เรียนรู้เรื่องศาสนาจากปัญหาข้องใจ(ตอนที่ 7): ถ้ามัวแต่เข้าวัดจะทันคนได้อย่างไร?

02:45 Mali_Smile1978 0 Comments

เรียนรู้เรื่องศาสนาจากปัญหาข้องใจ(ตอนที่ 7): 
7.1 ถ้ามัวแต่เข้าวัดจะทันคนได้อย่างไร? 
7.2 ที่พระสอนว่าอย่าคบคนพาลนั้น มิเป็นการทอดทิ้งคนพาลไปหรือ? 

7.1 ถาม: เดี๋ยวนี้ทุกคนต้องทำงานเข่งกับเวลา หากมัวชักช้าจะไม่ทันกินและต้องมีอุบายร้อยแปด หากมัวเข้าวัดฟังธรรมหรือมัวคิดจะไม่ให้ผิดธรรมอยู่แล้วจะหาทันกินคนได้อย่างไร จะมิเป็นว่างอมืองอเท้าไปหรือ?

ตอบ: เรื่องนี้ยังมีผู้เข้าใจผิดกันอยู่เสมอว่า ศาสนาสอนให้คนงอมืองอเท้า ศาสนาสอนให้คนอืดอาด ไม่กล้าทำงานให้คล่องตัว และคนที่เข้าวัดฟังธรรมมักจะกินไม่ทันคน เพราะกลัวผิดเสียไปหมด หรือเพราะเสียเวลาไปกับการไปวัด ส่วนมากคิดกันอย่างนี้

     ความจริงจะโทษศาสนาไม่ถูกเลย ศาสนาทุกศาสนานั้นมีหลักคำสอนในเรื่องการทำมาหากินครบถ้วนบริบูรณ์ เป็นแต่ว่าผู้เข้าวัดฟังธรรมนั้นๆ ไม่ได้นำคำสอนที่เรียนหรือที่ฟังมาไปใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น ผลที่ตามมาจึงหากินไม่ค่อยพอกินหรือไม่ทันคน ส่วนบางคนซึ่งก็มีโดยมากเขาไม่รู้จักศาสนา ไม่รู้จักธรรมะเสียด้วยซ้ำ แต่เขารู้จักทำมาหากิน ดำเนินชีวิตไปตามครรลองแห่งธรรมะของศาสนาโดยไม่รู้ตัว ผลที่ได้รับก็มีตามมา ทั้งเป็นผลดีเสียด้วย เหมือนเด็กน้อยนำเมล็ดมะม่วงไปโยนทิ้งไว้หลังบ้านโดยไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แต่เมล็ดมะม่วงนั้นเมื่อได้น้ำได้ปุ๋ยลงตัวแล้วก็งอกออกมา เจริญเติบโตและให้ผลแก่เจ้าของ คือเด็กนั้นและคนอื่นๆ ได้ 

ผู้ที่ไม่รู้ธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เคยฟังธรรมะ แต่ปฏิบัติตัวและดำเนินชีวิตไปตรงกับหลักธรรมะทางศาสนาพอดีก็ย่อมได้รับผลดีอันเหมาะสมแก่การปฏิบัติ

ที่มา: https://goo.gl/5q6xLc
     ในเรื่องการทำมาหากินนั้น ในทางศาสนาสอนให้ทุกคนขยันทำมาหากิน รู้จักเก็บงำ รู้จักหาคู่ครองที่ดี มีความเสียดายทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักใช้จ่ายทรัพย์แต่พอควร ไม่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย สอนให้รีบด่วนในเวลาที่ควรด่วน โดยให้มีสติสัมปชัญญะกำกับเป็นบังเหียนใจไม่ให้ด่วนในทางผิดหรือเสียหายนอกลู่นอกทาง สอนให้รู้จักช้าในเวลาที่ควรช้า ดูทีท่าเหตุการณ์ด้วยสติปัญญาเสียก่อนค่อยลงมือทำ เป็นต้น

     คนที่หากินไม่ทันคนนั้น ลองสืบหาสาเหตุดูว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่? เพราะเข้าวัดหรืออย่างไร หรือเพราะเขาไม่นำพาต่อคำสอนทางศาสนาที่ได้ยินได้ฟังมาจนชินหู

     เป็นของแน่เหลือเกิน คนที่รู้ธรรมะแค่ไม่ปฏิบัติธรรมะ ย่อมไม่ได้รับผลของธรรมะ จึงสู้คนที่ไม่รู้ธรรมะแต่ปฏิบัติธรรมะไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบไว้ว่า เหมือนลูกจ้างที่รับจ้างเขาเลี้ยงวัวนม ได้เลี้ยงและใกล้ชิดวัวได้แต่ค่าจ้างเป็นค่าตอบแทนเท่านั้น หาได้รับผล คือน้ำนมและเนื้อของวัวเหล่านั้นไม่ ส่วนเจ้าของวัวแม้ไม่ได้ใกล้ชิดกับวัวเลย แต่ได้นมและเนื้อมันมาขายเลี้ยงชีวิตสบายไป

