี้อีก ข้าพเจ้าจึงขอแบ่งส่วนบุญนี้ให้เขาเป็นคนแรก"

   โจรร้ายได้เห็นน้ำใจของเศรษฐี ก็ละอาย เสียใจในความผิดของตน จึงเข้ามาคุกเข่ากราบขอขมาท่านเศรษฐี เศรษฐีก็ให้อภัย การฉลองก็ดำเนินต่อไป ต่อมาโจรขอฝากตัวเป็นลูกน้องเศรษฐี แต่เศรษฐีปฏิเสธ บอกว่า แค่พูดนิดเดียวโจรโกรธขนาดนี้แล้ว ต่อไปถ้าเป็นลูกน้อง ตนจะไปตำหนิอะไรโจรได้ เจ้าจงไปตามทางของเจ้าเถิด

   ผลแห่งกรรมชั่วนั้น ทำให้โจรได้รับความทุกข์ในอเวจีนรกอยู่เป็นเวลานาน ในกาลบัดนี้ ได้มาเกิดเป็นอชครเปรต (เปรตงูเหลือม) ร่างกายใหญ่ยาวประมาณ 25 โยชน์ มีเปลวไฟลุกไหม้ทั้งสามด้าน คือตั้งแต่ศีรษะลามจนถึงหาง ตั้งแต่หางลามไปถึงศีรษะ และตั้งแต่ข้างลำตัวลามไปที่กลางตัว


ขอบคุณข้อมูลเนื้อหาและภาพจาก
- http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=46988

- https://goo.gl/JnTdVP
https://goo.gl/nLrqQF