ที่มา: https://goo.gl/kwaHih

7.2 ถาม: ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า อย่าคบคนพาลนั้น มิเท่ากับว่าทอดทิ้งคนพาลหรือ เพราะคนพาลทั้งหลายเมื่อไม่มีใครคบเขาจะหายพาลได้อย่างไร บ้านเมืองคงจะเต็มไปด้วยพาล เพราะเขาถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากคนดีเสียแล้ว
ตอบ: ข้อนี้เป็นปัญหาเส้นผมบังภูเขา คือคล้ายกับว่าที่ทรงสอนไม่ให้คบคนพาลนั้นเท่ากับให้ทอดทิ้งคนพาล อย่าไปตอแยด้วย แต่ความจริงแล้วคำสอนข้อนี้ที่ต้องทำความเข้าใจหลายตอน

     ตอนแรก ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “คบ” ก่อน คำๆ นี้ในภาษาไทยเราออกจะแคบไปหน่อย คือหมายถึงเข้าพวกกันหรือหมายถึงเพียงการไปไหนมาไหนด้วยกันเท่านั้น

     ส่วนคำเดิมที่เราแปลออกมาว่า “คบ” นั้น ได้แก่คำว่า “เสวนา” ท่านแจกลูกอธิบายไว้ว่าหมายถึง ๓ ลักษณะ คือ

- ภชน การคบหาสมาคมกัน รู้จักกัน

- สหายตา การไปไหนมาไหนด้วยกัน เป็นเพื่อนกัน อยู่ด้วยดัน

- สมฺปวงฺกตา การเข้าเป็นพวกเดียวกัน เอาไงเอากัน ไปไหนไปกัน

     เสวนา ของพระมิใช่เพียงแค่คบตามภาษาที่เราเข้าใจกันเท่านั้น ยังหมายถึง การอยูร่วมกันแบบสามีภรรยา แบบบิดามารดากับบุตร แบบนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้นด้วย

     คราวนี้วกเข้ามาถึงปัญหาที่พระพุทธองค์ทรงห้ามคบคนพาลก็เพราะถ้าคบคนพาลจะเป็นอัปมงคล คือมีแต่ทางเสีย ไม่มีทางได้ มิใช่หมายถึงให้ทอดทิ้งคนพาลเสียเลย แต่ให้ “เข้าใกล้” คนพาลได้ ขออย่าไปคบเท่านั้น
ที่มา: https://goo.gl/kwaHih
เข้าใกล้” กับ “คบ” ไม่เหมือนกัน

     เข้าใกล้ หมายเพียงเข้าไปมาหาสู่ เดินไปหา ไปนั่งใกล้เท่านั้น เช่น ทำงานด้วยกัน เรียนด้วยกัน แค่นี้ไม่เสียหาอะไรมากหรอก

     ส่วน คบ หมายถึง การไปมาหาสู่ประจำจนเป็นพวกเดียวกันดังความหมายข้างต้น จนกระทั่งถ่ายทอดนิสัยและพฤติกรรมของคนพาลที่ตนคบมาเลย อย่างนี้เสียแน่

     ดังนั้น เมื่อเรารู้ว่าใครเป็นพาล หากมีจิตเมตตาสงสารต้องการให้เขาหายพาล ก็อย่าทอดทิ้งเขาเลย จงเข้าไปใกล้เขาไว้ พยายามพูดคุยโน้มน้าวจิตใจของเขา พยายามถ่ายทอดความดีของเราไปให้เขา แต่อย่าถ่ายทอดของเขามาสู่เราท่านั้น แค่นี้ไม่ชื่อว่าคบคนพาลดังกล่าวมา และก็หาโทษมิได้ด้วย

     การเข้าใกล้คนพาลนั้น ไม่ต้องระวังคนพาลหรอก ระวังตัวเองจะไปถ่ายทอดอะไรๆ จากคนพาลมาเท่านั้น ขอให้คิดถึงหมอหรือพยาบาลที่รักษาคนไข้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงก็แล้วกัน พวกเขารักษาคนไข้ใกล้ชิด แต่จะไม่ยอมให้โรคของคนไข้มาติดตัวได้ คือพยายามป้องกันตัวเองอยู่เสมอในขณะที่รักษาคนไข้นั้นอยู่

ที่มา: https://goo.gl/kwaHih
     การที่เราเข้าไปหาคนพาลเพื่อแนะนำ เพื่ออบรมสั่งสอน หรือเพื่อให้เลิกเป็นพาลนั้น มิใช่ว่าเราจะพลอยเป็นคนพาลไปด้วย เหมือนกับพระพุทธเจ้าไปสอนโจรองคุลีมาลจะทรงเป็นโจรไปด้วยก็หาไม่

     ฉะนั้น สาธุชนคนดีทั้งหลายจงหวังความอนุเคราะห์เป็นที่ตั้ง มีเมตตาจิตเป็นกำลังช่วยคนพาลเถิด เข้าใกล้คนพาลกันเถิด แต่อย่าคบคนพาลเลย ให้คนพาลเอาอย่างเถิด อย่าเอาอย่างคนพาลเลย แล้วโลกนี้จะสันติสุขแค่ไหน ไม่ต้องบรรยายกระมัง



ขอบคุณข้อมูล
หนังสือไขข้อข้องใจ ๒, (จากวารสารมงคลสาร: มีนาคม, ๒๕๑๙). พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.หน้า ๖ - ๗. 

-___________________, (จากวารสารมงคลสาร: มิถุนายน, ๒๕๑๙ ). พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช),๒๕๕๒.หน้า๔๕-๔๗.

0 ความคิดเห็น: